หน้าแรก Thai PBS “เอกนัฏ”เสนอญัตติด่วน ทบทวนมาตรการถวายอารักขาความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ

“เอกนัฏ”เสนอญัตติด่วน ทบทวนมาตรการถวายอารักขาความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ

80
0
“เอกนัฏ”เสนอญัตติด่วน-ทบทวนมาตรการถวายอารักขาความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ

วันนี้ (14 ก.พ.2567) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ขอให้ทบทวนมาตรการอารักขาถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ ขณะเดียวกันนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.พรรคประชาธิปัตย์ เสนอญัตติ ในลักษณะเดียวกันด้วย พร้อมจี้เจ้าหน้าที่ดำเนินการทันทีเมื่อเกิดเหตุขึ้น

นายเอกนัฏ อภิปรายยกเหตุผลการเสนอญัตติ สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 ก.พ.กรณี การรบกวนขบวนเสด็จฯ สร้างความสะเทือนใจให้กับประชาชน ซึ่งหากไม่มีการบริหารจัดการอย่างเร่งด่วน เกรงว่าจะทำให้สถานการณ์บานปลาย และทำลายความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดี โดยเฉพาะความมั่นคงของประเทศ

นายเอกนัฏ ยังระบุว่า ยกเหตุการณ์วันที่ 4 ก.พ.ได้เห็นคลิปเหตุการณ์ที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดียและรู้สึกตกใจ ซึ่งเหตุการณ์ที่ปรากฏชัดเจนว่า ขบวนเสด็จฯ เป็นขบวนที่สั้น และการดำเนินการถวายความปลอดภัยดำเนินด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้กระทบต่อการสัญจรของประชาชน แต่มีบุคคลที่มีเจตนาที่จะก่อกวนขบวนเสด็จฯ

อ่านข่าว : พลิกที่มากฎหมาย พระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย 2560

ทั้งนี้ได้เฝ้าติดตามกระบวนการของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย แต่ปรากฏว่า ผ่านไปเกือบ 1 สัปดาห์ ยังไม่มีความชัดเจนจนกระทั่งวันที่ 10 ก.พ.ผู้ก่อเหตุยังไปจัดกิจกรรมที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งจนเกิด การปะทะกันกับผู้เห็นต่าง

พร้อมย้ำเจตนาที่ไม่ได้ตั้งใจจะพูดเพื่อซ้ำเติมความร้าวฉาน-ความแตกแยก ที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกทั้ง 2 ฝ่าย แต่มีความตั้งใจด้วยเห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก

หากปล่อยปละละเลย ในที่สุดสถานการณ์ที่เห็นในวันที่ 10 ก.พ.เริ่มมีการประท้วงปะทะกันในหมู่ประชาชน ถ้าเราไม่รีบบริหารจัดการ จะบานปลายไปสู่ความแตกแยกความรุนแรงที่อาจจะปะทุถึงขั้นระดับประเทศ นั่นคือเหตุผลที่ผมตัดสินใจปรึกษากับเพื่อนสมาชิก และเสนอญัตติด่วน เพื่อส่งสัญญาณไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งรัดการปฎิบัติหน้าที่เพื่อยับยั้งไม่ให้สถานการณ์บานปลาย

นายเอกนัฏ ยังระบุข้อเสนอว่า 1.ขอให้เจ้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายโดยทันที ยืนยันการเรียกร้องไม่ใช่การล่าแม่มด หรือการใช้ศาลเตี้ยตัดสินใจ แต่เพื่อความสงบเรียบร้อยเพื่อไม่ให้สถานการณ์บานปลาย ซึ่งการใช้สิทธิเสรีภาพจะต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และต้องไม่ผิดกฎหมาย

2.ควรใช้พื้นที่ในสภาฯ สะท้อนความคิดความรู้สึกก็เห็นด้วยผลอย่างสร้างสรรค์ เพื่อทบทวนระเบียบมาตรการต่าง ๆ รวมถึงแผนถวายอารักขาความปลอดภัยแก่ขบวนเสด็จฯ ซึ่งเหตุการณ์ก่อกวนก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว หากไม่ทบทวนเพิ่มความเข้มงวด เห็นว่าจะเป็นการปล่อยปละละเลย จนการกระทำในลักษณะนี้กลายเป็นค่านิยมใหม่ที่เกิดขึ้น

