หน้าแรก Voice TV 'ทวี สอดส่อง' หนุน 'แผนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน' หาสมดุล 'นักปกป้องสิทธิฯ นายทุน และ รัฐ' ยกระดับนิติธรรมไทย

'ทวี สอดส่อง' หนุน 'แผนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน' หาสมดุล 'นักปกป้องสิทธิฯ นายทุน และ รัฐ' ยกระดับนิติธรรมไทย

90
0
'ทวี-สอดส่อง'-หนุน-'แผนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน'-หาสมดุล-'นักปกป้องสิทธิฯ-นายทุน-และ-รัฐ'-ยกระดับนิติธรรมไทย

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หนุนสร้างการรับรู้ “แผนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” หาสมดุลระหว่าง “นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นายทุน และ รัฐ เพื่อการคุ้มครอง ลดการเผชิญหน้า ร่วมพัฒนาชาติ พร้อมกับยกระดับนิติธรรมของประเทศไทย

19 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานจาก โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น พลัส แวนดา แกรนด์ นนทบุรี ว่า พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางมากล่าวปาฐกถาพิเศษ ระหว่างเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างการรับรู้และขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2566-2570) : นักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยระบุว่า

ผมยินดีและมีความตั้งใจมาร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ มาร่วมสร้างการรับรู้ ขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนฉบับที่ 5 โดยเฉพาะในกลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เนื่องจาก หลักสิทธิมนุษยชน หลักประชาธิปไตย ไม่อาจแยกออกจากหลักนิติธรรม เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ที่นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีตามที่ได้แถลงไว้เป็นคำมั่นสัญญาประชาคม ว่าในการบริหารราชการแผ่นดินครบ 4 ปีจะวางรากฐาน ‘หลักนิติธรรม’ ซึ่งการประชุมในประเด็นการสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจให้ทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมในช่วงสังคมไทยมีความซับซ้อนทางความคิด จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เพราะ ‘ความคิด’ จะแปลเปลี่ยนไปสู่ ‘คำพูด’ ก่อนนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘การกระทำ’ ฉะนั้นความคิดจึงมีความสำคัญ ไม่ว่าคิดอย่างไรแต่นั่นคือชีวิตที่คุณเลือก

‘หลักนิติธรรม’ ผ่านการดำเนินนโยบายของรัฐในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยยังอยู่ในกลุ่มที่ต้องพัฒนา จากดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of Law Index) ที่ได้เพียง 0.49 จากคะแนนเต็ม 1 ของปี 2566 ซึ่งต่ำกว่าปี 2565 ที่ได้ 0.50 รวมถึงคะแนนดัชนีในหัวข้อหลักสิทธิ เสรีภาพ แต่เมื่อมีสัญญาประชาคมแล้วก็หนีไม่พ้นในการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อยกระดับหลักนิติธรรมด้วย

ขณะที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนนั้น ต้องเผชิญหน้ากับทั้งรัฐกับนักลงทุน, นักพัฒนา หรือที่เรียกกันว่า ‘นายทุน’ บางครั้งในวิธีคิดของรัฐ ที่ต้องการพัฒนาให้เป็นไปตามนโยบาย แต่นักสิทธิมนุษยชนจะคำนึงถึงสิทธิของพลเมือง กลายเป็นการเผชิญหน้าแบบคู่ขนาน เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างกัน ที่เริ่มจากระดับเบาไปหาหนัก ตั้งแต่ การข่มขู่ การใช้กฎหมายฟ้องปิดปาก การทำร้ายร่างกาย จนไปถึงการทำให้สูญหาย เช่นกรณีนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ ‘บิลลี่’ แกนนำชุมชนกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย เป็นต้น ซึ่งการสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจให้เป็นไปตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 จึงเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรม ในฐานะที่อยู่ตรงกลางเพื่อธำรงค์ไว้ซึ่งความยุติธรรม

“สิ่งหนึ่งที่พยายาม คือ จะทำอย่างไรให้ความยุติธรรม ธำรงค์ไว้สูงสุด เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ” พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ระบุ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวอีกว่า เวทีแห่งนี้เป็นของทุกภาคส่วน เป็นการเปิดพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนความเห็น ใช้เหตุผล ไม่มีความขัดแย้ง ถือเป็นการเสวนา ไม่ใช่การโต้วาที ซึ่งในมุมมองตนเชื่อว่า ความสอดคล้องระหว่างกฎหมายกับความยุติธรรม ต้องมีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ

  1. หลักการและเหตุผล
  2. ศีลธรรมและจริยธรรม

จึงจะเป็นทิศทางของการสร้างหลักนิติธรรม ที่สามารถใช้กฎหมายให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายซึ่งปรากฏในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)

ประเทศไทยถือเป็นชาติแรกในเอเชียที่มี “แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนฯ” แต่รัฐอาจจะอ่อนในเรื่องการสร้างการรับรู้ จากที่ผ่านมา หลายประเด็นของการยกระดับแผนให้เป็นกฎหมาย ทำให้ประชาชนขาดการสร้างความเข้าใจ กฎหมายที่ได้จึงมีลักษณะอำนาจนิยมมากจนเกินไป ฉะนั้น การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการสร้างการรับรู้และขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 5 ในครั้งนี้ จึงเป็นเวทีกิจกรรมเพื่อหาสมดุลของการปฏิบัติ เป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศให้สามารถฟื้นฟู ‘หลักนิติธรรม’ ให้เกิดส่งเสริมปกป้อง คุ้มครองให้กับกลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้ได้รับการช่วยเหลือ เกิดกลไกการคุ้มครองที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้อง ตามหลักสากล เป็นที่ยอมรับกับประชาชน และนานาชาติ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวปิดท้ายปาฐกถาฯ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่