‘เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ’ ยื่นข้อเสนอ ‘จาตุรนต์-ชัยธวัช-พรรคประชาชาติ‘ เพื่อพิจารณานิรโทษกรรมผู้กระทำผิดจากความขัดแย้งทางการเมืองในจังหวัดชายแดนใต้ เริ่มนับจากปี 2547 หวังลดความขัดแย้ง-ความรุนแรงในพื้นที่
วันที่ 21 ก.พ. ที่อาคารรัฐสภา เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD) ยื่นข้อเสนอแนะนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดจากความขัดแย้งทางการเมืองในจังหวัดชายแดนใต้ ต่อ จาตุรนต์ ฉายแสง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ JASAD กล่าวถึงการพิจารณาความขัดแย้งที่รุนแรงในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ ที่ได้ปะทุขึ้นเมื่อปี 2547 และต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันเป็นเวลา 20 ปีเต็ม ตั้งแต่ปี 2547-2564 มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นทั้งหมดประมาณ 21,328 เหตุการณ์ ส่งผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตทั้งหมด 7,314 ราย บาดเจ็บ 13,584 ราย รวมผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 20,898 ราย
สถิติเหล่านี้ นับว่าเป็นการสูญเสียจากเหตุความขัดแย้งรุนแรงสูงที่สุดในประเทศไทย แม้ในระยะหลังจากที่มีการตั้งโต๊ะพูดคุยสันติสุข หรือเจรจาสันติภาพ และข่าวเกี่ยวกับเหตุกาณ์รุนแรงในพื้นที่ดูเหมือนว่าเริ่มลดลง แต่ปัญหาก็ยังไม่หายไปสิ้นเชิง ดังจะเห็นได้จากความรุนแรงที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยในขณะที่มีการพูดคุยสันติสุข หรือเจรจาสันติภาพระหว่างตัวแทนฝ่ายไทย กับขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี หรือ BRN การปิดล้อมตรวจค้นจนเกิดการปะทะโดยเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมถือว่าเป็นการใช้ความรุนแรงที่อยู่นอกกระบวนการยุติธรรม ทำให้เกิดการสูญเสียนับตั้งแต่ปี 2563-2566 เกิดเหตุการณ์ปิดล้อมปะทะ เกิดการใช้ความรุนแรงที่อยู่นอกกระบวนการยุติธรรม จนเกิดการเสียชีวิตจำนวน 29 ครั้ง เจ้าหน้าที่เสียชีวิตขณะปะทะ 5 นาย บาดเจ็บขณะปะทะ 17 นาย ฝ่ายที่ติดอาวุธต่อสู้กับรัฐเสียชีวิต 58 ราย
อย่างไรก็ตาม ภายใต้โครงสร้างตามระบบกฎหมายปกติและตามรัฐธรรมนูญ นอกจากไม่สามารถขจัดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ที่ดำรงอยู่ได้ ผู้ที่แสดงออกซึ่งความคิดความเห็น เพื่อให้ปรับปรุงเปลี่ยนโครงสร้างในทางการเมือง ให้เหมาะสมกับลักษณะทางภูมิรัฐศาสตร์ ศาสนาและวัฒนธรรม อันเป็นอัตลักษณ์ของประชาชนในพื้นที่จำนวนมากยังถูกดำเนินคดีอีกด้วย
จากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดปี 2566 ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลดูมีความหวังในความเป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น กระแสนิรโทษกรรมผู้ร่วมชุมนุมที่มีต้นเหตุจากการเมือง การเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง และนักเคลื่อนไหวเริ่มขยับยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมผ่านกลไกรัฐสภา หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรมีความเห็นชอบตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุม คดีทางการเมืองนับว่าเป็นการเปิดประเด็นการถกเถียงที่อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนการเมืองที่เกิดจากความชิงชัง ไม่เข้าใจกัน เป็นจุดเริ่มต้นสร้างบรรยากาศทางการเมืองด้วยความปรารถนาดี
แต่เมื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับต่างๆ รวมทั้ง ฉบับที่ยื่นโดยพรรคก้าวไกล และร่างฉบับประชาชน มีการกำหนดเหตุและวันเวลาของผู้จะได้รับการนิรโทษกรรม เฉพาะจากการเข้าร่วมเดินขบวนและชุมชนประท้วงทางการเมือง ที่เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2549 จนถึงวันที่พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้ ตามความเข้าใจของอดีตผู้ต้องขังคดีการเมืองปาตานี/ชายแดนใต้ (คดีความมั่นคง)
นักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักกิจกรรมภาคประชาชน นักกฎหมายในพื้นที่ ถึงกรณีคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ไม่ได้รวมเข้าไปในหลักเกณฑ์ในการที่จะได้รับพิจารณานิรโทษกรรม จึงได้มีพบปะเพื่อรับฟังความคิดเห็น และจัดทำข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมรัฐบาล พรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับต่างๆ รวมทั้งฉบับของพรรคก้าวไกล และฉบับประชาชน