อ่านข่าว : เปิดช่องเพิ่มโทษ กม.”ถวายความปลอดภัย” ปรามกลุ่มจาบจ้วงสถาบันฯ

พร้อมหยิบยกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขบวนเสด็จของราชวงศ์ในอังกฤษ ที่เกิดขึ้น จนกลายเป็นอุบัติเหตุโ ศกนาฏกรรมสะเทือนประชาคมโลก จึงไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก พร้อมกล่าวถึงเหตุการณ์ในประเทศไทยซึ่งมีลักษณะเป็นการท้าทายแต่การปฎิบัติของเจ้าหน้าที่ยังมีความล่าช้า

นายเอกนัฏกล่าวต่อว่า ตนกังวลเรื่องเกี่ยวกับระเบียบและแผนที่สอดคล้องมากับกฎหมายปี 2560 ซึ่งระเบียบและแผนจากการสอบถามพบว่า เป็นระเบียบที่ใช้ตั้งแต่ปี 2548 และเห็นว่า สิ่งสำคัญจะต้องมีการซ้อมรับมือกับสถานการณ์ และคู่มือปฎิบัติ โดยหวังว่าหลังจากเหตุการณ์นี้จะไม่เกิดลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นอีก

3.การประชาสัมพันธ์การสื่อสารกับประชาชนว่า การถวายความปลอดภัยต่อขบวนเสด็จฯ ย่อมต้องส่งผลกระทบต่อประชาชนและชี้แจงว่า ประชาชนต้องปฏิบัติตนอย่างไร เชื่อว่าประชาชนจะให้ความร่วมมือและร่วมเป็นหูเป็นตาไม่ให้เกิดลักษณะเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก

จึงขอส่งสัญญาณไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอให้ทบทวนปรับปรุงสื่อสารแผนและมาตรการต่างๆ ด้วยกังวลว่าหากปล่อยประละเลยไม่เข้มงวดเหตุการณ์เช่นนี้อาจจะเป็น น้ำผึ้งหยดเดียวที่นำไปสู่ความวุ่นวายการประทะกันในหมู่ประชาชนความแตกแยกที่เชื่อว่าไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

เราอยากเห็นบ้านเมืองสงบสุข ไม่อยากให้มีพฤติกรรมออกมาหรือมีค่านิยมเป็นแฟชั่นไปบั่นทอนสถาบันฯ ที่เป็นสถาบันหลักของประเทศ จึงเป็นเหตุผลที่ตัดสินใจขอเสนอญัตติด่วนเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้รัฐบาลเร่งดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายทบทวนระเบียบแผน และมาตรการการถวายความปลอดภัยกระบวนการผลิตให้เหมาะสมทันสมัยมีการฝึกซ้อมและประชาสัมพันธ์ สื่อสารกับประชาชน ถือเป็นการถวายความปลอดภัยให้สมพระเกียรติ เพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ

ก่อนเริ่มเข้าสู่การอภิปรายเนื้อหา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ประธานในที่ประชุมยังแจ้งสมาชิกว่า อภิปรายภายใต้ระเบียบอย่างเคร่งครัด กำหนดห้ามผู้อภิปรายห้ามแสดงกิริยาวาจาที่ไม่สุภาพใส่ร้ายหรือเสียดสีบุคคลใด และห้ามกล่าวถึงพระมหากษัตริย์หรือออกชื่อสมาชิกหรือบุคคลใดโดยไม่จำเป็น

ขณะที่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกอภิปรายว่า ในการอารักขาการเสด็จพระราชดำเนินของกรมสมเด็จพระเทพฯ ในครั้งนี้ ก็เป็นกระบวนการตามปกติ ดังนั้น การรบกวนมาตรการการอารักขาที่เป็นมาตรฐานและเป็นปกติ

อ่านข่าว : ทนายยื่นค้านฝากขัง “ตะวัน-แฟรงค์” คุมเข้มศาลอาญา

ตนจึงต้องยืนยันว่า เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักอยู่ในใจตนเองเสมอก็คือ การพยายามทำให้กระบวนการในการอารักขามีประสิทธิภาพสูงที่สุด ส่งผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด เพราะประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าคนที่จะต้องไปทำงาน คนที่ต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือคนที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนต่าง ๆ ก็มีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์ โดยที่ไม่อาจจะรู้ด้วยซ้ำไปว่าขบวนเสด็จฯ อยู่ข้างหน้า

