‘ภัสราวลี-ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน’ ย้ำนิรโทษกรรมต้องครอบคลุมคดี ม.112 ไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อให้มีประสิทธิภาพจริง เผย ‘อานนท์’ ฝากข้อความจากเรือนจำ ชี้ต้องดูเจตนาคนยัดคดี
วันที่ 14 มี.ค.ที่อาคารรัฐสภา พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพร้อมด้วย ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เดินทางเข้าให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการออกกฎหมายนิรโทษกรรม
โดย พูนสุข กล่าวว่า ศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชนได้เก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2557 – 2562 มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีที่ศาลทหารแล้ว 2,400 คน และหลังจากยกเลิกศาลทหาร ก็มีในศาลยุติธรรมอีกหลายร้อยคน ซึ่งคดีที่ยังมีความเคลื่อนไหวและเป็นที่สนใจมากที่สุดขณะนี้ก็คือคดีเกี่ยวกับการชุมนุมตั้งแต่กรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา ซึ่งมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองแล้ว 1,957 คน และมีตัวเลขเพิ่มขึ้นทุกเดือน แม้จะไม่มีการชุมนุม ซึ่งคดีที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการ โพสต์ข้อความในทางออนไลน์ และคดีมาตรา 112
ดังนั้น เราจึงคิดว่าประเด็นสำคัญที่จะนำมาพูดคุยกันในวันนี้คือ คดีทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งคดี 112 ว่าทำไมจะต้องนิรโทษกรรม112 และทำไมที่จะต้องนิรโทษกรรม และต้องนิรโทษทุกคดีโดยที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติ
ขณะที่ ภัสราวลี กล่าวว่า ทางคณะกรรมาธิการได้เชิญคนที่มีส่วนร่วมในการชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มาร่วมพูดคุยด้วยเพื่อให้ข้อมูลข้อเท็จจริงถึงเหตุจูงใจในการออกมาชุมนุมออกมาใช้สิทธิ์เสรีภาพในครั้งนั้นเกิดจากอะไร ซึ่งตนคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่พวกเราจะได้อธิบายขยายความว่าการชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 นั้นมี เหตุจูงใจที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องสถาบันกับการเมืองไทยด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงที่คนในสังคมถกเถียงกันอย่างมาก และปฏิเสธไม่ได้ว่าจำนวนคดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นก็เป็นหนึ่งในความขัดแย้งที่ถูกสะสมมาและอาจจะก่อตัวเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงกว่านี้ได้ในอนาคต
“ฉะนั้น การนิรโทษกรรมถ้าหากจะให้เกิดขึ้นได้ประสิทธิภาพจริงๆ จำเป็นจะต้องนิรโทษกรรมรวม มาตรา 112 ด้วย เพื่อให้การคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง ได้คลี่คลายที่จุดเริ่มต้นของปัญหาจริงๆ คนที่โดนคดีมาตรา 112 อยู่ตอนนี้ยังคงถูกขังอยู่ในเรือนจำมีอยู่อีกเยอะ และคนที่อยู่ในกระบวนการระหว่างกระบวนการต้องต่อสู้ในชั้นศาลก็ยังมีอยู่เยอะเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นถ้าหากนิรโทษกรรมคดีอื่นๆ แต่แยกมาตรา 112 ออกไป เราจะพูดได้อย่างไรว่า เราได้คืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนที่ออกมาใช้เสรีภาพทั้งหมดแล้วจริงๆ แล้วเราจะพูดได้อย่างไรว่าเรา เริ่มดำเนินการในการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองและจริงๆเพราะจุดเริ่มต้นมาจากที่ประชาชนได้ถกเถียงและพูดถึงสถาบันกับการเมืองไทย” ภัสราวลี กล่าว
ภัสราวลี กล่าวว่า ดังนั้น ในวันนี้เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามาตรา 112 จะต้องถูกรวมในการนิรโทษกรรมด้วยเช่นเดียวกันเพื่อให้เกิดการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองจริงๆ และเป็นการคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนด้วย
ส่วนข้อมูลของศูนย์ทนายฯ สามารถนำมายืนยันได้หรือไม่ว่า คดีมาตรา 112 ทั้งหมดมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง พูนสุข ระบุว่า ข้อมูลของศูนย์ทนายฯ มีมากกว่าตัวเลขของกรรมาธิการที่ออกมาบอกก่อนหน้านี้ คดีของเราเป็นคดีที่เกิดขึ้นจากเสรีภาพทางการแสดงออก และคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหาร ต้องบอกว่าบางคดีของมาตรา 112 หรือมาตราอื่นที่ขึ้นศาลทหาร อาจจะไม่มีแรงจูงใจทางการเมืองด้วยซ้ำ ในบางกรณี เช่น คนที่มีอาการทางจิตเวช ถูกดำเนินคดี 112 หรือไม่ได้มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง แต่กลับถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ด้วย
ทั้งนี้ หากดูจากร่างของเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เราเสนอไป 2 ส่วนคือเสนอให้มีการนิรโทษกรรมในทันทีโดยที่ไม่ต้องดูมูลเหตุจูงใจ และอีกส่วนคือตัวมาตรา 112 เองก่อให้เกิดปัญหา ละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยตัวของมันเอง มีการบังคับใช้ที่ทำให้ประชาชนถูกละเมิดสิทธิ์ ซึ่งในคดี 112 เป็นคดีการเมืองแต่บางคนไม่ได้มีมูลเหตุทางการเมือง ซึ่งเขาสมควรจะได้รับการนิรโทษกรรมเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ พูนสุข ได้อ่านจดหมายที่ อานนท์ นำภา ทนายความและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่อยู่ในเรือนจำ ฝากข้อความออกมาว่า “หลักในการมองว่านิรโทษกรรมครอบคลุมมาตรา 112 ไหม ต้องดูว่าเจตนารมณ์ในการนิรโทษกรรม คือครอบคลุมการแสดงออกในทางการเมืองหรือไม่ เพราะมาตรา 112 เป็นเรื่องทางการเมืองอย่างชัดเจน ผู้แจ้งต้องมีเจตนาซ่อนเร้นทางการเมือง การกระทำหรือข้อกล่าวหา การพูด การปราศรัย ก็เป็นเรื่องทางการเมือง หากนิรโทษก็ต้องรวมด้วย ดูว่าเจตจำนงของข้อกล่าวหาเกี่ยวกับอะไร ในประวัติศาสตร์ก็มีการรวมมาตรา 112 ด้วย หากในอดีตไม่ยกเว้น การยกเว้นในปัจจุบันก็ตลก แสดงว่ามีการเจตนากักขังนักโทษมาตรา 112”