‘จุลพันธ์’ พร้อมรับฟังความเห็น ป.ป.ช. แต่ขอเดินหน้าคู่ขนานดัน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ พ้อแม้ทำตามกฎหมายก็มีคนร้องเรียนได้
วันที่ 7 ก.พ. ที่อาคารรัฐสภา จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะแถลงถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในวันนี้ โดยระบุว่า เป็นสิ่งดี เพราะอย่างที่ได้รับการยืนยันมาเมื่อเช้า ว่า ป.ป.ช. มีมติและจะทำความเห็น รวมถึงจะมีการแถลงในเรื่องนี้ ซึ่งต้องรอรับฟังข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องรับฟังอยู่แล้ว
“ไม่ว่าความเห็นของ ป.ป.ช. จะมาทันหรือไม่ทัน เราก็เดินหน้าประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตอยู่ดี เราต้องทำคู่ขนานกันไป จากที่รับฟังจากสื่อ ผมยังไม่เห็นเอกสารจริง ก็มีการปรับเนื้อหามาพอสมควร ในเรื่องกรอบอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นไปตามพ พ.ร.บ.ของ ป.ป.ช. และการชี้ชัดเหตุการณ์ต่างๆ ที่มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาบางส่วน ต้องดูรายละเอียดให้ชัดเจนชัดเจนอีกครั้ง ถึงจะกล่าวได้มากกว่านี้”
ส่วนกังวลหรือไม่ว่าความคิดเห็นของคณะกรรมการชุดใหญ่ จะมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกับคณะอนุกรรมการ ที่มี สุภา ปิยะจิตติ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน จุลพันธ์ กล่าวว่า เราคงไปพะวงตรงนั้นไม่ได้ เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจชี้ถึงความจำเป็น ที่ต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ เราก็เดินคู่ขนานหากความเห็น ป.ป.ช. มาเราก็รับฟัง เมื่อมาถึงแล้วเราก็ดำเนินการ เพื่อให้ตอบข้อคำถามข้อห่วงใยเหล่านั้นได้ ย้ำว่าในส่วนของคณะกรรมการดิจิทัลฯ เราก็เดินหน้าโครงการคู่ขนานพร้อมกัน ไม่ได้รอหรือพะวงอะไร
เมื่อถามย้ำว่า เริ่มมีเอกสาร ป.ป.ช. หลุดออกมาแล้ว จะนำไปสู่ข้อถกเถียงว่าเศรษฐกิจวิกฤตหรือไมวิกฤต จุลพันธ์ กล่าวว่า “อย่าให้คอมเมนต์เรื่องหลุดเลยครับ เรายังไม่เห็นเอกสาร เดี๋ยวออกมาชัดๆ ผมดูแล้วผมจะมาตอบอีกครั้ง”
ส่วนหากเอกสารที่ออกมายืนยันว่าเศรษฐกิจไม่ได้วิกฤต จุลพันธ์ กล่าวว่า เรามีหน้าที่ที่ต้องชี้แจง ทำความเข้าใจ ส่วนเรื่องนี้เป็นความเห็นและความห่วงใยและข้อห่วงใยในเรื่องสถานการณ์ต่างๆ เรื่องของการทุจริตคอรัปชั่นเป็นหลัก ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ในส่วนของรัฐบาล เรามีหน้าที่เดินหน้านโยบาย ตามที่ได้แถลงต่อรัฐสภาไว้ ซึ่งนโยบายนี้เป็นหนึ่งในนโยบายหลัก สถานการณ์ก็ชี้ชัดมาเรื่อยๆ ว่า วันนี้สถานการณ์ไม่ดี เราต้องหาหนทางที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้าให้ได้