คุณปิดปากประชาชนให้พูดไม่ได้ คุณบังคับให้ประชาชนไม่รู้สึกอะไรเลยไม่ได้ ดังนั้น การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จากการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนที่ดีที่สุด คนที่ต้องทำหน้าที่นั้นก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอารักขา ทางออกที่เป็นรูปธรรมที่สุดก็คือการทบทวน พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ.2560 โดยเฉพาะใน ม.5 โดยสภาฯ แห่งนี้ ควรจะเพิ่มเติมให้การปฎิบัติงานในการถวายความปลอดภัยให้คำนึงถึงประชาชนไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบมากเกินควร

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า เมื่อตนเห็นว่าการรบกวนมาตรการการอารักขาบุคคลสำคัญที่เป็นกระบวนการมาตรฐานเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ตนก็จำเป็นต้องสะท้อนความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา โดยที่ไม่มีความเกลียดชังใด ๆ และตนยังเคารพวิจารณญาณและดุลยพินิจของผู้กระทำ ตนเคารพเสียงวิพากษ์วิจารณ์กลับมาเช่นกัน

ตนคิดว่าคนที่ปรารถนาดีต่อกันต้องกล้าที่จะพูดในสิทธิมีเหตุมีผล แม้จะรู้ว่าสิ่งที่พูดเป็นสิ่งที่บางคนอาจจะไม่อยากฟังก็ตาม คนที่ปรารถนาดีไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกันในทุกเรื่อง การกล้าที่จะแสดงความเห็นคือความปรารถนาดี

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า อีกเรื่องหนึ่งที่จะพูดไม่ได้ก็คือ การใช้ความรุนแรงในการทำร้ายผู้อื่นโดยอ้างว่าเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำร้ายผู้อื่นเพราะจงรักภักดีนั้น เป็นพฤติกรรมที่อันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่สุด หากรัฐปล่อยให้บุคคลที่นิยมความรุนแรงมีอำนาจบาทใหญ่อ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ทำร้ายคนที่คิดต่างอย่างใดก็ได้ โดยที่กฎหมายไม่เคยเอาผิดได้ ในระยะยาวมีแต่จะทำให้สถาบันเสื่อมเสียพระเกียรติยศ

นายวิโรจน์ ระบุว่า ตนจึงมีความเห็นว่า รัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ไม่ให้มีพฤติกรรมกล้านำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้เป็นเครื่องมือในการทำร้ายผู้คนตามใจชอบอีกต่อไป

ลองจินตนาการดูครับ ถ้าเราเชื่อว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่เป็นคนดี ลองจินตนาการดูว่าหากมีคนคิดแบบนี้เพิ่มเป็น 1 ล้านคนจะเกิดอะไรขึ้นกับสถาบันพระมหากษัตริย์

นายวิโรจน์ระบุว่า จากที่เป็นศูนย์รวมจิตใจทั้งชาติ ต้องมาอยู่ใจกลางความขัดแย้งของประชาชนที่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย และสถาบันพระมหากษัตริย์จะยั่งยืนสถาพรได้อย่างไร การบังคับใช้กฎหมาย ขอฝากรัฐบาลไว้ตรงนี้ว่า ต้องมีความเสมอภาค ไม่ใช่เอากฎหมายไปเล่นงานอีกฝ่ายหนึ่ง

อ่านข่าว : ญัตติด่วน! รทสช. เสนอปรับปรุง “อารักขาขบวนเสด็จ”

นายวิโรจน์กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งสร้างให้เกิดขึ้นคือพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยในเรื่องสถาบันฯ ไม่ใช่สภาฯ

เมื่อนายวิโรจน์กล่าวถึงช่วงนี้ นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ลุกขึ้นประท้วงว่า ญัตติที่พรรครวมไทยสร้างชาติเสนอไป เป็นเพียงมาตรการรักษาความปลอดภัย แต่นายวิโรจน์อภิปรายนอกเหนือจากญัตติทำให้นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ยังอยู่ในญัตติเพราะเป็นการอภิปรายเรื่องความปลอดภัยและผลลัพธ์

หลังจากนั้นนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ประท้วงด้วยว่า สิ่งที่นายเกชาประท้วงเป็นคนละญัตติ แต่นายปดิพัทธ์กล่าวตัดบทว่า เป็นประเด็นประท้วงเดียวกัน ตนขออนุญาตวินิจฉัยไม่ให้ประท้วง ทำให้นายอัครเดชประท้วงประธานอีกรอบว่า ต้องวางตัวเป็นกลาง เพราะยังไม่ได้ฟังว่าไปประท้วงเรื่องอะไร

