หน้าแรก Voice TV 'เพื่อไทย' ชงตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทาง กม.นิรโทษ เหตุมีประเด็นละเอียดอ่อน

'เพื่อไทย' ชงตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทาง กม.นิรโทษ เหตุมีประเด็นละเอียดอ่อน

109
0
'เพื่อไทย'-ชงตั้ง-กมธวิสามัญศึกษาแนวทาง-กม.นิรโทษ-เหตุมีประเด็นละเอียดอ่อน

‘เลขาฯ เพื่อไทย’ ชงตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางเสนอร่าง กม. นิรโทษกรรม เหตุมีประเด็นละเอียดอ่อน คุยในห้องเล็กจะดีที่สุด เชื่อทุกฝ่ายเห็นตรงกันเกือบทุกเรื่อง

วันที่ 30 ม.ค. ที่อาคารรัฐสภา สรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึง การเตรียมเลื่อนญัตติของ ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ที่ให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ว่าไม่ได้เป็นการถ่วงเวลา แต่เป็นการเดินหน้า และเชื่อว่าการพูดคุยกันในห้องเล็กจะดีกว่า เนื่องจากเรื่องดังกล่าวมีความละเอียดอ่อน การพูดคุยกันในห้องใหญ่ เชื่อว่าสุดท้ายก็จบลงกันที่การประชุมลับ เพราะมีเรื่องของมาตรา 112 เข้ามาเกี่ยวข้อง 

สรวงศ์ ระบุว่า ทางพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลก็มีความเห็นตรงกัน ให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา เพื่อศึกษาการเสนอกฎหมายดังกล่าว ส่วนร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกลที่มีการยื่นให้ประธานรัฐสภาแล้ว แต่ก็ไม่ทราบว่าจะได้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระเมื่อได จึงเชื่อว่าการพูดคุยในห้องเล็กอาจมีความเห็นตรงกันในหลายเรื่อง 

สรวงศ์ ยังย้ำว่าทุกพรรคการเมืองและทุกภาคส่วน ทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมืองต้องมาพูดคุยกัน ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ยินดีที่จะแสดงความจริงใจในการผลักดันเรื่องดังกล่าว ถึงแม้จะเคยมีการศึกษามาแล้ว แต่เวลาเปลี่ยน จุดยืนของคนก็เปลี่ยน 

“บางคนเคยเป็นเหลืองกลายมาเป็นแดง หรือตอนนี้ไม่มีสีแล้ว มองว่าควรหาจุดร่วมเพื่อทำกฎหมายบรรเทาทุกข์ประชาชน รวมถึงเยาวชนที่อาจจะผิดพลาดไป การมาคุยในห้องเล็กดีที่สุด” สรวงศ์ กล่าว

สรวงศ์ ยังเผยว่า พรรคเพื่อไทยยังไม่มีการยกร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ที่เป็นฉบับของพรรค แต่ได้เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา เพื่อที่พรรคร่วมรัฐบาลจะได้ผนึกกำลังเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับเดียวกันเป็นร่างเดียว เพราะในเนื้อหาเราเห็นตรงกันเกือบทุกเรื่อง ติดอยู่เพียงเรื่องละเอียดอ่อนมากเพียงเรื่องเดียว เช่น มาตรา 112 ที่หากเข้าห้องประชุมใหญ่แล้ว ต้องเป็นการประชุมลับอย่างแน่นอน 

เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ยังยืนยันว่า จะเร่งดำเนินการให้กฎหมายออกมาเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด เพื่อให้เป็นประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นาน เพราะคณะกรรมาธิการวิสามัญจะใช้กรอบเวลาไม่เกิน 60 วัน รวมถึงจะนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับที่ภาคประชาชนเสนอ มาร่วมพิจารณาด้วย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่