หน้าแรก Thai PBS “เศรษฐา” สักการะหลวงปู่ทวดวัดช้างให้ ลั่น ความสงบชายแดนใต้สัญญาณบวก

“เศรษฐา” สักการะหลวงปู่ทวดวัดช้างให้ ลั่น ความสงบชายแดนใต้สัญญาณบวก

85
0
“เศรษฐา”-สักการะหลวงปู่ทวดวัดช้างให้-ลั่น-ความสงบชายแดนใต้สัญญาณบวก

วันนี้ (28 ก.พ.2567) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง พร้อมคณะเดินทางมายังวัดช้างให้ เพื่อสักการะหลวงปู่ทวด และนมัสการพระสุนทรปริญัติวิธาน เจ้าอาวาสวัดช้างให้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่สร้างมาแล้วกว่าหลายร้อยปี ถือเป็นวัดต้นตำรับของ หลวงปู่ทวด เจ้าอาวาสองค์แรกของวัด และ อัฐิของท่านก็ถูกบรรจุไว้ที่วัดแห่งนี้ สำหรับหลวงปู่ทวด ถือเป็นพระเกจิอาจารย์รูปสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เป็นที่รู้จักของชาวไทยทั้งชาวพุทธ ชาวมุสลิม โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณภาคใต้ของไทยตั้งแต่พัทลุง สงขลา ปัตตานี เลยไปถึงไทรบุรีในประเทศมาเลเซีย หลวงปู่ทวดถือว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ในตำนานที่มีผู้ศรัทธาจำนวนมากรูปสำคัญหนึ่งในสองรูปของเมืองไทยคู่กับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) หรือหลวงปู่โตที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้สนทนาธรรมกับพระสุนทรปริยัติวิธาน เจ้าอาวาสวัดช้างให้ ซึ่งทางเจ้าอาวาสได้สอบถามนายกรัฐมนตรีว่าลงมาพื้นที่จังหวัดภาคใต้มีภารกิจอะไรบ้าง โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มาปัตตานี มาดูเรื่องโอกาสมาดูเรื่องวัฒนธรรม เรื่องการท่องเที่ยว เพื่อมาสนับสนุนส่งเสริม ให้พี่น้องประชาชนทราบว่าเราให้โอกาสความเท่าเทียมในภูมิภาคนี้ เชื่อว่าตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วมาจนถึงรัฐบาลนี้ ในเรื่องสันติภาพชัดที่สุด อยู่ในหัวใจของพี่น้องประชาชนทุกคน และเราก็มาในทางที่ถูกต้องแล้ว

เจ้าอาวาส กล่าวตอบว่า การท่องเที่ยวใน 3 จังหวัดนี้มีพร้อม ทะเล ภูเขา ป่าไม้ ญาติโยม อยากจะมาเที่ยว 3 จังหวัด ขออย่างเดียว การท่องเที่ยว จะฟื้น เมื่อเราเกิดความสงบ ถ้าความสงบเกิดขึ้น ปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน การท่องเที่ยวก็พร้อม จึงฝากนายกฯ ทำอย่างไร ให้ความปลอดภัย กับชีวิตทรัพย์สิน

เจ้าอาวาสฯ กล่าวว่า ในเรื่องวัฒนธรรม ที่ อ.ยะรัง อยากให้ ฟื้นฟูลังกาสุกะ เป็นที่โบราณ ซึ่งนายทวี สอดส่อง รู้ดี เป็นสถานที่สำคัญ เป็นวัตถุโบราณ ถ้าได้รื้อฟื้น ญาติโยมก็จะมาดูวัดโบราณกันเยอะ ให้โอกาสรื้อฟื้นพัฒนา เพื่อเชิดหน้าชูตาจังหวัดปัตตานี เป็นมรดกทางวัฒนธรรมหรือเป็นมรดกโลกก็ว่าได้ 

เจ้าอาวาสได้ย้ำให้ นายกรัฐมนตรี ช่วยดูแลลังกาสุกะ ให้ฟื้นขึ้นมา เชื่อว่า ปัตตานี ยะลา นราธิวาส จะมีการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ พ.ต.อ.ทวีไปดูแลต่อ

ด้านนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องความสงบมั่นใจฝ่ายความมั่นคงได้ดำเนินการควบคู่ไปกับเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและมีความคืบหน้าในทิศทางที่เป็นบวกมากในระยะ 1- 2 ปีที่ผ่านมา สำหรับเรื่องเศรษฐกิจตนน้อมรับไปทำต่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยว วัฒนธรรม หรือการประมงที่เป็นหัวใจของพี่น้องชาวสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราได้มีการแก้กฎหมาย ซึ่งพระราชบัญญัติประมงก็ได้เสนอเข้าสภาฯไปแล้ว รัฐบาลนี้ตระหนักดีและพยายามแก้ไขพัฒนา หวังว่าคงมีทิศทางบวกในเร็วๆ นี้

อ่านข่าว : นายกฯ เยี่ยมมัสยิดกรือเซะ ชาวบ้านร้องแก้เศรษฐกิจ-การค้า

นายกฯ ชื่นชมอุทยานการเรียนรู้ยะลา ชุมทางสู่ภาคีเมืองแห่งการเรียนรู้ยูเนสโกปี 2567