“ส่วนจำเป็นหรือไม่ที่ต้องรับฟังความเห็นของ ป.ป.ช ต้องเรียนว่าไม่ใช่แค่ ป.ป.ช. นักข่าวทัก พวกผมก็ฟัง ประชาชนทัก ผมก็ยิ่งรับฟัง และรัฐบาลชุดนี้ที่มาจากประชาชน มีข้อคิดเห็นใดที่ทักท้วงมา เรายินดีรับฟัง ที่ปรับแก้ให้เป็นประโยชน์ได้ เราทำ ข้อใดที่คิดว่าเป็นปัญหาเราก็พยายามแก้ไข และเดินหน้าให้อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย” จุลพันธ์ กล่าว
เมื่อถามว่า หากความคิดเห็นของ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ออกมาเป็นลบ และรัฐบาลยังยืนยันที่จะเดินหน้าต่อกังวลหรือไม่ว่าจะถูกร้องเรียนในภายหลัง จุลพันธ์ กล่าวว่า ประเทศไทยเต็มไปด้วยนักร้อง ไม่ว่ากรณีใดก็คิดว่ามีคนประสงค์ดีให้เราอยู่แล้วหรือไม่ ตนยังไม่คิดถึงกรณีที่ยังไม่มีคนร้อง ต่อให้ทำ ถูกต้องสุจริตทุกประการ ก็ยังมีคนร้องได้ ทุกเรื่องต้องรอดูให้เป็นไปตามขั้นตอน
สำหรับในส่วนเอกสารที่หลุดมีการระบุว่า กู้เงิน 5 แสนล้านบาท แต่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ 0.6 เปอร์เซ็นต์ จุลพันธ์ กล่าวว่า ต้องดูรายละเอียด เชื่อว่ากลไกการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่สามารถกระตุ้นได้แค่ 0.6 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีกลไกที่บังคับและกำหนดอยู่ เช่น การใช้จ่ายรอบแรก คือ การใช้จ่ายในระยะเวลาหกเดือน หรือกลไกการบังคับว่า ไม่ให้นำไปใช้เกี่ยวกับการพนัน ซึ่งกลไกเหล่านี้ล้วนเป็นกลไกที่บังคับให้ เกิดการผลิตการจ้างงาน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งสิ้น ดังนั้นจึงไม่ได้ห่วงเรื่องตัวคูณทางเศรษฐกิจ
แจงรัฐบาลไม่ได้ยื้อเวลาอภิปรายรอ สว. หมดวาระ
จุลพันธ์ กล่าวถึงกรณี สว. หลายคนกังวลว่า การเลื่อนเปิดอภิปรายทั่วไปของ สว. จะไม่ทันสมัยประชุม แล้วจะยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในเรื่องการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ โดยระบุว่า ไม่ได้กังวล ทั้งนี้ มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เรื่องกรอบเวลาในการอภิปรายนั้น รัฐบาลไม่ได้เป็นผู้กำหนดฝ่ายเดียว แต่ต้องหารือกับวิปทาง สว.ด้วย หาก สว.มีความกังวล สว.ก็ควรหารือกับวิปของ สว.มากกว่า
ส่วนกรอบเวลาปิดสมัยประชุม ชัดเจนอยู่แล้วว่าช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน เม.ย. ทางรัฐบาลไม่สามารถไปเลื่อนเวลาได้ และการกำหนดกรอบช่วงเดือน มี.ค. นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทุกคน ก็ได้รับทราบและมีการปรับตารางงาน หากไม่ได้ติดภารกิจสำคัญจริงๆ ทุกคนก็จะทำตัวให้ว่าง เพื่อไปร่วมรับฟังการอภิปราย และเชื่อว่ารัฐมนตรีทุกคนพร้อมไปชี้แจงและตอบข้อซักถาม ไม่ได้กังวลอะไร
เมื่อถามว่า สว. หลายคนมองว่าเป็นการยื้อเวลาเพื่อรอให้ สว.หมดวาระ จุลพันธ์ หัวเราะพร้อมกล่าวว่า ขณะนี้ สว.ก็ยังไม่หมดวาระ ซึ่งจะหมดวาระเดือนพฤษภาคมนี้ ดังนั้นก็สามารถใช้สิทธิ์อภิปรายได้อย่างเต็มที่ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้เลื่อน แต่เป็นการหารือร่วมกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลและวิป สว.