หน้าแรก Voice TV สภาฯ คว่ำร่าง พ.ร.บ.คำนำหน้านาม ลงมติ 257:154 ธัญวัจน์ หวังคืนเจตจำนงระบุเพศ

สภาฯ คว่ำร่าง พ.ร.บ.คำนำหน้านาม ลงมติ 257:154 ธัญวัจน์ หวังคืนเจตจำนงระบุเพศ

106
0
สภาฯ-คว่ำร่าง-พรบ.คำนำหน้านาม-ลงมติ-257:154-ธัญวัจน์-หวังคืนเจตจำนงระบุเพศ

สภาฯ ถกร่าง ‘พ.ร.บ.คำนำหน้านาม’ หวังคืนเจตจำนงในการระบุเพศ ด้าน ‘เพื่อไทย’ ห่วงเปลี่ยนแล้วจะเป็นธรรมหรือไม่ หวั่นคำนำหน้าเป็นกรอบกำหนดชีวิต-ปิดกั้นความรัก ท้ายสุดที่ประชุมลงมติคว่ำ 257:154

วันที่ 21 ก.พ. 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. การรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ “ร่าง พ.ร.บ. คำนำหน้านามตามความสมัครใจ” ของพรรคก้าวไกล เสนอโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ 

ก่อนเข้าสู่วาระ อัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ สส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นหารือขอให้ธัญวัจน์ถอนร่างฉบับนี้ออกไปก่อน เพื่อรอให้ร่างกฎหมายของภาคประชาชนและภาคส่วนอื่นๆ เข้ามาพิจารณาร่วมกัน รวมถึงให้มีเวลาทำงานระดมความเห็นและเสียงสะท้อนจากกลุ่มต่างๆ 

ประธานในที่ประชุมจึงถามธัญวัจน์ว่าจะถอนร่างหรือยืนยันเสนอร่างต่อไป ธัญวัจน์กล่าวว่า สภาฯ เปิดกว้างอยู่แล้ว เราสามารถสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายได้ผ่านการตั้งคณะกรรมาธิการ รวบรวมกลุ่มที่ผลักดันประเด็นดังกล่าว หากเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วประเทศที่รออยู่ ก็ควรต้องผลักดัน จึงขอสอบถามกลับไปทางคณะรัฐมนตรีว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีความคืบหน้าในการทำร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างไร เรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งผลักดันเมื่อตอนที่ตนยื่นกฎหมายเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 แต่ผลักดันมาตั้งแต่ปี 2559 และเรามักมีคำพูดอยู่เสมอว่าสิทธิความหลากหลายทางเพศ ประเทศไทยไปไม่ถึงไหน ดังนั้นวันนี้ถึงจุดที่เราต้องไปถึงไหนเสียที

เมื่อธัญวัจน์ยืนยันว่าไม่ถอนร่าง ประธานจึงให้แถลงหลักการและเหตุผลของการเสนอร่างกฎหมาย ธัญวัจน์กล่าวว่า โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรับรองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงส่งผลให้เกิดการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะเอกสารของรัฐไทยยังกำหนดให้ใช้คำนำหน้านาม ซึ่งถือตามเพศกำเนิด ได้แก่ เด็กชาย เด็กหญิง นาย นางสาว และนาง ส่งผลให้บุคคลข้ามเพศและผู้มีความหลากหลายทางเพศอื่น ประสบปัญหาในการแสดงตัวตน การตัดสินใจกำหนดวิถีทางเพศของตน และกระทบต่อการดำเนินชีวิต 

อย่างไรก็ตาม กฎหมายระหว่างประเทศและหลักสิทธิมนุษยชนสากล ได้รับรองเรื่องความหลากหลายทางเพศ ซึ่งยอมรับเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศและรสนิยมทางเพศที่มีความหลากหลาย ดังนั้นสมควรมีกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองและรับรองสิทธิ์เรื่องการใช้คำนำหน้านาม การระบุเพศของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ธัญวัจน์กล่าวต่อว่า Gender คือ เพศสถานะ เป็นสิ่งที่สังคมประกอบสร้างขึ้นมา ที่ผ่านมาสังคมประกอบสร้างการรับรองเพศเพียง 2 เพศคือเพศชายและเพศหญิง จากจุดนั้นเองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นธรรมชาติที่อยู่ร่วมโลกใบนี้ ไม่ได้ถูกมองเห็น โลกของสองเพศออกแบบกฎ ระเบียบ วัฒนธรรม เรื่องเล่าต่าง ๆ ในสังคมจึงสืบสานเพศที่ประกอบสร้างกันเองเพียงสองเพศ รัฐธรรมนูญแห่งประเทศไทยและกฎหมายต่าง ๆ ก็พูดถึงชายและหญิงเพียงสองเพศเท่านั้น 

เรื่องเพศเป็นทุกลมหายใจของทุกคน ทุกการกล่าวคำทักทาย สวัสดีครับ สวัสดีค่ะ ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งได้รับการยอมรับเพราะเป็นไปตามมาตรฐานและวัฒนธรรมของสังคม แต่อีกฝ่ายถูกมองว่าเป็นพวกเบี่ยงเบนและผิดปกติ สร้างความตลกขบขันให้สังคม

