‘ยิ่งชีพ อัชฌานนท์’ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ชำแหละระบบเลือก สว. ดันฝ่ายก้าวหน้า Hack ระบบแก้เกมมีชัย
17 มี.ค. 2567 ณ ห้อง ร. 103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ilaw) ร่วมกับเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ หรือ Con for All จัดกิจกรรมวิชาการ “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” โดยมี ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) แสดงความเห็นในหัวข้อ “#SenateforAll สว.ใหม่ อนาคตใหม่ เพื่อไทยทุกคน” รายละเอียดดังนี้
ปฐมบทยุคใหม่ การต่อสู้ของคนรุ่น 40+
11 พฤษภาคม 2567 คือวันหมดวาระ ของสว. ที่มาจากการแต่งตั้ง ถือเป็นการเริ่มต้นเดินทางสู่ยุคใหม่ หลังจาก 9 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ภายใต้อำนาจรัฐบาลประยุทธ์ และ 5 ปีที่อยู่ภายใต้การควบคุมประเทศโดยสว. 250 คน แม้ไทยกำลังจะเดินหน้าเข้าสู่ยุคใหม่แต่กลับพบว่ามีความท้าทายอย่างมาก เพราะการต่อสู้ยกใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ ไม่ได้เป็นหน้าที่ของคนรุ่นใหม่ แต่เป็นหน้าที่ของคนรุ่นน้า รุ่นลุง รุ่นป้า พี่ต้องช่วยกันออกมาเป็นผู้เล่นสำคัญ
ทันทีที่ส.ว. ชุดนี้หมดวาระ ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 รัฐบาลจะต้องออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสว. ชุดใหม่ หากกระบวนการในการออกพระราชกฤษฎีกาไม่มีความล่าช้าตามไทม์ไลน์เราพบว่าในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2567 นี้จะมีการเปิดรับสมัครผู้มีความประสงค์เป็น สว. และจะมีกระบวนการเลือกในระดับอำเภอช่วงปลายเดือนมิถุนายน ต่อเนื่องมาจนถึงระดับจังหวัดและระดับประเทศจนสิ้นสุดกระบวนการคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกินช่วงต้นเดือนกรกฎาคม และนับจากนี้เป็นต้นไปจะมี สว. ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ และส.ว. ชุดใหม่นี้จะมีอำนาจหน้าที่สำคัญในการกำหนดทิศทางของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แต่อย่างไรก็ตามกระบวนการในการเลือกกันเองของสว. 20 กลุ่มอาชีพที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยเป็นกลไกที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ และคณะกรรมการร่างรัฐรรมนูญ 2560 ออกแบบขึ้น ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่เคยใช้มาก่อนในประเทศไทย
ชำแหละกระบวนการเลือก สว.
กระบวนการที่ออกแบบมานี้จะเปิดโอกาสให้ทุกคนสมัครเข้าไปตามกลุ่มสาขาอาชีพที่ตนเคยทำงานมาโดยแบ่งเป็นกลุ่มอาชีพทั้งหมด 20 กลุ่ม ซึ่งในการจัดกลุ่มบางกลุ่มพบว่าไม่ค่อยมีความสมเหตุสมผล เช่นมีการจัดจัดให้มีกลุ่มลูกจ้างผู้ใช้แรงงานเพียง 1 กลุ่ม แต่สำหรับกลุ่มนายจ้างหรือนายทุนนั้นมีการแตกย่อยออกมาทั้งหมด 3 กลุ่มด้วยกัน คือกลุ่มผู้ประกอบการกิจการ SMEs กลุ่มผู้ประกอบการกิจการอื่น และกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ยังพบว่ามีการรวมกลุ่มอาชีพที่ดูไม่มีความเกี่ยวข้องกันเอาไว้ในกลุ่มเดียวกันด้วย เช่น กลุ่มสิ่งแวดล้อม อสังหาริมทรัพย์ และพลังงาน และยังมีกลุ่มที่เรียกได้ว่าพิเศษที่สุดคือ กลุ่มอื่นๆ คือกลุ่มที่ไม่รู้ว่าจะสังกัดกลุ่มอาชีพใด ก็ให้มาลงกลุ่มนี้
ส่วนวิธีการคัดเลือกสว. มีการแบ่งออกเป็นสามระดับ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ
