ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยดัชนี KR-ECI เดือน ก.พ. ทรงตัว – ครัวเรือนกังวลภาระหนี้-ค่าครองชีพสูง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือน ก.พ.67 ทรงตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ 38.9 จาก 38.8 ในเดือน ม.ค. 67 โดยองค์ประกอบของดัชนีฯ ส่วนใหญ่ยังทรงตัวหรือปรับลดลงเล็กน้อยโดยเฉพาะด้านราคาสินค้าที่ยังสะท้อนความกังวลของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น จากการทยอยปรับลดการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศลง ขณะที่ครัวเรือนยังมีความกังวลด้านภาระหนี้อยู่
ดัชนีฯ 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงเล็กน้อยที่ 40.3 จาก 40.5 จากความกังวลของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวเดือน เม.ย.67 (วันสงกรานต์) ที่อาจมีมากขึ้น อาทิ ค่าเดินทาง ท่องเที่ยว หรือสังสรรค์
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สอบถามครัวเรือนเพิ่มเติมเกี่ยวกับระดับความกังวลที่มีต่อภาระหนี้ในขณะนี้พบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่ 59.1% ระบุว่า ยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาระหนี้สินอยู่ แต่ยังสามารถทยอยชำระคืนได้ และครัวเรือนอีก 29.0% ไม่มีความกังวลเนื่องจากหนี้อยู่ในระดับต่ำมาก ขณะที่ครัวเรือนที่เหลือ 11.9% มีความกังวลมากเพราะหนี้อยู่ในระดับสูงเกินกว่าที่จะสามารถชำระคืนได้ อย่างไรก็ดี เมื่อสอบถามครัวเรือนถึงมุมมองที่มีต่อภาระหนี้ในปี 2567 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าพบว่า ครัวเรือน 61.9% มีมุมมองว่าภาระหนี้จะเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าและบริการที่อยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยที่มีผลมากที่สุด (53.4%) รองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นที่เพิ่มขึ้น อาทิ ด้านการศึกษา และสุขภาพ (21.3%) นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้ภาระหนี้เพิ่มขึ้น ได้แก่ รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย และครัวเรือนมีแผนการซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูงในปีนี้ เช่น รถยนต์ เป็นต้น
สำหรับดัชนีภาวะการครองชีพของครัวเรือนในปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะฟื้นตัวได้ช้าลง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ชะลอลง ประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สภาพอากาศที่แปรปรวน และแนวโน้มการอุดหนุนราคาพลังงานจากภาครัฐที่ลดลง ขณะที่มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐที่จะมาช่วยหนุนกำลังซื้อของครัวเรือนในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ก็มีความเป็นไปได้ที่อาจไม่เกิดขึ้นหรือล่าช้าออกไป ทั้งนี้ ดัชนีฯ ไตรมาสที่ 2/2567 มีแนวโน้มปรับลดลงเนื่องจากค่าใช้จ่ายครัวเรือนมีทิศทางเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลหยุดยาว ท่ามกลางกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมยังขาดแรงหนุนจากภาครัฐจากงบประมาณประจำปี 2567 ที่ล่าช้า