วันนี้ (1 มี.ค.2567) นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สส.อยุธยา พรรคก้าวไกล แถลงข่าวถึงกรณีโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสถานีอยุธยาว่า ขอชี้แจงประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมยืนยันด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า ตนเห็นด้วยอย่างยิ่งกับโครงการรถไฟความเร็วสูง และเห็นด้วยอย่างมากที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ต้องมีทางรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูง
อ่านข่าว : เตรียมก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง จ.พระนครศรีอยุธยา มี.ค.นี้
แต่ที่จะเน้นย้ำ คือ คนต้องการให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พัฒนาการสัญจรของประชาชนโดยใช้ระบบรางเป็นหลัก โดยต้องเชื่อมต่อกับขนส่งสาธารณะเส้นเลือดฝอยในแต่ละพื้นที่ของอยุธยาได้
ดังนั้นจึงอยากฝากคำถามถึงนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ทั้งหมด 5 ข้อ ดังนี้
1.หากต้องการอนุรักษ์ควบคู่กับการพัฒนา การประเมินรายงานการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก หรือ Heritage Impact Assessment (HIA) ยังไม่ผ่านในชั้นพิจารณาก่อนจะส่งต่อให้สหประชาชาติ แต่สัญญาว่าจ้าง (TOR) กำหนดให้ทำการประเมิน HIA เพียงทางเลือกเดียวและไม่มีทางเลือกอื่น ก.คมนาคมจะมีแนวทางทางเลือกอื่นหรือไม่ อย่างไร
อ่านข่าว : กรมศิลปากร ห่วงสถานีรถไฟความเร็วสูงกระทบมรดกโลกอยุธยา
นายทวิวงศ์ กล่าวว่า 2.จากการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่าจะต้องมีการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะ (TOD) แต่การประเมินผลกระทบ HIA มีแต่การประเมินตัวสถานีและรางเพียงเท่านั้น แล้วจะทำให้องค์การสหประชาชาติเห็นในความจริงใจในการอนุรักษ์มรดกโลกได้อย่างไร
3.ขอให้กระทรวงคมนาคมชี้แจงให้ประชาชนทราบชัดเจนว่า การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วง กรุงเทพ-นครราชสีมา ที่ระบุว่าจะแล้วเสร็จในปี 2571 แต่ขณะนี้มีการขยายเส้นทางเพิ่ม แบบนี้จะสามารถเปิดให้ท่านกำหนดเวลาหรือไม่
อ่านข่าว : แจงรถไฟความเร็วสูงไม่กระทบ “มรดกโลกอยุธยา” ไม่เวนคืนที่ดิน
4.รายงาน HIA ที่การรถไฟฯ ทำขึ้นมานั้น ชี้ให้เห็นว่า มีความเสี่ยงต่อการถูกถอดถอนมรดกโลก และทำให้อดกังวลไม่ได้จะมีผลกระทบในระหว่างการก่อสร้างรวมถึงหลังจากสร้างเสร็จแล้วหรือไม่ ที่สำคัญคืออาจจะถูกถอดถอนออกจากมรดกโลก น่าจะทำให้ไม่มีรถไฟมาวิ่งผ่านอีกด้วย หากเกิดขึ้นจริงจะมีบุคคลใดมารับผิดชอบ ต่อความเดือดร้อนของพี่น้องชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
5.กระทรวงคมนาคม จะแก้ปัญหาผลการประเมิน HIA ที่แสดงถึงผลกระทบเชิงลบในระดับสูง เพราะหากผ่านแล้วจะกลายเป็นมาตรฐานในการประเมินให้พื้นที่มรดกอื่น
หากเป็นเช่นนั้น แสดงว่า ก.คมนาคม กำลังบอกว่า การก่อสร้างห่างจากอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ถึง 1.5 กม.นั้น แต่ไม่มีการพูดถึงมรดกของชาติไทยที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีการก่อสร้างสถานีเลย ซึ่งถูกเรียกว่าเมืองอโยธยา
อ่านข่าว : ผู้ว่า รฟท.ติดตามความก้าวหน้าออกแบบสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา
หากเป็นเช่นนั้น เราจะเกิดเป็นมาตรฐานการอนุรักษ์ที่แตกต่างกันระหว่างมรดกของโลกและมรดกของชาติไทย นั่นอาจทำให้ตีความได้ว่ามรดกของชาติไทยเรานั้นมีคุณค่าน้อยหรือเท่าเทียมกับมรดกของโลกอย่างนั้นหรือ ด้วยความที่มรดกโลกในประเทศมีอยู่จำนวนเพียงแค่หยิบมือ แต่มรดกของชาติไทยกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศไทย
ผมจึงขอตั้งคำถามด้วยความห่วงใยและความหวงแหนที่มีต่อจิตวิญญาณบรรพชนคนอยุธยา ว่าท่านจะทำอย่างไรกับมาตรฐานการอนุรักษ์ อย่ามัดมือชกชาวอยุธยา ขอให้ชาวอยุธยาได้มีส่วนร่วมในการออกแบบและการพัฒนาเมืองครั้งนี้ อย่ามัดมือชกคนอยุธยาทำให้ไม่สามารถกำหนดอนาคตกำหนดการออกแบบ และการออกแบบคุณภาพชีวิตของตนเองได้
เมื่อถามว่า ภาพรวมขณะนี้ เหมือนเป็นการคัดค้าน นายทวิวงศ์ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จ.พระนครศรีอยุธยา จะมีรถไฟความเร็วสูงและเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องพัฒนาการสัญจร โดยใช้ระบบรางเป็นหลัก แต่เชื่อมต่อกับขนส่งสาธารณะเส้นเลือดฝอยที่ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ
แต่ที่ออกมาชี้แจง เพราะการก่อสร้างและการกลัดกระดุมเม็ดแรกของโครงการรถไฟความเร็วสูงที่สถานีอยุธยา ตั้งแต่เริ่มต้นเดิมทีไม่มีความเห็น ไม่มีการมีส่วนร่วมของพี่น้องชาวอยุธยา ไม่มีข้อเสนอแนะแนวทางเลือกให้ชาวอยุธยาได้ช่วยกันพัฒนา
อ่านข่าวอื่น ๆ
โปรดเกล้าฯเวนคืนที่ดิน “กทม.-ปทุมฯ-อยุธยา-สระบุรี -โคราช” สร้างรถไฟความเร็วสูง