หน้าแรก Voice TV ธ.ก.ส. เปิดตัว BAAC Carbon Credit ดันภารกิจสร้างรายได้ให้เกษตรกร-ชุมชน

ธ.ก.ส. เปิดตัว BAAC Carbon Credit ดันภารกิจสร้างรายได้ให้เกษตรกร-ชุมชน

106
0
ธกส.-เปิดตัว-baac-carbon-credit-ดันภารกิจสร้างรายได้ให้เกษตรกร-ชุมชน

ธ.ก.ส. ผนึกกำลังชุมชนธนาคารต้นไม้ใน จ.ขอนแก่น ขับเคลื่อนภารกิจซื้อ – ขายคาร์บอนเครดิตอย่างเป็นทางการ ในโครงการ BAAC Carbon Credit ประเดิม 400 ตันคาร์บอน มูลค่ากว่า 1.2 ล้านบาท เตรียมขยายผลการสร้างคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ไปยังชุมชนธนาคารต้นไม้ ทั้ง 6,800 ชุมชน หนุนการปลูกป่าเพิ่มอีกปีละ 108,000 ต้น พร้อมวางเป้าหมายสร้างปริมาณซื้อ – ขายคาร์บอนเครดิตอีกกว่า 510,000 ตันคาร์บอน ภายใน 5 ปี เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

7 ก.พ. 2567 ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดโครงการ BAAC Carbon Credit เพื่อการซื้อ – ขายคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้อย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทย จากชุมชนธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่และบ้านแดง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น จำนวน 400 ตันคาร์บอน (ได้รับการรับรองปริมาณการกักเก็บคาร์บอนเครดิต เมื่อ 26 ธ.ค.66) โดย ธ.ก.ส. รับซื้อในราคากึ่ง CSR ตันละ 3,000 บาท เป็นเงินรวม 1.2 ล้านบาท (เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานราวร้อยละ 30 เกษตรกรในชุมชนจะมีรายได้รวม 842,100 บาท) เพื่อสนับสนุนชุมชนในการดูแลสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์เป้าหมายการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี ค.ศ. 2065 

โดยก่อนหน้านี้ ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกป่าตามแนวพระราชดำริ “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” เพื่อสร้างการมีส่วนจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการ “ธนาคารต้นไม้” จนปัจจุบันมีชุมชนธนาคารต้นไม้ 6,814 ชุมชน มีสมาชิก 124,071 คน มีต้นไม้ขึ้นทะเบียนในโครงการกว่า 12.4 ล้านต้น มูลค่าต้นไม้กว่า 43,000 ล้านบาท และยกระดับไปสู่ชุมชนไม้มีค่า นำต้นไม้มาแปลงเป็นสินทรัพย์ เพิ่มมูลค่าให้กับที่ดินและนำมาใช้เป็นหลักประกันเงินกู้กับ ธ.ก.ส. สมาชิกในชุมชนมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากต้นไม้/ป่าไม้ ปีละ 116 ล้านบาท

ธกส.2.jpgธกส.5. ผีเสื้อjpgธกส.4 ต้นไม้.jpgธกส.3.jpgธกส.6.jpg

และเพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้กับชุมชนที่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ธ.ก.ส. จึงดำเนินโครงการ BAAC Carbon Credit เพื่อเดินหน้าแนวทางการส่งเสริมการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในประเทศ ตามโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ และตามมาตรฐานประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) เริ่มจากการขึ้นทะเบียนโครงการ การตรวจนับจำนวนต้นไม้ การตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตจากผู้ประเมินภายนอก (Validation and Verification Body: VVB) การรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เพื่อนำปริมาณการกักเก็บไปตอบโจทย์ความต้องการของหน่วยงานรัฐ เอกชน ในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ซึ่งนอกจากช่วยสร้างรายได้กลับคืนสู่ผู้ปลูกต้นไม้แล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่จะมาดูดซับปริมาณคาร์บอน ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและบรรเทาผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน และผลักดันให้ประเทศไทย สามารถบรรลุข้อตกลงความเป็นกลางทางคาร์บอนตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งปัจจุบันมีชุมชนที่ได้รับการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกจาก อบก. แล้ว 84 ชุมชน ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่กักเก็บได้กว่า 2.7 ล้านตันคาร์บอน โดย ธ.ก.ส.สนับสนุนเงินทุนให้กับชุมชนธนาคารต้นไม้ในการกักเก็บคาร์บอนแล้ว จำนวนกว่า 3.8 ล้านบาท

“ธ.ก.ส. พร้อมขยายผลการสร้างคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ไปยังชุมชนที่เข้าร่วมโครงการธนาคารต้นไม้ โดยสนับสนุนการปลูกป่าเพิ่มในที่ดินของตนเองและชุมชน ปีละประมาณ 108,000 ต้น ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่จะนำมาซื้อ – ขายได้กว่า 510,000 ตันคาร์บอน ภายใน 5 ปี การส่งเสริมกิจกรรมที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น การเพาะกล้าไม้ เพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ การทำนาเปียกสลับแห้ง เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน การลดพื้นที่การเผาตอซังข้าว อ้อยและข้าวโพด เพื่อลด PM 2.5 การเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าชายเลน การนำผลิตผลจากต้นไม้มาสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้กับชุมชนทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การนำวัตถุดิบจากไม้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ ผลิตน้ำส้มควันไม้ ปลูกสมุนไพร และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นต้น” ฉัตรชัยกล่าว

โดยโครงการ BAAC Carbon Credit จะเป็นคนกลาง ให้องค์กรรัฐ เอกชนบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกที่ตั้งไว้ ซึ่งนอกจากจะได้รับประโยชน์ในด้านธุรกิจ ที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยสนับสนุนและให้กำลังใจชุมชนในการดูแลและปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่สีเขียวที่ได้รับการปกป้องโดยคนในชุมชน สะท้อนถึงความเข้มแข็งในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ต่อคนทั้งโลกอีกด้วย  

“หน่วยงานที่สนใจซื้อ – ขายคาร์บอนเครดิต และต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้และสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งให้กับชุมชน อันนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ติดต่อได้ที่ ฝ่ายพัฒนาลูกค้าและชุมชน ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ ถนนพหลโยธิน กรุงเทพฯ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ Call Center 02 555 0555” ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวทิ้งท้าย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่