หน้าแรก Voice TV สว.ชุดใหม่จะได้เห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ 2 คนปลายปี 67

สว.ชุดใหม่จะได้เห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ 2 คนปลายปี 67

89
0
สว.ชุดใหม่จะได้เห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่-2-คนปลายปี-67

250 สว.ที่คสช.สรรหากำลังจะหมดวาระลงเดือน พ.ค. และต้องเปิดให้ประชาชนสมัครสว.ชุดใหม่แล้วเลือกกันเอง 3 ระดับ อำเภอ จังหวัด ประเทศ เพื่อได้สว. 200 คน เรื่องนี้กำลังเป็นที่จับตา คนจำนวนมากเตรียมลงสมัคร ขณะที่ช่วงปลายปี จะมีตุลาการศาล รธน.หมดวาระ 2 คนพอดี และสว.ชุดใหม่จะได้มีโอกาสพิจารณาในขั้นสุดท้าย

สถานะของตุลาการปัจจุบัน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน 7 คน มีข้อสังเกตดังนี้

  • นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการที่เพิ่งได้รับโหวตจากที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญให้นั่งประธาน เมื่อ 10 ม.ค.67 แทนวรวิทย์ กังศศิเทียม ที่หมดวาระ อยู่ในขั้นตอนรอการโปรดเกล้าฯ
  • สุเมธ รอยกุลเจริญ คือตุลาการคนใหม่ที่วุฒิสภาเพิ่งโหวตรับรองเมื่อ 12 ธ.ค.66 อยู่ในขั้นตอนรอโปรดเกล้าฯ
  • มีตุลาการ 2 คน ที่จะหมดวาระในเดือน พ.ย.67 นี้คือ นครินทร์ และปัญญา อุดชาชน ซึ่งทั้งคู่ได้รับแต่งตั้งจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปี 2558 ส่วนที่เหลือ 5 คนซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดย 250 สว.ที่สรรหาโดย คสช.นั้น จะหมดวาระในปี 2570
  • ขณะที่ปลายปี 2567 จะมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหมดวาระ 2 คน ช่วงกลางปี 2567 ในเดือนพฤษภาคม สว.250 คนที่แต่งตั้งโดยคสช.ก็จะหมดวาระเช่นกัน และจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่โดยอ้อมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด คาดว่าใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนจะได้ สว.ชุดใหม่ที่จะเป็นผู้โหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบขั้นสุดท้ายสำหรับตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 ตำแหน่งที่หมดวาระลง 
  • การเลือกตั้ง สว.กลางปีนี้เป็นที่จับตาของสังคมอย่างมาก เนื่องจากเปิดให้ผู้สนใจและมีคุณสมบัติตรงตามกฎหมายสามารถสมัครเพื่อคัดเลือกกันเองได้ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด ไปจนถึงระดับประเทศ เพื่อเฟ้นหาสว.ใหม่ 200 คน ที่จะมาทำหน้าที่และมีบทบาทหลายอย่างในทางการเมือง

วาระตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

  • แม้ไม่มีอำนาจโหวตนายกฯ แล้ว แต่อำนาจหน้าที่ของ สว.(ชุดใหม่) ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ยังมีอีกมาก เช่น 

-โหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

-โหวตร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) 

-พิจารณากฎหมายทั่วไป, ร่างกฎหมายงบประมาณ, อนุมัติพระราชกำหนด 

-ให้ความเห็นชอบบุคคลในหลายองค์กร เช่น กกต. ป.ป.ช. อัยการสูงสุด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน, ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 

-ตั้งกระทู้ถามรัฐบาล

-เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ 

ประวัติศาสตร์ศาลรัฐธรรมนูญโดยย่อ
  • ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ เป็นองค์กรที่มีบทบาททางการเมืองสูง และทำให้ถูกตั้งคำถามมากเช่นกัน ในวาระที่จะมี สสร.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่อันใกล้ การจัดวางที่ทางขององค์กรแห่งนี้จึงน่าถกอภิปราย 
  • ศาลรัฐธรรมนูญ เกิดเป็นรูปเป็นร่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 ท่ามกลางกระแสปฏิรูปการเมือง มีการออกแบบให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งไปพร้อมๆ กับระบบการตรวจสอบที่เข้มข้น
  • ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่หลักในการดู ‘กฎหมาย’ และ ‘การกระทำขององค์กรต่างๆ’ ว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
  • ก่อนหน้านั้น ประเทศไทยก็มีองค์กรทำหน้าที่ลักษณะเหมือนกัน แต่ไม่ใช่รูปแบบของศาล  

-รัฐสภา ทำหน้าที่ตีความรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงปี 2489

-ศาลยุติธรรม เป็นระบบเช่นเดียวสหรัฐอเมริกา แคนาดา คิวบา ญี่ปุ่น ฯลฯ ไทยเคยใช้ระบบนี้ช่วงปี 2489

-ตุลาการรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรกึ่งการเมือง ลักษณะเช่นเดียวกับฝรั่งเศส เกาหลี ฯลฯ รัฐธรรมนูญไทย ปี 2534, 2539 ใช้ระบบนี้ องค์ประกอบคือ ประธานรัฐสภา, ประธาานวุฒิสภา, ประธานศาลฎีกา, อัยการสูงสุด