นายเศรษฐา แสดงความชื่นชมและประทับใจอุทยานการเรียนรู้ยะลา ที่เป็นจุดนัดพบของความร่วมแรงร่วมใจของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในพื้นที่ และสถาบันความรู้ ซึ่งผลักดันให้นครยะลาเป็นนครแห่งการเรียนรู้ และได้รับการขึ้นทะเบียนเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกประจำปี 2567 ในโอกาสเดินทางตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และเยี่ยมชมอุทยานการเรียนรู้ยะลา โดยมีคณะผู้บริหารเทศบาลนครยะลา และสมาชิกสภาเทศบาลนครยะลา ตลอดจนประชาชนนครยะลาให้การต้อนรับ

โอกาสนี้ นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา จ.ยะลา กล่าวว่า การดำเนินงานทั้งหมดของเทศบาลนครยะลา เป็นไปเพื่อมุ่งขับเคลื่อนยะลาไปสู่เมืองแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง โดยเชื่อมโยงความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด เพื่อยกระดับทุนมนุษย์ในพื้นที่

แนวทางการขับเคลื่อนยะลาสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ กระทั่งประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่งเมื่อยูเนสโกขึ้นทะเบียนเทศบาลนครยะลา เป็นภาคีเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ปี 2567 เป็นการต่อยอดขยายผลส่วนหนึ่งมาจากองค์ความรู้จากการวิจัยโครงการวิจัยเรื่อง ยะลาเมืองแห่งการเรียนรู้ : กระบวนการสร้างสรรค์เมืองแบบมีส่วนร่วมบนความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ร่วมกับกลุ่มเยาวชน ชาวเมืองยะลา และเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ และโครงการวิจัยการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อยกระดับเศรษฐกิจด้วยสถาปัตยวัฒนธรรมผ่านพื้นที่การเรียนรู้เมืองเก่ายะลา

รวมทั้งโครงการวิจัยสานพลังเครือข่ายการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อส่งเสริมการรู้หนังสือของนักเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา โดยคณะวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเมืองที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก หรือองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization-UNESCO ) รวมทั้งสิ้น 10 เมือง ได้แก่ เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครภูเก็ต เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา จ.สุโขทัย จ.พะเยา เทศบาลนครหาดใหญ่ กรุงเทพมหานคร เทศบาลนครขอนแก่น และเทศบาลนครยะลา

เชื่อยะลามีศักยภาพไม่แพ้จังหวัดอื่น ย้ำรัฐพร้อมส่งเสริมสนับสนุน

นายกรัฐมนตรี ได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักเรียน​โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง เขต​เทศบาลนครยะลา​ โดยตัวแทนนักเรียนได้ขอสนามบินให้กับชาวยะลา หลังจากนั้นนักเรียนได้มีการตั้งคำถามถึงนายกรัฐมนตรีว่า คนที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้รับโอกาสทางการศึกษาเหมือนกับประชาชนในพื้นที่อื่น ๆ หรือไม่​ นายกฯ กล่าวว่า เป็นคำถามที่ฟังแล้วน่าคิด คนที่อยู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้​ ไม่ได้หมายความว่า​จะไม่ได้รับสิทธิ ไม่​ได้รับโอกาสเท่าเทียมจากคนที่อยู่จังหวัดอื่น นี่คือความคิดพื้นฐาน เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่ต้องให้เยาวชนทุกคนที่อยู่ในทุก ๆ ภูมิภาคมีสิทธิความเท่าเทียมเพื่อสามารถเข้าถึงโอกาสได้

ขณะเดียวกัน มีการเสนอให้รัฐบาลของนายกฯ ทำให้ประชาชนลดความเหลื่อมล้ำ อยากให้ยะลาเป็นเมืองท่องเที่ยวมีชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว พร้อมกับถามนายกรัฐมนตรีว่า​ นายกรัฐมนตรีมีความฝันใดในขณะที่อายุเท่ากับพวกเรา นายกฯ กล่าวว่า สิ่งที่ได้อธิบายมาหลาย ๆ เรื่องขึ้นอยู่กับความฝันและแรงบันดาลใจของเยาวชน​

วันนี้​ตนเองมาในฐานะรัฐบาล หน้าที่ของตนเองคือใครฝันอยากเป็นอะไร​ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องสานฝันให้ทุกท่าน​เข้าถึงโอกาสได้​ ได้รับการสนับสนุนอย่างเสมอภาคเท่าเทียม เพื่อให้เป็นจุดที่ทุกคนมีความฝันที่อาจจะเป็นหลายๆ อย่างที่บอกมาอยู่ในแผนงานของรัฐบาลอยู่แล้ว​ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสนามบินยะลา การส่งเสริมการท่องเที่ยว การเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม​

ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรียังระบุว่า ที่นี่ไม่ได้มีศักยภาพน้อยไปกว่าจังหวัดอื่นที่​ตนเองเดินทางไปมา ที่นี่มีครบหมดทุกอย่างมีเรื่องงบประมาณที่จะต้องสนับสนุนให้ บางเรื่องเกี่ยวข้องกับปริมาณความต้องการซื้อและความต้องการขาย ทั้งเรื่องของสนามบิน และเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้​ ที่นี่จะสามารถมีสนามบินได้​ ใช้ชีวิตอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี​ มีความต้องการของนักท่องเที่ยวทั่วโลก​ที่อยากจะเดินทางมา

อ่านข่าวอื่นๆ :

“เศรษฐา” ลงพื้นที่ต่อเนื่อง “ร้อยเอ็ด – กาฬสินธุ์” ติดตามแก้ปัญหาน้ำ 

จับกระแสการเมือง วันที่ 27 ก.พ. 2567 :”บังนิด” นายกฯ ขวัญใจประชาชน “ทักษิณ” อดีตนายกฯ ในดวงใจ เพื่อไทยคอนเฟิร์ม

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่