แล้วปิดไมค์ผม ต้องฟังผมก่อน ผมประท้วงท่านประธาน ว่าท่านใช้ดุลยพินิจไม่เป็นกลาง ต้องฟังผมก่อนว่าเพราะอะไร แต่ท่านก็ตัดบทผม ว่าผมมีประเด็นเดียว ผมยังไม่ได้พูดเลย ขอให้ผมได้พูดก่อนได้หรือไม่ว่าท่านไม่เป็นกลางเพราะอะไร

จากนั้น นายปดิพัทธ์ ตอบโต้ว่า ไม่เป็นความจริง ก่อนที่นายอัครเดช กล่าวว่า ทางผู้เสนอญัตติเสนอเรื่องทบทวนมาตรการในการถวายความปลอดภัย แต่สิ่งที่ทางนายวิโรจน์พูดอยู่เป็นเรื่องกลุ่มบุคคลที่เห็นต่างที่มีปัญหา กระทำการไม่บังควร ซึ่งเป็นปัญหานอกเหนือจากญัตติที่เสนอ ส่วนเรื่องอื่นขอให้ไปยื่นญัตติใหม่ แล้วค่อยอภิปรายในประเด็นนี้

นายปดิพัทธ์ จึงอ่านญัตติที่เสนอว่า เรื่องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายทบทวนแผนและมาตรการการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จให้เหมาะสม ทันสมัย มีการฝึกซ้อมและประชาสัมพันธ์ สื่อสารกับประชาชนเป็นการถวายความปลอดภัยให้สมพระเกียรติเพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันของชาติ เนื้อหาของนายวิโรจน์เป็นส่วนสุดท้ายคือเรื่องการสื่อสารกับประชาชน ตนถือว่ายังอยู่ในประเด็น

นายวิโรจน์ จึงอภิปรายต่อว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำให้เป็นรูปธรรมคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ใช่แค่ในสภาฯ แต่หมายถึงเวทีสาธารณะทั่วไปด้วย เพื่อให้การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยเจตนาสุจริตอย่างไร วุฒิภาวะเป็นเรื่องปกติไม่มีการมาจับผิด ซึ่งรัฐบาลจะปล่อยให้สภาวะแบบนี้เกิดขึ้นไม่ได้

เราใช้น้ำมันดับไฟไม่ได้ ความรุนแรงไม่เคยแก้ไขความรุนแรงได้ มีแต่จะยิ่งทำให้บานปลาย ทุกความขัดแย้งในโลกใบนี้ล้วนแก้ไขได้ด้วยการพูดคุย ในที่สุดก็จะเกิดทางออกที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันอย่างสันติ เพื่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันในหลายวงศ์สนทนา เวลาที่มีการเอ่ยถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้จะเอ่ยด้วยความสุจริตก็ตามก็ต้องมีบางคนในวงสนทนามีอากัปกิริยาแบบนี้

ทั้งนี้ นายวิโรจน์ ยังกล่าวว่า ปัจจุบันสถาบันพระมหากษัตริย์กำลังกลายเป็นเรื่องต้องห้ามไปแล้ว ซึ่งหากเราปล่อยให้เป็นอย่างนี้จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ยิ่งห่างเหินจากประชาชน บั่นทอนการยึดเหนี่ยวจิตใจที่สถาบันพระมหากษัตริย์มีต่อประชาชน คำกล่าวหาในลักษณะนี้เป็นการดูถูกประชาชนอย่างสิ้นเชิง

นายวิโรจน์ ทิ้งท้ายว่า ตนเชื่อว่าประชาชนหลายคนที่ฟังบางคนอาจไม่สบายใจและอาจจะนึกด่าทอต่อว่าตนอยู่ในใจตัวน้อมรับ แต่ถ้าฟังด้วยใจที่เป็นกลางและฟังแล้วคิดตามในสิ่งที่ตนพยายามจะสื่อสารก็จะทราบดีว่า ตนมีความปรารถนาดีต่อระบอบประชาธิปไตยและสถาบันพระมหากษัตริย์และประสงค์ที่จะให้สถาบันทำหากษัตริย์ทรงสถิตสถาพรอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตราบนิรันดร์

อ่านข่าว : ศาลไม่ให้ประกัน “ตะวัน-แฟรงค์” ชี้อัตราโทษสูง

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่