  • นับตั้งแต่เริ่มมีศาลรัฐธรรมนูญ ประเทศไทยเปลี่ยนรัฐธรรมนูญแล้ว 3 ฉบับ ทั้ง 3 ฉบับกำหนดรายละเอียดศาลรัฐธรรมนูญไว้แตกต่างกันไล่เรียงจาก ปี 2540 2550 และ 2560 ดังนี้
  • จำนวน 15 คน/ 9 คน/ 7 คน
  • วาระดำรงตำแหน่ง 9 ปี/  7 ปี/  7 ปี 
  • เพดานอายุ 70 ปี/  70 ปี/  75 ปี 
  • ที่มา สว.ผู้อนุมัติสุดท้าย   เลือกตั้งล้วน/ เลือกตั้ง+สรรหา/ สรรหาล้วน
  • สัดส่วนโควตา มีรายละเอียดดังนี้

รัฐธรรมนูญ 2540 : รวม 15 คน

5 ผู้พิพากษาศาลฎีกา

2 ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

5 ผู้ทรงคุณวุฒิสายนิติศาสตร์

3 ผู้ทรงคุณวุฒิสายรัฐศาสตร์ 

รัฐธรรมนูญ 2550 : รวม 9 คน

3 ผู้พิพากษาศาลฎีกา

2 ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

2 ผู้ทรงคุณวุฒิสายนิติศาสตร์

2 ผู้ทรงคุณวุฒิสายรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น

รัฐธรรมนูญ 2560 : รวม 7 คน

​3 ผู้พิพากษาศาลฎีกา

2 ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

2 ผู้ทรงคุณวุฒิสายราชการ

1 ผู้ทรงคุณวุฒิสายนิติศาสตร์

1 ผู้ทรงคุณวุฒิสายรัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ 

  • ข้อสังเกตเรื่องสัดส่วน หากแยกหยาบๆ แบ่งสายศาลกับสายผู้ทรงคุณวุฒิ สัดส่วนสายศาลเพิ่มขึ้นเกินครึ่งในช่วงหลัง จาก 7:8 เป็น 5:4  ขณะที่สายผู้ทรงคุณวุฒิแบ่งเป็นสายนิติศาสตร์กับรัฐศาสตร์ รัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดไว้จำนวนมาก ต่อมารัฐธรรมนูญ 2550 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ล่าสุด รัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งสองสายเหลืออย่างละเพียง 1 คน และเพิ่มสายข้าราชการซึ่งไม่มีในรัฐธรรมนูญอื่นมา 2 คน
  • แล้วใครเป็นผู้สรรหาตุลาการจากสายต่างๆ ก่อนที่ สว.จะเป็นผู้ไฟเขียว-ไฟแดงในขั้นสุดท้าย คำตอบก็คือ ‘คณะกรรมการสรรหา’ ซึ่งประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา, ประธานศาลปกครองสูงสุด, ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ผู้นำฝ่ายค้าน และตัวแทนที่องค์กรอิสระแต่งตั้ง
  • ข้อสังเกตที่น่าสนใจของกรรมการสรรหาคือ
  • ในรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่มีตัวแทนจากองค์กรอิสระ รัฐธรรมนูญ 2550 ให้มีตัวแทนองค์กรอิสระ 1 คน, รัฐธรรมนูญ 2560 มีตัวแทนองค์กรอิสระแห่งละคน รวมเป็น 5 คน
  • รัฐธรรมนูญ 2540 ให้มีตัวแทนของทุกพรรคการเมืองตามสัดส่วนที่นั่งในสภา และมีคณบดีจากสถาบันการศึกษาร่วมเป็นกรรมการสรรหาด้วย เรียกได้ว่าเปิดกว้างกว่าปัจจุบันที่อยู่ในแวดวงศาลและองค์กรอิสระเป็นหลัก
  • ความยาวนานของการดำรงตำแหน่งก็น่าสนใจ จากเดิม 9 ปี เหลือ 7 ปี แต่ก็มีตุลาการ 5 คนที่ดำรงตำแหน่งถึง 12 ปี คือ นุรักษ์ มาประณีต, ชัช ชลวร, บุญส่ง กุลบุปผา, อุดมศักดิ์ นิติมนตรี และจรัญ ภักดีธนากุล ตั้งแต่ 2551-2563 นั่นเพราะมีรัฐประหาร 2557 มาคั่น และ คสช.ได้ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 24/2560 ระงับการสรรหาตุลาการที่หมดวาระและให้คนเดิมทำหน้าที่ต่อ จนกระทั่งมีรัฐธรรมนูญ 2560 และ พ.ร.ป.ออกมาจึงเริ่มกระบวนการปกติ ซึ่งขั้นตอนการสรรหาก็เป็นไปอย่างล่าช้า
  • ตุลาการทั้ง 5 คนที่ครองตำแหน่งนานพิเศษดังกล่าว มีบทบาทในการตัดสินคดีสำคัญทางการเมือง เช่น ตัดสินคดีทั้งยุบพรรคพลังประชาชน ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ยุบพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งการสั่งให้การเลือกตั้งปี 2557 เป็นโมฆะ

*รวบรวมข้อมูลจาก iLaw, สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, สถาบันพระปกเกล้า และรายงานข่าวจากสื่อหลายสำนัก

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่