‘กมธ.ต่างประเทศ’ หารือพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ย้ำ เจรจาตามกรอบเอ็มโอยู 44 ต้องยึดผลประโยชน์ประเทศ
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 29 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุม ว่า กมธ.ได้หารือ เรื่องพื้นที่ซับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา (OCA) เพื่อติดตามความคืบหน้าการเจรจา โดยมีการเชิญตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน, กระทรวงการต่างประเทศ, สภาความมั่นคงแห่งชาติ, คุณสนธิสัญญาและกฎหมาย, สภาหอการค้าไทย เป็นต้น เข้าร่วมประชุม ซึ่งเราทราบจากกระทรวงการต่างประเทศว่า กรอบเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลได้ยึดตาม MOU 2544 ที่เป็นเครื่องมือนำไปสู่การเจรจา โดยไทยจะไม่เสียประโยชน์ ซึ่งตาม MOU 2544 การเจรจาเรื่องพื้นที่ซับซ้อนทางทะเลและเขตพัฒนาร่วม จะต้องเจรจาควบคู่กันไปแยกกันไม่ได้
นพดล กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องกระทำผ่านกลไกคณะกรรมการร่วมมือทางเทคนิคไทย-กัมพูชา หรือจีทีซี ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการเจรจาระหว่างสองประเทศ โดยประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศด้านความมั่นคง และอื่นๆ สามารถเชื่อมั่นได้ว่าหน่วยงานรับผิดชอบจะรักษาประโยชน์ของประเทศเป็นหลักและไม่เสียสิทธิด้านเขตแดนตามที่มีการบิดเบือนในสื่อต่างๆ แต่ในขณะนี้ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการจีทีซี จึงยังไม่มีการเจรจาอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด ดังนั้น ที่มีการเสนอข่าวว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้หารือประเด็นเรื่องผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนกับสมเด็จฯ ฮุน เซน จึงไม่เป็นความจริง
นพดล กล่าวด้วยว่า ส่วนประเด็นเรื่องเกาะกูดนั้น ประเทศไทยยังถือว่าเกาะกูดเป็นของไทย MOU 44 ไม่ได้ยอมรับเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลที่ลากโดยกัมพูชา ซึ่งแตกต่างจากเส้นที่ลากโดยไทย ฉะนั้น จึงต้องเจรจาเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลกันต่อไป และที่มีการบิดเบือนว่า MOU 44 เป็นการยอมรับเส้นเขตแดนของกัมพูชานั้น จึงไม่เป็นความจริงเช่นกัน ทั้งนี้ ตัวแทนหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยต่างสนับสนุนให้รัฐบาลไทยเจรจากับกัมพูชา เพื่อนำพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน และหวังลดค่าครองชีพให้ประชาชน ไม่ให้กระทบสิทธิทางด้านเขตแดนและผลการเจรจานั้นจะต้องได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย
“ขอตั้งคำถามว่าหาก MOU 44 ไม่ดี หรือหากการเจรจาจะเป็นผลประโยชน์ต่อคนใดคนหนึ่ง กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย, กรมแผนที่ทหาร, สภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน เขาไม่ยอมหรอก ฉะนั้น ขอให้พี่น้องประชาชนสบายใจได้“ นพดล กล่าว
เมื่อถามว่า MOU 44 มีความสำคัญอย่างไรในเชิงการค้า นายนพดล กล่าวว่า เราต้องยอมรับว่า เรื่องพื้นที่ทับซ้อนทะเลไทย-กัมพูชา เป็นเพียงหนึ่งในประเด็นความสัมพันธ์ทวีภาคีระหว่างไทยกับกัมพูชา เรายังมีความร่วมมือเรื่องการปราบปรามการค้ามนุษย์ คนเข้าเมือง แรงงาน ซอฟต์พาวเวอร์ ท่องเที่ยวที่จะต้องมีการเจรจากันต่ออย่างสันติวิธีโดยวิถีทางการทูต บรรยากาศทั้งสองประเทศ ขณะนี้ดีขึ้นมาก ฉะนั้น จึงคิดว่าการระงับข้อพิพาทในเรื่องนี้ทางการทูตจะดีที่สุด ซึ่งเมื่อสามารถเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนได้จะนำไปสู่การแบ่งปันผลประโยชน์ทางไนโตรคาร์บอนเอ็นเนอจี
เมื่อถามว่า คาดว่าจะเสร็จภายในรัฐบาลนี้หรือไม่ นายนพดล กล่าวว่า เอาใจช่วยรัฐบาลนี้และอยากให้เจรจาเสร็จเร็วที่สุด เรื่องการเสร็จหรือไม่นั้น ไม่ใช่ประเด็น แต่ต้องเสร็จแล้วทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงต้องไม่กระทบเรื่องสิทธิด้านเขตแดนของไทยด้วย เอาใจช่วย หากรัฐบาลนี้ครบ 4 ปีก็เป็นไปได้
///