หน้าแรก Thai PBS พลิกที่มากฎหมาย พระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย 2560

พลิกที่มากฎหมาย พระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย 2560

86
0
พลิกที่มากฎหมาย-พระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย-2560

ยังถกไม่จบ สืบเนื่องจากเหตุการณ์วันที่ 4 ก.พ. 2567 มีการเผยแพร่ภาพการรบกวน ก่อกวนขบวนเสด็จไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจของพระบรมวงศานุวงศ์ ทำให้วันนี้ ( 14 ก.พ.) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง ให้รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมาย ทบทวนระเบียบ แผน

และมาตรการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จให้เหมาะสม ทันสมัย มีการฝึกซ้อม และประชาสัมพันธ์สื่อสารกับประชาชน เพื่อเป็นการถวายความปลอดภัยให้สมพระเกียรติและรักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ

จึงขอเสนอให้ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องช่วยบังคับใช้กฎหมายโดยทันที และขอให้ทบทวนระเบียบมาตรการต่าง ๆ รวมทั้งแผนการถวายความปลอดภัยแก่ขบวนเสด็จ โดยมีกฎหมายบังคับใช้ คือ พ.ร.บ.ถวายความปลอดภัย พ.ศ.2560

ถ้าเทียบเคียงกับมาตรการในต่างประเทศ ในสหรัฐอเมริกามีคนมาก่อกวนเส้นทางสัญจรขบวนรถผู้นำเจ้าหน้าที่ยังเข้าไปชาร์ตทันที

นายเอกนัฐ กล่าวว่า ภารกิจสำคัญของเจ้าหน้าที่หน่วยอารักขาคือ การถวายความปลอดภัย ให้เป็นมาตรฐานสากล นำ VIP ไปสู่ที่ปลอดภัยก่อน เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด 

สิ่งกังวลขณะนี้คือ ตัวระเบียบและแผนที่ตามมากับกฎหมายปี 2560 เป็นระเบียบและแผนที่ใช้ตั้งแต่ปี 2548 ขณะนี้สถานการณ์ความขัดแย้งและบริบททางสังคมเปลี่ยนแปลงไปมาก นอกจากนี้ต้องมีการประชาสัมพันธ์ การสื่อสารกับประชาชน ว่าการถวายความปลอดภัยต่อขบวนเสด็จ สามารถทำอะไรได้บ้าง อาจจะมีผลกระทบอะไรบ้าง

และที่สำคัญ คือ ประชาชนจะต้องทำตัวอย่างไร เชื่อว่า มีประชาชนหลายคน ต้องการให้ความร่วมมือและเป็นหูเป็นตาด้วย เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นอีก จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนปรับปรุงสื่อสารแผนและมาตรการต่างๆ หากปล่อยปละละเลย ไม่เข้มงวด อาจจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว นำไปสู่ความวุ่นวาย เกิดการปะทะกันในหมู่ประชาชน เกิดความแตกแยก

เปิดที่มากฎหมายว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสถาบันพระมหากษัตริย์

เมื่อปี พ.ศ.2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ออกประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 36 เรื่อง กฎหมายว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสถาบันพระมหากษัตริย์ 

เนื้อหาเป็นการยกสถานะ “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ.2546” ให้เป็น “พระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ.2549” โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค.2549

ก่อนที่จะมีระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยฯ พ.ศ.2546 การถวายความปลอดภัยให้สมาชิกของราชวงศ์ ใช้ระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยฯ พ.ศ.2521 ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ ในยุคที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ต่อมาในปี พ.ศ.2557 ได้มีการตรา พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ.2557 ขึ้นมาแทน พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยฯ พ.ศ.2549 ด้วยเหตุผลว่า “พระราชบัญญัติดังกล่าวยังคงมีรูปแบบของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี” จึงทำให้กฎเกณฑ์และวิธีปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่เป็นเอกภาพ

พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย คือ ?

พระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ.2560 คือ กฎหมายฉบับปัจจุบันที่ใช้เพื่อรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และผู้แทนพระองค์ รวมถึงพระราชอาคันตุกะ

พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ.2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2560 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นเป็นผู้รับสนองพระราชโองการ

พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ในมาตราที่ 3 กำหนดให้ยกเลิก พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ.2557 แต่กำหนดในมาตรา 8 ว่า บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศที่ออกตาม พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ.2557 “ยังคงใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้” ทั้งนี้ จนกว่าจะมีการออกระเบียบ ประกาศ หรือกำหนดแนวปฏิบัติเป็นอย่างอื่นตาม พ.ร.บ.นี้ 

มาตราที่ 4 ใน พ.ร.บ.นี้ กำหนดความหมาย ได้แก่ “การถวายความปลอดภัย” “ความปลอดภัย” “ส่วนราชการในพระองค์” และ “หน่วยงานของรัฐ”

“การถวายความปลอดภัย” หมายความว่า การรักษาความปลอดภัยสําหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป และให้หมายความรวมถึงการรักษาความปลอดภัยสําหรับผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้แทนพระองค์ซึ่งเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป และบุคคลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นพระราชอาคันตุกะ

“ความปลอดภัย” หมายความว่า การรักษาความปลอดภัยและการถวายพระเกียรติต่อพระองค์หรือบุคคลที่ต้องมีการถวายความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัยของพระราชฐาน ที่ประทับหรือที่พัก การรักษาความปลอดภัยในขณะที่เสด็จไปหรือไปยังที่ใด รวมตลอดถึงการรักษาความปลอดภัยของ ยานพาหนะ และสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้อง

“ส่วนราชการในพระองค์” หมายความว่า ส่วนราชการในพระองค์ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์

“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ

มาตราที่ 5 ให้ส่วนราชการในพระองค์มีหน้าที่วางแผนถวายความปลอดภัย ตลอดจนอำนวยการ ประสานงาน ควบคุม และปฏิบัติงานในการถวายความปลอดภัย โดยมีราชเลขานุการในพระองค์ของพระมหากษัตริย์เป็นผู้บังคับบัญชา ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ 

ในกรณีที่มีการกําหนดแผนการถวายความปลอดภัยตามวรรคหนึ่ง และมีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐแห่งใด ให้แผนการถวายความปลอดภัยนั้นมีผลตามกฎหมายที่หน่วยงานของรัฐแห่งนั้นมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามด้วย

มาตราที่ 6 ให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งมีหน้าที่ในการถวายความปลอดภัยหรือร่วมมือในการถวายความปลอดภัยตามที่ราชเลขานุการในพระองค์ของพระมหากษัตริย์กำหนด

มาตราที่ 7 เพื่อประโยชน์ในการถวายความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพและมีแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกัน ให้ราชเลขานุการในพระองค์ของพระมหากษัตริย์มีอํานาจกําหนดระเบียบหรือออกประกาศเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การปฏิบัติหน้าที่ในการถวายความปลอดภัยเพื่อใช้บังคับกับส่วนราชการในพระองค์และหน่วยงานของรัฐ

อ่าน เปิดช่องเพิ่มโทษ กม.”ถวายความปลอดภัย” ปรามกลุ่มจาบจ้วงสถาบันฯ

มาตรา 8 บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ.2557 ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีการออกระเบียบ ประกาศ หรือกําหนดแนวปฏิบัติเป็นอย่างอื่นตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 9 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

บันทึกท้ายพระราชบัญญัติ ระบุว่า เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการตรากฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการในพระองค์และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ กําหนดให้มีส่วนราชการในพระองค์เพื่อปฏิบัติภารกิจขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์

สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการถวายความปลอดภัยให้สอดคล้องกับการกําหนดหน้าที่ส่วนราชการในพระองค์และกําหนดหลักเกณฑ์ในการถวายความปลอดภัยให้สามารถดําเนินการถวายพระเกียรติในการปฏิบัติภารกิจได้ ตามพระราชประสงค์

อ่านฉบับเต็ม คลิกที่นี่

อ่านข่าวอื่น ๆ

กทม.ขอความร่วมมือ WFH 15-16 ก.พ. หลังค่าฝุ่นสีแดง 20 เขต

จับหญิงจีน นำ “ลูกสิงโต” โชว์ในคาเฟ่ภูเก็ต พบไมโครชิพไม่ตรงปก

พา 200 ตัวเข้า “เมืองลิง” วัดพระบาทน้ำพุ ออกแบบใช้ชีวิตชิล

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่