‘ก้าวไกล’ เตรียมอภิปรายหลายประเด็น-เร่ง พ.ร.บ.งบประมาณ หวังรัฐบาลใช้มาตรการการคลังอื่น ไม่รอดิจิทัลวอลเล็ต
วันที่ 23 ก.พ. ที่อาคารรัฐสภา ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND : จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง ผลักดันประเทศไทยเป็น 8 ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจว่า เราคาดหวังกันมาก แต่จากที่ได้ฟังแถลงก็ไม่มีอะไรใหม่ หลายคนอาจจะผิดหวังว่าจะได้ยินอะไรใหม่ หรือมีรายละเอียดของโครงการครบถ้วน
ศิริกัญญา มองว่า ถ้าดูทั้ง 8 เรื่อง ก็ไม่มีเรื่องไหนที่ไม่เคยฟังมาก่อนจากรัฐบาลก่อนหน้านี้ ที่สำคัญคือไม่เห็นเป็นรูปธรรมทั้ง 8 ด้านว่า จะทำอย่างไร มีแต่จะทำอะไร ฉะนั้นถือว่า เป็นแผนที่ค่อนข้างลอย เป็นสิ่งที่อยากจะทำมากกว่าแผนงานที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ซึ่งหลายคนอาจจะไม่ตื่นเต้นเท่าที่ควรจากการฟังแถลง
ศิริกัญญา ยังมีข้อเสนอแนะต่อวิสัยทัศน์ ดังกล่าวอีกว่า ในหลายเรื่องทราบดีถึงความสำคัญ ทราบดีว่า จะเกิดประโยชน์อะไรขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหา อุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ซึ่งเราพูดกันมานาน ตอนนี้เราก็เป็นฮับไปแล้ว แต่ยังมีปัญหาคอขวดในเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ และค่ารักษาพยาบาล ที่จะส่งผลกระทบต่อค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง และกระทบกับชนชั้นกลางที่ยังใช้บริการที่โรงพยาบาลเอกชน รวมไปถึงการแย่งชิงบุคลากรทางการแพทย์ระหว่างโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลรัฐ
ส่วนการเป็นศูนย์กลางทางการบิน ยังต้องปรับปรุงเรื่องเทคโนโลยี การตรวจคนเข้าเมืองให้มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงแก้ปัญหาตั๋วราคาแพง ที่ปัญหาอาจจะเกิดจากแอปพลิเคชันที่เป็น OTA ด้านการท่องเที่ยว ถ้าประชาชนในประเทศยังเจอปัญหาตั๋วแพง นักท่องเที่ยวที่เข้ามาก็จะเจอปัญหาเดียวกับเรา ถ้าแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ก็อาจจะไม่เป็นจุดศูนย์กลางของการบินของภูมิภาคได้ ถือเป็นตัวอย่างเล็กที่คาดหวังจากการแถลง และเป็นสาเหตุที่ทำให้เราไปไม่ถึงเป้าหมายสักที แม้เราจะพูดเรื่องนี้มามากกว่า 10 ปีแล้ว จึงเป็นการแถลงที่เราไม่ได้ให้ความสำคัญ
ส่วนท่าทีของนายกรัฐมนตรีต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นนั้น ศิริกัญญา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีทราบดีว่า เศรษฐกิจมีปัญหา แต่ยังคิดวิธีการแก้ปัญหาไม่ออก ตอนนี้ได้มีการโบ้ยให้ไปเป็นความผิดของผู้กำหนดนโยบายการเงิน ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการนโยบายการเงินหรือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ตนคิดว่า ตอนนี้มาตรการทางการคลัง กระสุนยังไม่หมดซะทีเดียว ยังมีทางออกอยู่ หรืออีก 1-2 เดือน งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ก็จะออกแล้ว เราคงต้องเตรียมการเพื่อให้งบประมาณผ่านไปได้เร็วขึ้น
ดังนั้นจึงอยากเห็นท่าทีของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่า จะมีท่าทีอย่างไรที่จะมีโครงการแก้ขัดระหว่างรอโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งยังเป็นปมปัญหาที่ยังแก้ไม่ออกอยู่ เราไม่อยากรอให้ถึงวันที่โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตออกมา เพราะตอนนั้น สำหรับเศรษฐกิจไทยก็คงสายเกินไปแล้ว ถึงอยากเห็นท่าทีที่กระตือรือร้น ที่จะใช้มาตรการทางการคลัง ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่มากกว่านี้
ยังไม่ชัวร์อภิปรายรัฐบาล ไม่ไว้วางใจ หรือทั่วไป
ศิริกัญญา กล่าวถึงการเตรียมพร้อมสำหรับอภิปรายรัฐบาลว่า ขณะนี้ทีมงานกำลังรวบรวมข้อมูลอยู่ เพื่อตัดสินใจว่า จะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรืออภิปรายทั่วไปกัน แต่คงจะใช้เวลาที่เหลือ 1 เดือนเพื่อตกผลึกว่า จะต้องไปในทิศทางไหน และคงใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ม.151 หรือ ม.152
ส่วนจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรืออภิปรายทั่วไปนั้นต้องตัดสินใจกันอีกครั้ง แต่ถือเป็นโอกาสที่ดี แม้จะเป็นแค่การอภิปรายแบบไม่ลงมติ ซึ่งจะเป็นการให้ข้อเสนอแนะกับรัฐบาล และคณะรัฐมนตรี (ครม.) นำปรับใช้ได้
