‘ชัยธวัช’ ยกเหตุการณ์ลอบทำร้าย ร.9 ชี้การอารักขาขบวนเสด็จฯ ผูกโยงกับการเมือง ย้ำสังคมไทยผ่านบทเรียน 6 ตุลาฯ แล้ว การผลักใครไปสุดทางไม่ใช่คำตอบ แนะนับหนึ่งนิรโทษกรรม-เพิ่มตรงกลางหาทางออกช
วันที่ 14 ก.พ. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 17 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สองวาระการอภิปรายญัตติด่วน เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาทบทวนมาตรการอารักขาถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ
ชัยธวัช ตุลาธน สส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้ลุกขึ้นอภิปรายเป็นคนสุดท้ายของซีกฝ่ายค้าน ว่า เมื่อได้ฟังอภิปราย เห็นว่าเรามีความเห็นร่วมกันหลายอย่าง คือ การรักษาความปลอดภัยให้กับบุคคลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นประมุขของรัฐ พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงค์ ผู้นำทางการเมือง หรือแม้แต่บุคคลสาธารณะที่สำคัญนั้น เป็นเรื่องสำคัญ และเป็นหลักปฏิบัติสากล
ชัยธวัช กล่าวต่อไปว่า เราเห็นตรงกันว่าขบวนเสด็จของสมเด็จพระเทพฯ ในวันที่ 4 ก.พ. นั้นเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการไปอย่างเหมาะสมแล้ว อย่างน้อยก็ในแง่ที่ว่าไม่ได้สร้างผลกระทบต่อประชาชนเกินสมควร เราไม่อยากเห็นเหตุการณ์อย่างวันที่ 4 ก.พ. เกิดขึ้นอีก
ชัยธวัช ระบุว่า ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะบริหารจัดการเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ให้บานปลายมากกว่านี้อย่างไร ถือเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงอภิปรายอย่างรอบด้าน ซึ่งยืนยันว่า เวลาเราพิจารณาเรื่องมาตรฐานงานปลอดภัย เราไม่สามารถที่จะพิจารณาเฉพาะเรื่องกฎหมายระเบียบแผนในการถวายความปลอดภัยได้อย่างเดียวเท่านั้น
ชัยธวัช ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่กระทบต่อการถวายความปลอดภัยต่อองค์พระมหากษัตริย์ และพระบรมมาวงศานุวงค์อย่างรุนแรงที่สุด ว่า วันที่ 22 ก.ย. 2520 เคยเกิดเหตุการณ์ลอบทำร้าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงค์หลายพระองค์ที่เสด็จไปด้วย ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินไป จ.ยะลา ซึ่งเหตุการณ์รุนแรงกว่าเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นหลายเท่า มีการลอบวางระเบิดใกล้ที่ประทับของพระองค์ จะพิจารณาเรื่องนี้เรื่องเดียวไม่ได้ แต่ยังเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งของเหตุการณ์ในภาคใต้ขณะนั้นด้วย
“เหตุการณ์การถวายความปลอดภัย จึงเกี่ยวข้องกับปัญหาทางการเมือง และปัญหาทางความคิด ซึ่งในครั้งนั้นก็ใช้วิธีทางการเมืองจัดการ โดยเกิดกลุ่มฝ่ายขวาทางการเมือง พยายามใช้กรณีที่เกิดขึ้น ปลุกปั่น กล่าวหา โจมตีว่า รัฐบาลขณะนั้น ไม่มีความจงรักภักดีเพียงพอ จนนำไปสู่การรัฐประหาร และกว่าประเทศจะฟื้นฟูไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ต้องใช้เวลาหลายปี”
ชัยธวัช กล่าวว่า จากกรณีนี้ เราเรียนรู้ได้ว่ารัฐไทย สามารถทำให้คนคนหนึ่งที่แสดงออกทางความเห็นทางการเมือง โดยถือกระดาษหนึ่งแผ่น ตัดสินใจทำในสิ่งที่คนไทยจำนวนมากไม่คาดคิดว่าจะกล้าทำ จะต้องมีปัญหาอะไรสักอย่าง เมื่อประชาชนอยากพูด แต่เราไม่อยากฟัง เพราะมันไม่น่าฟัง และไม่ต้องการให้คนอื่นได้ยิน เราพยามไปปิดปากเขา สุดท้ายจึงเลือกตัดสินใจตะโกน และนำมาสู่สถานการณ์ที่เราไม่พึงปรารถนา ถือเป็นบทเรียน ที่เราควรจะพิจารณาหลังจากนี้ โดยเฉพาะฝ่ายบริหาร ในขณะเดียวกัน คนที่กำลังตะโกนอยู่ก็ควรจะไตร่ตรองว่า วิธีการอะไรที่จะทำให้คนหันมาเปิดใจรับฟังมากขึ้น การตะโกน ยิ่งทำให้ไม่มีใครฟัง อาจเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาเช่นเดียวกัน
สุดท้าย ไม่ว่าจะฝ่ายไหนเราไม่ควรจัดการสถานการณ์ด้วยการผลักฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้สุดขั้วไปมากกว่านี้ สิ่งที่ฝ่ายบริหารทำได้คือกุศโลบายทางการเมือง ตนเองไม่สบายใจที่ได้ยินสมาชิกฝั่งรัฐบาลพูดกันว่า ถ้าไม่พอใจให้ไปอยู่ประเทศอื่น หนักแผ่นดิน นิ้วไหนร้ายก็ตัดนิ้วนั้นทิ้ง ฟังแล้วนึกว่าเราอยู่ในรัฐบาลจากการรัฐประหาร
“เราเคยมีบทเรียนมาแล้วว่าการใช้ความจงรักภักดีมาแบ่งแยกประชาชน สุดท้ายก็ไม่ส่งผลดีกับใครเลย เราผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลามาแล้ว ที่สมาชิกหลายท่านพูดถึง มันสอนเราแล้วว่า สุดท้ายแล้วต่อให้เราใช้กำลัง ใช้อาวุธร้ายแรง ยิงเข้าไปสู่ประชาชนที่เราไม่อยากฟัง ฆ่าเขาตายในการเมือง ลากเขาไปแขวนคอใต้ต้นมะขาม ตอก-อก หรือกล่าวหาผู้คนจำนวนมากว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนพวกเขาไม่มีทางเลือก แล้วก็ต้องเข้าไปเป็นคอมมิวนิสต์จริง ๆ ในป่า ไม่ใช่ทางออก” ชัยธวัช กล่าว
สุดท้าย เราต้องจบด้วยการแก้ไขปัญหาทางการเมือง นิรโทษกรรม เปิดโอกาสให้คนที่ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ มาร่วมพัฒนาชาติไทย มันวนซ้ำอยู่แบบนี้ ตนเองหวังว่ารัฐบาลของเรา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะมีสติ และระงับความโกรธ เพิ่มพื้นที่ตรงกลางให้มากที่สุด เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถหาทางออกร่วมกันได้ ให้ประเทศไทยออกจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาเกือบสองทศวรรษ ให้ประเทศมีสมาธิเดินหน้าไปเผชิญหน้ากับโลกที่ผันผวนมากขึ้น