วันนี้ (12 มี.ค.2567) นายวีระ หวังสัจจะโชค ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ประเมินผลงานรัฐบาล 6 เดือน ว่า รัฐบาลชุดนี้มีทั้งความน่าเสียดาย และความผิดหวังในตัวของตัวเอง จุดแข็งในช่วง 6 เดือน คือการเดินทางไปประเทศต่างๆ เพื่อดึงการลงทุน โดยให้เกรดระดับ A เพราะถือว่าเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลในช่วง 8 ปีหลังรัฐประหาร
แม้ว่าจุดแข็งของรัฐบาลคือการเดินทางไปยังประเทศต่างๆ จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่เมื่อมาเป็นนโยบายในประเทศอาจจะเป็นปัญหา
ในเรื่องงบประมาณ 2567 แม้จะยังไม่ผ่าน แต่รัฐบาลไม่สามารถอ้างได้ว่าไม่มีงบประมาณเพราะทุกวันนี้ยังใช้งบประมาณอยู่ กลายเป็นเรื่องของความเชื่อใจมากกว่าที่ประชาชนอาจจะรู้สึกว่ารัฐบาลชุดนี้ยังไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันในเรื่องนโยบายภายในประเทศ ไม่ว่าเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต หรือ ซอฟต์พาวเวอร์ รวมถึง แลนด์บริดจ์ ซึ่งจะโทษที่นายกรัฐมนตรีทั้งหมดก็ไม่ได้ เพราะตัวนายกฯขยัน แต่ดูเหมือนว่าองคาพยพ ไม่ร่วมสนับสนุนการทำงาน เพราะการจับมือกับพรรคการเมืองที่มาจากหลายกลุ่มหลายฝ่าย หลายอุดมการณ์ ทำให้นโยบายของนายกฯ อาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่
นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ มีหลายเรื่องที่เริ่มทำแล้ว แต่ไม่อยากให้นโยบายไหนมีเกินหน้าซอฟต์พาวเวอร์ได้
เป็นสะพานที่ส่งต่อให้หัวหน้าเพื่อไทย จึงทำให้ไม่มีนโยบายไหนเกินหน้าได้ ทั้งที่มีหลายนโยบายของรัฐบาลได้เริ่มทำไปแล้ว
อิทธิพลของพรรคเพื่อไทย หัวหน้าพรรค รวมถึงพ่อของหัวหน้าพรรคอาจจะมีอิทธิพลสูงกว่าตัวนายกฯ ในการทำนโยบาย
ผศ.วีระ ยังกล่าวว่า นายกฯ ยังคงมีคนเดียว แต่ไม่สามารถตัดสินใจทุกเรื่องได้ ส่วนนายกฯ จะไปเจอนายทักษิณ ชินวัตร ที่เดินทางไปเชียงใหม่ช่วงวันที่ 14 – 16 มี.ค.นี้หรือไม่นั้น ตัวนายกฯ เองไม่สามารถตัดสินใจได้ แต่การตัดสินใจได้มาจากพรรคเพื่อไทย และตัวนายทักษิณ
สำหรับการบริหารจัดการแผนงาน รวมถึงการถอดบทเรียน 6 เดือน ที่ช่องโหว่ในอำนาจการกำกับของนายกฯ นั้น ผศ.วีระ มองว่า อันดับแรกนายกฯ จะต้องคุยกับนักการเมืองที่อยู่ในรัฐสภาให้มากยิ่งขึ้น โดยนายกฯ อาจมองตัวเองเป็นผู้บริหารคล้ายๆ กับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่แยกตัวเองออกจากรัฐสภาได้
แต่สำหรับประเทศไทยเป็นระบบรัฐสภา ตัว สส.ที่อุ้มรัฐบาลอยู่ในสภา เพราะฉะนั้นนายกฯ จะต้องมาคุยกับ สส.มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย หรือพรรคร่วมรัฐบาล ให้สนับสนุนนโยบายที่นายกฯ ทำ แต่อาจจะมีกำแพงใหญ่ในพรรคเพื่อไทยที่ไม่ไว้วางใจที่อาจทำให้นายกฯ เข้ามาดูแลนักการเมืองในพรรคได้ไม่เต็มที่
ทั้งนี้เพื่อไทยกระแสดีอยู่แล้ว แต่อาจจะต้องมีการปรับ ครม. บางตำแหน่ง เพื่อจะให้คนของนายกฯ ได้เข้ามาช่วยดูแลงานบริหาร ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสมอาจจะเป็นช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้
อ่านข่าวอื่นๆ :
“เลือกกันเอง” ที่มา สว.ชุดใหม่ ครั้งแรกการเมืองไทย
ผบ.ทบ.ถกผู้นำหน่วย แนะปรับตัว-โครงสร้างกองทัพ รับมือโลกเปลี่ยน
เปิดชื่อ สว.จองกฐินซักฟอกรัฐบาล 7 ด้าน ดิจิทัลวอลเล็ต – คดี “ทักษิณ”