‘สกุณา’ พร้อมผลักดัน ‘สกลนครโมเดล’ สู่เมืองนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมยกระดับชีวิตเกษตรกรอย่างยั่งยืน เดินหน้าเป้าหมายสร้างรายได้ 3 เท่าใน 4 ปี
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 สกุณา สาระนันท์ สส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความสำเร็จภายหลัง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำคณะรัฐมนตรีพร้อมภาคธุรกิจลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยโทง ตำบลวานรนิวาส อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 เยี่ยมชมสินค้าทางการเกษตร รวมทั้งนวัตกรรมทางการเกษตรภายใต้โครงการสกลนครโมเดล ว่า การลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ จุดมุ่งหมายสำคัญอย่างหนึ่งคือการผลักดันจังหวัดสกลนครเป็นพื้นที่นำร่องการใช้ ‘นวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจฐานราก’ เพื่อพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ด้านการเกษตรทั้งระบบ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการสร้างรายได้ให้เกษตรกร 3 เท่าใน 4 ปี ตามนโยบายของพรรคเพื่อไทย ซึ่งที่ผ่านมาจังหวัดสกลนครได้ใช้เทคโนโลนีและนวัตกรรมในการเพิ่มผลผลิตและยกระดับชีวิตพี่น้องเกษตรกรจนประสบความสำเร็จ
สกุณา กล่าวว่า สำหรับพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยโทง อำเภอวานรนิวาส เป็นพื้นที่ที่ตนและทีมงานโครงการ ‘สกลนครโมเดล’ ได้มีส่วนริเริ่มได้พัฒนามาตั้งแต่ปี 2563 โดยมีวัตถุประสงค์ คือต้องการแก้ปัญหาความยากจนของชาวบ้านอย่างยั่งยืน โครงการได้นำความรู้และนวัตกรรมมาใช้ และยังทำงานร่วมมือกันระหว่าง 3 ฝ่าย ตั้งแต่เกษตรกร นักวิชาการที่ให้องค์ความรู้ ซึ่งเราทำงานกับ 3 มหาวิทยาลัยในพื้นที่ และกระทรวงในฐานะหน่วยให้งบประมาณ ซึ่งมีหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
“ในการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ตนได้นำเสนอของโครงการย่อยภายใต้โครงการสกลนครโมเดลเกี่ยวกับวิธีการในการเพิ่มรายได้ ตั้งแต่ดินมีชีวิต น้ำ ป่าครอบครัว สมุนไพร/ผักสวนครัว ครามสกล และกล้วยหอมทอง ด้วยวิธีการทำงานของโครงการสกลนครโมเดล ที่มีเป้าหมายและมีวิธีการทำงานชัดเจน รวมถึงนำความรู้ไปพาชาวบ้านทำ กำกับ ติดตามอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เห็นผลสำเร็จ ตัวชี้วัดอย่างเป็นรูปธรรม คือ เกษตรกรในโครงการมีรายได้ 10,000 บาท ต่อเดือนอย่างยั่งยืน” สส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย กล่าว
สกุณา กล่าวว่า เกษตรกรมีความพร้อม สิ่งที่เราต้องการพัฒนา คือการทำให้เมืองสกลนครเป็นพื้นที่นำร่องในการนำนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งคือเศรษฐกิจของพี่น้องประชาชน ที่เรายังมีรายได้น้อย เพราะองค์ความรู้ยังเข้าไม่ถึงและการพัฒนาไม่ต่อเนื่องทั้งห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ชาวสกลนครได้พยายามด้วยตัวเองเต็มความสามารถทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน แต่ผลการเปลี่ยนแปลงไม่ได้กระทบกับ GDP ของประเทศ ในตอนนี้ ชาวสกลนครพร้อมแล้วที่จะเป็นพื้นที่นำร่อง เพื่อผลักดันรายได้เกษตรกรให้เพิ่มขึ้น โดยการนำองค์ความรู้และหน่วยงานเข้ามาในพื้นที่ หลังจากพื้นที่ประสบความสำเร็จ เชื่อว่าจะสามารถเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่น ๆ ต่อไป