วันนี้สภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นจุดเริ่มที่สำคัญในการร่วมประกอบสร้างสังคมใหม่ เพื่อแก้ไขกฎหมายให้โอบรับคนทุกเพศ แก้ไขอดีตที่เราออกกฏหมายโดยไม่ได้คำนึงถึงพวกเขา คืนเจตจำนงในการระบุเพศ เพราะเรื่องเพศเป็นเรื่องสำนึกภายใน ที่เขาและเราจะบอกตนเองว่าป็นเพศอะไร หรืออยากดำเนินชีวิตแบบไหน นี่คือหลักการสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ ที่เรียกว่า Self Determination

“วันนี้เวลาที่เราพูดเรื่องเพศในสภาฯ เราจะเข้าใจในเชิงกฎหมายว่าเพศชายเพศหญิงคือเพศทางกายภาพ แต่วันนี้กฎหมายต้องบัญญัติให้พูดถึงอัตลักษณ์ทางเพศ เพศสภาพ เพศวิถี เพราะเพศมีคำอธิบายมากกว่าเรื่องทางกายภาพ” ธัญวัจน์กล่าว

สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ มีนิยามอัตลักษณ์ทางเพศซึ่งรับมาจากประเทศอาร์เจนตินาและมอลตาว่าอัตลักษณ์ทางเพศคืออะไร “อัตลักษณ์ทางเพศ” คือการที่บุคคลหนึ่งรับรู้ต่อตนเองว่าเขาคือใคร เป็นเพศอะไร ซึ่งจะสอดคล้องกับสิ่งที่สังคมกำหนดหรือไม่ก็ได้ หมายรวมถึงการแสดงออกทางเพศ และนี่คือหนึ่งหลักการสำคัญของหลักการยอกยาการ์ตา เพื่อเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติ ส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ 

ร่างกฎหมายนี้คุ้มครองใครบ้าง กลุ่มแรกคือบุคคลข้ามเพศ (Transgender) ทั้งผู้หญิงข้ามเพศชายและผู้ชายข้ามเพศ จะให้สิทธิในการแสดงเจตจำนงดำรงอัตลักษณ์ทางเพศในสังคม กลุ่มที่ 2 คือคนที่ไม่ได้นิยามตนว่าเป็นชายหรือหญิง เช่น บุคคลนอนไบนารี่ (Non-binary) บุคคล Intersex กลุ่มนี้แม้มีจำนวนน้อย ประมาณ 900 กว่าคนในประเทศไทย แต่เรื่องหนึ่งที่มีการต่อสู้คือการผ่าตัด ยืนยันโดยแพทย์เลือกเพศให้พวกเขาโดยที่พวกเขาไม่ได้แสดงเจตจำนง สิ่งเหล่านี้จะได้รับการคุ้มครอง เปลี่ยนวิธีคิดว่าการเลือกเพศต้องเกิดจากพวกเรา ไม่ได้เกิดจากรัฐ

ธัญวัจน์กล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้จะส่งผลต่อประเทศไทยอย่างไร บางคนอาจไม่เห็นด้วย กังวลว่าจะเกิดการสับสน เกิดการหลอกลวง ข้อกังวลเหล่านี้ไม่ได้เกินความคาดหมาย แต่ต้องยืนยันว่าการกำหนดเจตจำนงเรื่องเพศนั้นเป็นสิทธิมนุษยชน 

“การหลอกกันไม่ได้เกี่ยวกับเพศ วันนี้เรามีผู้หญิงหลอกผู้ชาย ผู้ชายหลอกกะเทย บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศหลอกผู้หญิง การหลอกลวงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศ แต่ขึ้นอยู่กับความซื่อสัตย์ของคนแต่ละคน” ธัญวัจน์กล่าว

ธัญวัจน์กล่าวต่อว่า วันนี้ข้อมูลประชากรศาสตร์ประเทศไทยมีข้อมูลผู้ชายผู้หญิง จะดีแค่ไหนถ้ากฎหมายนี้ผ่าน แล้วเราจะมีข้อมูลบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย เพราะจะช่วยในการคาดคะเนงบประมาณสวัสดิการที่อาจมีความจำเพาะในเรื่องเพศ ทำให้รู้ว่าสังคมเรามีการเลือกปฏิบัติมากเท่าไร เราควรออกแบบนโยบายอย่างไรเพื่อโอบรับคนทุกเพศ 

อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าในสังคมอาจมีข้อกังวล มีกฎหมายหลายฉบับที่ต้องแก้ แต่เราสามารถร่วมมือกันในด้านนิติบัญญัติ ร่วมทำแคมเปญให้คนเข้าใจ ยุติความกลัวซึ่งฝังรากลึกในสังคมไทยให้หมดสิ้น เพราะทุกคนคือคนเหมือนกัน ถึงเวลาที่กฎหมายกฎระเบียบต่างๆ ต้องเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศ เรามีงานที่ต้องทำอีกมากเพื่อผลักดันความเท่าเทียมนี้ให้เกิดขึ้น 