ทั้งนี้ เพื่อลดความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่กระบวนการสันติภาพ ดังนี้
1.การนิรโทษกรรมผู้ที่กระทำผิดเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง จะต้องรวมถึงความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้นับตั้งแต่กรณีปล้นปืนค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส ในปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา จนถึงวันที่พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมมีผลบังคับ
2.คดีที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองในจังหวัดชายแดนใต้ ที่ควรได้รับการนิรโทษกรรม
2.1 คดีผู้ที่กระทำผิดฐานฝ่าฝืนหรือถูกควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457
2.2 คดีที่ผู้กระทำความผิดฐานฝ่าฝืนหรือถูกควบคุมตัวหรือมีหมายจับตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
2.3 ผู้กระทำผิดฐานฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551
2.4 คดีผู้กระทำผิดในข้อหาต่างๆเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกในทางการเมือง ทางวัฒนธรรม โดยการกระทำหรือความคิดเห็นลักษณะ วิธีการและช่องทางการสื่อสารต่างๆ รวมถึงการรวมตัวกันสวมชุดมลายูของเยาวชนมลายูในพื้นที่เมื่อปี 2565 เป็นต้น
2.5 คดีพิจารณาและตัดสินโดยศาลทหาร ซึ่งจำเลยในคดีไม่ได้รับสิทธิและการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair Trail)
2.6 คดีที่ประชาชนที่ถูกกล่าวหาหรือดำเนินคดีในข้อหาความผิดอื่นๆ เนื่องจากมูลเหตุความขัดแย้งทางการเมืองในจังหวัดชายแดนใต้เช่น ข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร เป็นสมาชิกหรือเกี่ยวข้องกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน กบฏ ก่อความไม่สงบ ยกเว้นข้อหาที่เกี่ยวกับการทำร้ายร่างกาย ฆ่า ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์และความรุนแรงอื่นๆทางกายภาพ
3.ในระหว่างที่การนิรโทษกรรมอยู่ระหว่างการพิจารณาและยังไม่มีผลบังคับ
3.1 รัฐบาลควรกำหนดมาตรการเพื่อยุติหรือชลอการดำเนินคดีต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยในความผิดดังกล่าวข้างต้นไปก่อน
3.2 รัฐบาลควรยุติการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลตามกฎหมายพิเศษทุกกรณี จึงจำเป็นต้องหยิบยกกรณีความขัดแย้งในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ คดีการเมืองปาตานี/ชายแดนใต้ หรือที่ถูกเรียกว่าคดีความมั่นคง ให้ได้รับการพิจารณาวินิจฉัยการกระทำความผิดเพื่อรับการนิรโทษกรรม เพื่อผลักดันให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้า และเกิดสันติภาพที่ยั่งยืนต่อไป
ต่อมาในเวลา 14.30 น. เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ JASAD ได้ยื่นข้อเสนอแนะต่อ ชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม
โดย ชัยธวัช กล่าวว่า ยินดีรับข้อเสนอนี้ไปหารือกันใน กมธ. ส่วนตัวที่เคยได้แลกเปลี่ยนกับฝ่ายความมั่นคงถึงเรื่องการนิรโทษกรรม ก็มีคำถามว่าจะรวมคดีในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ ซึ่งตนได้แสดงความคิดเห็นไปว่าจริงๆ แล้ว มีคดีบางส่วนที่น่าจะมีประโยชน์ต่อการคลี่คลายสถานการณ์ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่น่าจะนำมารวมพิจารณาได้ แต่ใน กมธ. ยังไม่มีการคุยกันเรื่องนี้
เนื่องจากเพิ่งประชุมไปได้แค่ 2 ครั้ง โดยในวันที่ 22 ก.พ.ที่จะถึงนี้ จะมีการพูดคุยเรื่องหลักการและแนวคิดพื้นฐานในการนิรโทษกรรม เพื่อออกแบบรายละเอียด และตนจะนำข้อเสนอนี้เข้าไปพิจารณาด้วย โดยคาดว่าน่าจะมีหลายคดีที่จะนำมาพิจารณาได้ ทั้งคดีที่เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 2 ครั้ง ที่มีการขึ้นศาลทหาร ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง คดีที่ถูกดำเนินการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ หรือแม้แต่กฎอัยการศึก รวมถึงใช้กลไกลของกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ พิจารณาควบคู่กันไป
นอกจากนี้ JASAD ยังมีกำหนดการยื่นข้อเสนอแนะต่อพรรคประชาชาติ และพรรคเป็นธรรมด้วย