หน้าแรก Thai PBS อธิบดีกรมอุทยานฯ สั่งย้าย “ไพทูรย์” หัวหน้าเขตฯสลักพระ เซ่นปม “ไฟป่า”

อธิบดีกรมอุทยานฯ สั่งย้าย “ไพทูรย์” หัวหน้าเขตฯสลักพระ เซ่นปม “ไฟป่า”

83
0
อธิบดีกรมอุทยานฯ-สั่งย้าย-“ไพทูรย์”-หัวหน้าเขตฯสลักพระ-เซ่นปม-“ไฟป่า”

จากกรณีที่นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีคำสั่งที่ 522/2567 ลงวันที่ 6 ก.พ.67 ย้ายนายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส ส่วนประสานความร่วมมือด้านทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 ให้ไปปฏิบัติราชการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3

อ่านข่าว : รับมือ! รอบไทยจุดความร้อนไฟป่าอื้อ “กัมพูชา” มากสุด 1,300 จุด 

นายอรรถพล ชี้แจงว่า เกิดจากพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี มีเหตุไฟไหม้ป่าหลายจุด บางพื้นที่รุนแรงยังไม่สามารถคบคุมได้ โดยพบจุด HOTSPOT ถึง 34 จุด พื้นที่ไฟไหม้สะสมรวม 231 จุด สูงสุดกว่าทุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทั้งที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ กำหนดนโยบายและแนวทางอย่างเคร่งครัดแล้ว

ไม่พบการตั้งจุดเฝ้าระวัง เมื่อเกิดเหตุไฟป่าพร้อมกันหลายจุด จึงถามไปที่หน่วยงานอื่นที่ต้องทำงานร่วมกัน ทราบว่า หัวหน้าเขตฯ สลักพระ ไม่มีการประสานงานและช่วยทำงานไม่ได้ เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผลการตั้งวอร์รูมเฝ้าระวังไฟป่า เขตรักษาพันธุ์ฯ สลักพระ ไม่ตั้งศูนย์บัญชาการเพื่อควบคุมสถานการณ์ และไม่รายงานความคืบหน้ากับผู้บังคับบัญชา

ดังนั้นจึงลงนามในคำสั่งย้ายหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เพื่อความเหมาะสมในการป้องกันไฟป่าต่อไป ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นข่าวที่ว่า นายไพฑูรย์ฯ แสดงการคัดค้านแนวอุโมงค์ผันน้ำ ผ่านพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ แต่อย่างใด

แนวอุโมงค์ผันน้ำ ยังอยู่ระหว่างการพูดคุยจากเจ้าของโครงการ ที่ต้องเตรียมข้อมูลมาขออนุญาต กรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังไม่เริ่มขั้นตอนนี้เลย เพราะเจ้าของโครงการยังไม่มาพบ

อ่านข่าว : ทส.ล็อกเป้า 10 ป่าอนุรักษ์สกัดเผาซ้ำซาก ปีก่อนป่าวอด 3 ล้านไร่ 

ทั้งนี้เมื่อวันนี้ 6 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มอบหมายให้นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า นายอนันต์ โพธิ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เดินทางลงพื้นที่ สถานีควบคุมไฟป่าสลักพระ-เอราวัณ จ.กาญจนบุรี เพื่อบัญชาการเหตุการณ์ควบคุมสถานการณ์ไฟป่า ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ พบว่า มีจุด HOTSPOT ในช่วงเวลา 12.46 น. จำนวนทั้งสิ้น 9 จุด จึงได้มีการลงพื้นที่บินตรวจไฟป่า พร้อมบัญชาการจัดชุดระดมกำลังพลเข้าพื้นที่ดับไฟ จำนวน 180 นาย ในพื้นที่ 7 กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่เสือไฟ เจ้าหน้าที่ไฟป่า และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า โดยได้รับการสนับสนุนอากาศยานจากกองการบิน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

อ่านข่าว : นักวิชาการแนะกลไกแก้ฝุ่น PM 2.5 ให้อำนาจเสนอแนะ-สั่งการแก้ปัญหาข้ามหน่วย 

สำหรับการพบจุดความร้อนทำให้เกิดไฟป่าขึ้นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระนั้น เกิดจากฝีมือมนุษย์ที่ลักลอบเผาเพื่อต้องการล่าสัตว์ป่าและการเก็บหาของป่าให้ง่ายขึ้น จุดความร้อนที่ทำให้เกิดไฟป่าจึงมักเกิดขึ้นบนภูเขาทำให้ยากต่อการเข้าไปดับได้ทันท่วงที

อธิบดีกรมอุทยานฯ จึงสั่งการให้หัวหน้าป่าอนุรักษ์ที่มีสถานการณ์ไฟป่าที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรง ให้ทำการประกาศห้ามบุคคลเข้าไปในพื้นที่ป่า เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการเกิดไฟป่าลุกลาม และให้ดำเนินการตามแนวทางการปฏิบัติงาน นโยบายด้านการป้องกันไฟป่าของกรมอุทยานแห่งชาติฯที่กำหนดไว้ เพิ่มความเข้มงวดในการตั้งจุดตรวจ จุดสกัด และต้องประสานแจ้งข้อมูลกับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ให้รับทราบถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วย

อ่านข่าว : ไฟป่าลามผืนป่าตะวันตก 2 แสนไร่ รุนแรงรอบ 5 ปี 

ขณะที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ระบุว่า ข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ไทยพบจุดความร้อนทั้งประเทศ 1,189 จุด ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 356 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 349 จุด พื้นที่เกษตร 212 จุด ชุมชนและอื่นๆ 148 จุด พื้นที่เขต สปก. 113 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 11 จุด

จังหวัดที่พบจำนวนจุดความร้อนสูงสุด 3 อันดับแรก

1 กาญจนบุรี 289 จุด

2 ชัยภูมิ 157 จุด

3 ขอนแก่น 66 จุด

ส่วนประเทศเพื่อนบ้านที่พบจุดความร้อนมากสุดอยู่ที่ เมียนมา 947 จุด กัมพูชา 706 จุด เวียดนาม 296 จุด และ สปป.ลาว 291 จุด

อ่านข่าวอื่น ๆ

ไฟป่าลามผืนป่าตะวันตก 2 แสนไร่ รุนแรงรอบ 5 ปี  

 “อรรถพล” สั่งหัวหน้าป่าอนุรักษ์ ปิด 37 พื้นที่เสี่ยงไฟป่า  

“บิ๊กป๊อด” จ่อถกครม.ปรับโทษเมินแก้ฝุ่น PM2.5

 

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่