ด้านณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตนประหลาดใจ 2 เรื่อง หนึ่งทำไมอยู่ดีๆ การพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ ถูกทำให้เหมือนร่างลอยมาจากฟากฟ้า ไม่มีการศึกษาใด ๆ มาก่อน ทั้งที่ที่ผ่านมามีรายงานมากมายศึกษาเรื่องเหล่านี้ อย่างน้อยที่สุดตั้งแต่ปี 2559 ที่มีงานวิจัยฉบับแรกออกมาโดยมาตาลักษณ์ ออรุ่งโรจน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

ความประหลาดใจที่ 2 คือ สส. จากพรรครัฐบาลบอกให้มีการถอนร่าง แสดงความไม่พร้อม แล้วเอาประชาชนมาบังหน้า ท่านต้องกล้าพูดอย่างตรงไปตรงมา หงายการ์ดเหมือนที่ผ่านมาว่าขออุ้มไปก่อน ส่วนที่บอกว่าขณะนี้ร่างของหน่วยงานรัฐบาลยังไม่มี แต่ทำไมตนมีเอกสารจากกระทรวง พม. วันนี้อย่างน้อยที่สุด รมว.พม. ควรมาตอบคำถาม ว่าความไม่พร้อมที่บอกว่าต้องรอ ตกลงเอาอย่างไรกันแน่

.“หากเกรงว่าร่างของภาคประชาชนจะไม่ถูกนำเสนอ ท่านก็เอาร่างของภาคประชาชนมาให้เพื่อน สส. เซ็นชื่อ หรือเอาร่างของภาคประชาชนให้ ครม. ดูว่าหลักการแบบนี้รับได้หรือไม่ ส่งมาเลย หรือขยายจำนวนคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาก็ได้ ถ้าท่านเชื่อว่าในรายละเอียดอาจมีข้อคิดเห็นที่แตกต่างกัน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการแก้ไข แต่ผมเชื่อในใจลึก ๆ ว่าท่านอาจไม่ได้เชื่อแบบเรา” ณัฐวุฒิกล่าว 

เมื่อถึงการลงมติ ผลปรากฏว่าเสียงข้างมากของที่ประชุมสภาฯ มีมติไม่รับหลักการ ด้วยคะแนนเห็นด้วย 152+2 ไม่เห็นด้วย 256+1 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนนเสียง 1

จากนั้น ธัญวัจน์ และ สส.พรรคก้าวไกล แถลงข่าวหลังทราบมติสภาฯ โดยธัญวัจน์กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ ทำให้พรรคก้าวไกลไม่สามารถเสนอร่างที่มีหลักการนี้เข้าสภาฯ ได้ภายในสมัยประชุมนี้ แต่ยืนยันจะไม่ถอย พร้อมเสนอในสมัยถัดไป 

“วันนี้สมรสเท่าเทียมใครทำก็ได้คะแนนเสียง แล้วเรื่องอื่นที่ทำแล้วไม่ได้คะแนนเสียง คุณจะให้สิทธิบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการที่ต้องออกแบบเฉพาะ กฎหมายที่ต้องโอบรับความหลากหลายอีกหลายฉบับ การขจัดการเลือกปฏิบัติ ท่านจะยังทำหรือไม่ พรรคก้าวไกลยืนอยู่ข้างบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ เราเดินต่อแน่นอน เพราะรู้ว่าต้องสู้เพื่อให้ได้มา” ธัญวัจน์กล่าว

ด้าน ปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เป็นความฝันสูงสุดของตนที่จะเอาคำว่า “นาย” ออกไป แต่วันนี้พรรคร่วมรัฐบาลไม่เข้าใจประเด็นนี้และไม่รับหลักการ ไม่แน่ใจว่าเป็นประเด็นทางการเมืองหรือไม่ ทั้งที่พรรคร่วมรัฐบาลสามารถนำร่างของภาคประชาชนมาเซ็นเข้าสู่สภาฯ ได้ หรือถ้าต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ก็สามารถให้ประชาชนเข้ามาเป็นตัวแทนในขั้นกรรมาธิการได้ จึงขอถามถึงความจริงใจของนายกฯ และพรรคร่วมรัฐบาล สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ตนเสียดายเวลาที่กฎหมายนี้ต้องเนิ่นช้าออกไป แต่ในเมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ ยืนยันยังมีกำลังใจที่จะขับเคลื่อนต่อไป 

ขณะที่ อนุสรณ์ แก้ววิเชียร สส.นนทบุรี เขต 3 พรรคก้าวไกล กล่าวว่า รู้สึกผิดหวัง โดยเฉพาะต่อ สส. ที่เคยรับหลักการร่างสมรสเท่าเทียม เพราะร่างคำนำหน้านามตามความสมัครใจของพรรคก้าวไกลฉบับนี้ เป็นขั้นต้นยิ่งกว่า คือการยอมรับตัวตนของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่กลับมีผู้แทนราษฎรบางคน แสดงเจตจำนงตั้งแต่แรกให้ก้าวไกลถอนร่าง และสุดท้ายก็โหวตคว่ำตั้งแต่วาระหนึ่ง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่