เริ่มต้นที่ระดับอำเภอเมื่อมาถึงจะมีการจับกลุ่มอาชีพเดียวกันและให้ทำการโหวตเลือกกันเองภายในกลุ่ม ให้เหลือผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 5 คน จากแต่ละกลุ่ม ผู้ผ่านการคัดเลือก 5 คนจากทั้งหมด 20 กลุ่มในแต่ละอำเภอนี้จะถูกเรียกว่าผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเบื้องต้น
จากนั้นกระบวนการถัดไปจะทำสิ่งที่เรียกว่าแบ่งสายและเลือกไขว้ โดยจะมีการจับฉลากว่าแต่ละกลุ่มอาชีพนั้นจะอยู่สายอะไรเช่น สายที่ 1 มีการจับสลากได้ ครู ชาวนา ชวนสวน นักวิทยาศาสตร์ และสตรี ผู้ผ่านการคัดเลือกเบื้องต้นจากกลุ่มอาชีพนี้จะต้องมาโหวตเลือกบุคคลที่อยู่ในกลุ่มอาชีพอื่นๆ ที่อยู่ในสาย 1 เหมือนกัน พูดให้เข้าใจง่ายคือ ครูคน จะมีสิทธิโหวตให้กับ กลุ่มชาวนา ชวนสวน นักวิทยาศสตร์ และสตรี กลุ่มละ 1 เสียงเท่านั้น จากนั้นจะนำผู้ที่ได้คะแนนมากสุดอันดับ 3 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มเข้าสู่การคัดเลือกในระดับจังหวัดต่อไป
เมื่อเข้าสู่ระดับจังหวัด ก็จะมีการเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกแบบเดิม แต่กระบวนการสุดท้ายของการเลือกไขว้จะมีการนำผู้ที่ได้คะแนนมากสุด 2 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มเข้าสู่การคัดเลือกระดับประเทศต่อไป
เมื่อเข้าสู่ระดับประเทศ จะมีตัวแทนที่ผ่านการคัดเลือกจากกลุ่มอาชีพ รวมแล้วกลุ่มละ 154 คน ทั้งหมด 20 กลุ่ม จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการนั่งรวมกันในกลุ่มอาชีพและทำการเลือกกันเองก่อน แล้วจะมีคัดผู้ผ่านเข้ารอบต่อไปจากผู้ที่ได้คะแนนโหวตอยู่ในอันดับ 40 อันดับแรก
จากนั้นก็จะมีการแบ่งสายและเลือกไขว้กันอีกครั้ง แต่ครั้งนี้สามารถโหวตให้คะแนนกลุ่มอาชีพอื่นได้ถึง 5 โหวต หรือ 5 คน และสุดท้ายผู้ที่จะได้รับเลือกเป็น สว. คือผู้ที่ได้รับคะแนน 10 อันดับแรกในกระบวนการเลือกรอบสุดท้ายนี้ รวมเป็น 200 สว. ที่มาจาก 20 กลุ่มอาชีพ
กลไกการเลือกส.ว. ในลักษณะนี้หากมีการเปิดให้ประชาชนทุกคนสามารถมีสิทธิ์ในการโหวตได้ก็ไม่ยากที่จะทำให้ฝ่ายก้าวหน้าเข้าไปมีบทบาทอยู่ในวุฒิสภา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีการให้สิทธิเฉพาะคนที่สมัครเท่านั้น ฉะนั้นการอยู่บ้านแล้วบ่นอย่างเดียวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้
สะท้อนปัญหาระบบเลือกสว. และวิธีเดียวที่จะแฮ็กระบบ
ประเด็นที่สำคัญที่ควรตั้งคำถามคือ สุดท้ายแล้วสว. ที่จะได้ได้มานี้ถือว่าเป็นตัวแทนของใคร แม้จะมีกระบวนการเริ่มต้นในระดับอำเภอ แต่สุดท้ายแล้วการที่ใครคนหนึ่งจะได้เป็นส.ว. หรือไม่นั้นก็ไม่ได้ถือว่าเป็นสิ่งที่ยึดโยงอยู่กับอำเภอที่เขาสมัครมา และหากจะบอกว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มอาชีพเอาเข้าจริงแล้วก็ไม่ได้ถือว่าเป็นตัวแทนแบบนั้นจริงๆเพราะในกระบวนการสุดท้ายคือการเลือกไขว้ระหว่างกลุ่มอาชีพ สุดท้ายแล้วระบบเลือกตั้งแบบนี้ถือว่าไม่ได้สะท้อนความเป็นเป็นตัวแทนของอะไรเลย
และท้ายที่สุดระบบนี้เป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อเหมาะสำหรับคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เป็นคนที่มีเพื่อนเยอะ เครือข่าย คอนเน็คชั่น เป็นคนที่มีเงิน เพราะทุกคนต้องเสียค่าสมัครคนละ 2500 บาท และเป็นคนที่มีเวลาว่างที่จะไปร่วมกระบวนการคัดเลือกอย่างน้อย 4 วัน คือวันสมัคร วันเลือกระดับอำเภอ วันเลือกระดับจังหวัด และวันเลือกระดับประเทศ
ฉะนั้นวิธีเดียวที่จะเอาชนะระบบนี้ คือการมีคนสมัครเพื่อเข้าไปใช้สิทธิโหวต เพื่อแข่งกับคนที่มีเจตนารมย์ในการเป็น สว. เพื่อรักษาฐานอำนาจเก่า