หน้าแรก Voice TV ตั้ง ‘วัชรินทร์' นำทีมสอบสวน 'คดีลุงเปี๊ยก' ถูกคลุมถุงดำให้รับสารภาพฆ่าเมียตัวเอง

ตั้ง ‘วัชรินทร์' นำทีมสอบสวน 'คดีลุงเปี๊ยก' ถูกคลุมถุงดำให้รับสารภาพฆ่าเมียตัวเอง

93
0
ตั้ง-‘วัชรินทร์'-นำทีมสอบสวน-'คดีลุงเปี๊ยก'-ถูกคลุมถุงดำให้รับสารภาพฆ่าเมียตัวเอง

เรื่องยังไม่เงียบคดีเข้าพรบ.อุ้มหายฯ อัยการสูงสุดเซ็นตั้ง ‘วัชรินทร์ ภาณุรัตน์’นั่งหัวหน้าชุดกำกับการสอบสวน’คดีลุงเปี๊ยก’ถูกคลุมถุงดำให้รับสารภาพฆ่าเมียตัวเอง หลังดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ

เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา อำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด ออกคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ 373/2567 แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวน กรณี ปัญญา หรือลุงเปี๊ยก คงแสนคำ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีอาญาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พรบ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และความผิดฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง

ด้วยกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเรื่องกรณี ปัญญา ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีอาญาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และอาจเข้าข่ายเป็นความผิด ตาม พรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯไว้เป็นคดีพิเศษที่ 9/2567 ขอให้พนักงานอัยการเข้าตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวน ตามมาตรา 31 ตามกฎหมายดังกล่าว

เเละเนื่องจากการสอบสวนคดีดังกล่าวเป็นคดีสำคัญที่ประชาชนทั่วไป ให้ความสนใจมีผู้ร่วมกระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้การตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวน ตามมาตรา 31 แห่ง พรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 19 ประกอบมาตรา 15 แห่ง พรบ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553

ประกอบ พรบ.ป้องกัน และปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 31 และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2566 ข้อ 23,29และ 30 อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นคณะทำงานและมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการ ดังนี้

  • วัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน เป็น หัวหน้าคณะทำงาน
  • ปรัชญา ทัพทองอัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 5 เป็นรองหัวหน้าคณะทำงาน
  • น้ำแท้ มีบุญสล้าง เลขานุการรองอัยการสูงสุด เป็นคณะคณะทำงาน
  • ธีรัช ลิมปยารยะ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 5 เป็นคณะทำงาน
  • ทักษอร สุวรรณสายะ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 5 คณะทำงาน
  • ร้อยตำรวจเอก สุวรรณสาม คีรีวิเชียร อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 2 คณะทำงาน
  • สุวภัทร ปานคงอัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 3 คณะทำงาน
  • เทพสิทธิ์ เกียรติเดชปัญญา อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 1 คณะทำงานและเลขานุการ
  • บุษยภา เมณฑกา อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 5 คณะทำงานและเลขานุการ

โดยให้มีอำนาจหน้าที่ เข้าดำเนินการตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวนในทันที เพื่อให้เป็นไปตาม พรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2566 และแนวทางปฏิบัติว่าด้วยการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2566 โดยเคร่งครัด เเละแต่งตั้งคณะทำงานย่อยเพื่อสนับสนุนในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะทำงาน เเละให้เลขานุการคณะทำงานรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามคำสั่งนี้ ให้อัยการสูงสุดทราบเป็นระยะ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับคดี ปัญญา หรือลุงเปี๊ยกที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีอาญาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เกิดจากคดีฆาตกรรม บัวผัน ตันสุ หรือป้ากบ หญิงสติไม่ดี วัย 47 ปี ซึ่งเป็นภรรยาของเปี๊ยก เเละเจ้าหน้าที่สถานีตำรวจภูธรอรัญประเทศ จ.สระแก้ว มีการดำเนินคดีกับ ปัญญา ในข้อหาฆาตรกรรมภรรยา โดยตำรวจเเจ้งว่านายปัญญาให้การรับสารภาพ ว่าเป็นคนลงมือฆ่าเเละกระทำด้วยความมึนเมา

ต่อมามีการปรากฎภาพจากกล้องวงจรปิดที่สื่อมวลชนหามาได้จากจุดเกิดเหตุได้เปิดเผยความจริงว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมนางบัวผันเป็นกลุ่มเยาวชน 5 คน ซึ่งในจำนวนนี้มี 2 คนที่เป็นลูกตำรวจใน จ.สระแก้ว ส่งผลให้สังคมตั้งคำถามการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ก่อนหน้านี้มีการเเจ้งข้อหาและฝากขัง ปัญญา จนมีพยานหลักฐานหลุดออกมาว่าที่นายปัญญารับสารภาพเพราะถูกบังคับให้ถอดเสื้อในห้องปรับอากาศเเละคลุมถุงดำ

โดยที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในภาค2 ได้ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เเละออกมาสรุปผลระบุว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจะเป็นความผิดทางวินัยเเละอาญาเเต่ยังไม่เข้าข่ายความผิดตาม พรบ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ จนกระทั่งอัยการสูงสุดมีคำสั่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวนคดีลุงเปี๊ยกในครั้งนี้ตาม พรบ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ฯ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่