สำหรับข้อมูลด้านเศรษฐกิจสำหรับการอภิปรายพรรคก้าวไกลจะมีเพียงพอหรือไม่นั้น ศิริกัญญา กล่าวว่า ตอนนี้เก็บข้อมูลไปค่อนข้างมาก อาจจะต้องใช้โอกาสที่เร็วกว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรืออภิปรายทั่วไปด้วยซ้ำ ทั้งนี้ จากตัวเลขที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่ควรจะเป็น เราคาดหวังว่า รัฐบาลควรจะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นขึ้นแล้ว ไม่ใช่รอแต่โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต เพราะแน่นอนเรามีปัญหาว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีอาจจะล่าช้า แต่ในฐานะที่ตนเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สภาผู้แทนราษฎร ก็เร่งทำงานกันอย่างเต็มที่
ศิริกัญญา เปิดเผยว่า วันนี้งบประมาณฯ ก็มีการพิจารณาเกือบจะเสร็จแล้ว คาดว่า จะนำเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ได้เร็วกว่ากำหนดการเดิมประมาณ 2-3 สัปดาห์ด้วยซ้ำ แม้เราจะทำงานในจุดนี้กันอย่างเต็มที่แต่ขณะที่งบประมาณฯ ยังไม่ออก ก็ยังมีหลายเรื่องที่รัฐบาลสามารถใช้มาตรการทางการคลังที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจตอนนี้ได้เลย
ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ตอนนี้เงินสะสมขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีอยู่ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่า มีการปลดล็อกให้สามารถนำมาใช้ได้ง่ายขึ้น เพียงแค่ผ่านการอนุมัติของสภาฯ ท้องถิ่นก็สามารถทำได้เลย แต่ยังไม่มีแรงจูงใจที่จะทำ ทั้งนี้ รัฐส่วนกลางสามารถให้เขานำเงินออกมาใช้เพื่อทำให้เศรษฐกิจแต่ละท้องถิ่น เศรษฐกิจฐานราก สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมีชีวิตชีวากลับคืนมาในระหว่างที่งบประมาณยังไม่ออก
ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า เราได้มีการเสนอแนะต่อรัฐบาลถึงมาตรการที่คล้ายกับโครงการคนละครึ่ง แต่เป็นคนละครึ่งสำหรับท้องถิ่น หากท้องถิ่นจะนำเงินสะสมออกมาใช้ครึ่งหนึ่งรัฐบาลจะสมทบอีกครึ่ง เพื่อให้เงินจำนวน 1.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 3.6 แสนล้านบาท โดยใช้งบกกลางที่ขณะนี้มีการอนุมัติงบไปพลางก่อน 2 ใน 3 ของปี 2566 ซึ่งน่าจะอยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นกว่าล้านบาท
“หากนำไปสมทบกับท้องถิ่นก็จะเป็นมาตรการที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างน้อยก็ประพรมให้เศรษฐกิจในท้องที่มีชีวิตชีวาขึ้น นี่เป็นสิ่งที่เราเสนอให้รัฐบาลสามารถทำได้เลย ไม่ต้องรอโครงการขนาดใหญ่อย่างดิจิทัลวอลเล็ต เพราะเรายอมรับมานานแล้วว่า เศรษฐกิจขณะนี้ฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น” ศิริกัญญา กล่าว
ปม ‘ทักษิณ’ อาจเป็นหนึ่งในประเด็นอภิปรายรัฐบาล
ศิริกัญญา กล่าวถึงการพักโทษของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่อาจเข้าไปอยู่ในประเด็นที่จะอภิปรายรัฐบาลด้วยหรือไม่นั้น
โดย ศิริกัญญา มองว่า เป็นประเด็นหนึ่งที่เราจะต้องมีการพิจารณาว่า จะนำไปอภิปรายในครั้งนี้หรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่า มีความเกี่ยวพันกับหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานในการปฏิบัติโดยที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ต่อผู้ต้องขังเป็นแบบใด
รวมถึงยังมีนโยบายอื่นที่เราคิดว่าน่าจะมีปัญหาเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเกี่ยวกับการจัดการที่ดิน ส.ป.ก.4-01 การทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้น แม้จะยังไม่ถึงตัวรัฐมนตรีแต่อาจจะเป็นข้าราชการระดับสูง แต่เราคงจะมีการหยิบยกขึ้นมาถกเถียง และอภิปราย เพื่อแจ้งให้ทางฝ่ายบริหารให้รับทราบและนำไปสู่การแก้ไขในอนาคต
สำหรับการแก้ไขปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ที่อาจทับซ้อนกับพื้นที่ในหลายหน่วยงานนั้น ศิริกัญญา มองว่า นายกรัฐมนตรีควรเป็นตัวกลางแก้ไข เนื่องจากปัญหาที่เรื้อรังมาจากหลายกระทรวง หลายหน่วยงาน และปัญหานี้สามารถแก้ไขได้โดยการนำเทคโนโลยีมาช่วย โดยเฉพาะวันแมพ ที่เรารอคอยมากว่า 10 ปี แต่ทุกวันนี้ก็ยังใช้วิธีการพูดคุยเพื่อจบปัญหาไปทีละเรื่อง ไปทีละแปลง
ศิริกัญญา กล่าวทิ้งท้ายว่า หากเรามีวันแมพที่จะเป็นแผนที่เดียวทั้งประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ และระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันก็จะจบ และไม่มีปัญหาต่อเนื่อง ยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ขณะนี้กำลังรอท่าทีที่เด็ดขาด แน่วแน่ที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่ แต่ยังไม่ค่อยเห็นจากนายกรัฐมนตรี