วันนี้ (9 ก.พ.2567) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ยังไม่ได้รับเอกสารรายงานความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องโครงการแจกเงินดิจิตอลวอลเล็ต 10,000 บาท อย่างเป็นทางการ แต่ได้รับทราบในรายละเอียดแล้ว
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ แม้จะเป็นการให้ความเห็น ตามหน้าที่ตามกฎหมาย มาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แต่กฎหมายกำหนดให้แค่การให้ความเห็น เพื่อป้องกันการทุจริต แต่ความเห็นดังกล่าวเป็นเหมือนการท้วงติงที่เกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช.
หากเอกสารฉบับทางการมาถึงรัฐบาล ก็จะนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ในวันที่ 15 ก.พ.นี้
รมช.คลัง กล่าวอีกว่า บางประเด็นตอบได้ง่ายอาจเป็นเพราะความไม่เข้าใจ หรือได้ข้อมูลไม่ครบถ้วนของ ป.ป.ช.ทั้งแหล่งที่มาของเงินเปลี่ยนจากงบประมาณเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน การใช้ระบบบล็อกเชนในการดำเนินโครงการ ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถชี้แจงได้
โดยในการประชุมจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริต อนุกรรมการ รับฟังความคิดเห็นในสังคมและรับฟังความเห็นเพิ่มเติม และคณะอนุกรรมการดูแลด้านการเงิน และระบบต่างๆ
อ่านข่าว “จุลพันธ์” รอฟัง ป.ป.ช.ปมดิจิทัลวอลเล็ต ไม่เชื่อกู้ 5 แสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจ 0.6%
ดิจิทัลวอลเล็ต ต่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายจุลพันธ์ ยืนยันกลุ่มเป้าหมายของโครงการจ่ายเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ยังคงเป็นกลุ่มเดิม ซึ่งความเห็นของป.ป.ช. ที่เสนอให้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนนััน
ต้องชี้แจงว่า ปัจจุบันได้เปลี่ยนรัฐบาลแล้ว และกลไกของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่สามารถแก้ไขปัญหา และกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ เป็นเพียงแค่การหยอดน้ำข้าวต้ม แต่จำเป็นต้องมีกลไก ในการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ครั้งนี้ออกมา
ซึ่งแนวคิดในการทำนโยบาย เป็นของรัฐบาล ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบต่อประชาชน ในขณะที่บางหน่วยงานไม่จำเป็นต้องตอบรับต่อเสียงสะท้อนของประชาชน หากเศรษฐกิจดำดิ่งยิ่งกว่าในปัจจุบัน คนที่รับผิดชอบคือรัฐบาล จึงต้องแสดงความชัดเจน รัฐบาลมีหน้าที่ในการเดินหน้านโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา และบรรจุเป็นนโยบายแห่งรัฐ โดยเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย
ยังไม่ขอยืนยันว่าจะเริ่มแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตได้เมื่อไหร่ พอกันไปกับเกณฑ์แล้วทำไม่ได้จะไม่เป็นผลดี แต่ขอยืนยันว่าเดินหน้าโครงการแน่นอน
อ่านข่าว ป.ป.ช.แนะ 8 ข้อก่อนเดินหน้า “ดิจิทัลวอลเล็ต” ใช้เงินงบปกติ ลดเสี่ยงขัดกฎหมาย
15 ก.พ.นี้ถกพร้อมตั้งอนุกรรมการคุมทุจริต
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในวันที่ 15 ก.พ.นี้ ที่มีการประชุมจะเป็นจุดชี้วัดว่า จะเดินหน้าโครงการต่อไปหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ชัดเจนว่าจะเดินหน้า ส่วนกรอบเวลารอให้สะเด็ดน้ำก่อน ให้ฝุ่นหายตลบก่อนแล้วจะเห็นชัดขึ้น
เมื่อถามว่า มีความกังวลหรือไม่ว่าหากรัฐบาลเดินหน้าจะมีนักร้องไปร้องเรียน นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ประเทศไทยนักร้องเยอะอยู่แล้ว ไม่ว่าอย่างไรก็มีคนร้อง แต่ถามว่าถ้าเป็นประโยชน์กับประชาชน
ประชาชนต้องการให้เดินหน้านโยบายที่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจลักษณะนี้ ก็จะเดินหน้า ยืนยันว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ใช่การสงเคราะห์
“ศิริกัญญา” ลั่นใช้สภาฯ สกัดแจกเงินดิจิทัล
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกลว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องตัดสินใจได้แล้ว และเชื่อว่าหากเป็นมติของคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตจะดีที่สุด เพราะจะมีการประชุมในสัปดาห์หน้า หลังหยุดชะงักงันมานาน
ขณะนี้ไม่มีใครไม่เห็นด้วยว่าเศรษฐกิจไม่ดี แต่จะเข้าขั้นวิกฤตหรือไม่ต้องมีการพูดคุย และที่แน่ๆ ยังไม่มีมาตรการต่างๆมากระตุ้น เนื่องจากรัฐบาลใจจดใจจ่อกับดิจิทัลวอลเล็ตเพียงอย่างเดียว ทำให้โครงการอื่นล่าช้าออกไป ส่งผลต่อการฟื้นคืนเศรษฐกิจ
ส่วนประเทศขณะนี้วิกฤตหรือไม่นั้น น.ส.ศิริกัญญา บอกว่า ในคณะกรรมการที่ประกอบด้วยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกฤษฎีกา ควรสามารถตกลงนิยามคำว่า วิกฤตได้แล้วว่าสามารถออก พ.ร.บ.กู้เงินให้กระทรวงการคลัง ตามเงื่อนไขของคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือไม่
น.ส.ศิริกัญญา เตือนมาตั้งแต่ต้นแล้วหากเดินลุยไฟออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงินก็สุ่มเสี่ยงสามารถไว้ใจพรรคก้าวไกลได้ว่า จะไม่ร้ององค์กรอิสระอย่างแน่นอน เพราะไม่ต้องการให้องค์กรอิสระเข้ามาแทรกแซง แต่ต้องการให้สภาเป็นผู้ตัดสินใจมากกว่า
โดยจะอภิปรายเพื่อให้ประชาชนรับทราบ และหากเสียงข้างมากลงมติให้ผ่านความเห็นชอบ ก็ห้ามไม่ได้ ซึ่งอาจเป็นสารตั้งต้น ให้มีคนไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
อ่านข่าว : ไอเดีย 1 จังหวัด 1 กางเกง ชูเอกลักษณ์ประจำจังหวัด “ปูก้ามดาบ-ไก่ชน-วัวลาน-หอย”