หน้าแรก Voice TV เปิดมติ ครม.สัญจรพะเยา เพิ่มงบ-เคาะหนุน 9 โครงการเหนือตอนบน

เปิดมติ ครม.สัญจรพะเยา เพิ่มงบ-เคาะหนุน 9 โครงการเหนือตอนบน

70
0
เปิดมติ-ครม.สัญจรพะเยา-เพิ่มงบ-เคาะหนุน-9-โครงการเหนือตอนบน

ครม.เห็นชอบแผนอัตรากำลังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2571 จำนวน 731 อัตรา งบประมาณรวมทั้งสิ้น 208.08 ล้านบาท

ที่หอประชุมพญางำเมือง มหาวิทยาลัยพะเยา ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) จ.พะเยา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลประชุม ครม.สัญจร ว่า ที่ประชุมเห็นชอบหลักการโครงการของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ จำนวน 9 โครงการ ในวงเงิน 155 ล้านบาท และเห็นชอบในหลักการโครงการของภาคเอกชน จำนวน 4 โครงการ ในวงเงิน 145 ล้านบาท

นอกจากนี้ คารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการแผนอัตรากำลังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา (แผนอัตรากำลังโรงพยาบาลฯ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2571 จำนวน 731 อัตรา งบประมาณรวมทั้งสิ้น 208.08 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ

ทั้งนี้ แผนอัตรากำลังฯ จะส่งผลต่อการเพิ่มอัตรากำลังและบุคลากร และภาระค่าใช้จ่ายในอนาคต จึงเห็นควรที่มหาวิทยาลัยพะเยาจะพิจารณาดำเนินการเท่าที่จำเป็นตามภารกิจหลัก อย่างประหยัด และคุ้มค่า และคำนึงถึงความครอบคลุมของทุกแหล่งเงินที่จะนำมาใช้จ่าย โดยเฉพาะรายได้หรือเงินนอกงบประมาณอื่นใดที่มหาวิทยาลัยมีอยู่หรือสามารถนำมาใช้จ่ายเป็นลำดับแรก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ และเกิดผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการภาครัฐอย่างยั่งยืน ตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ 

โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ (1) ขยายศักยภาพเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็ก ระดับ M1 ขนาด 200 เตียง ในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2571 เพื่อรองรับการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและการขยายศักยภาพเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ระดับ S (2) เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของเขตสุขภาพที่ 1 ในเขตพื้นที่ล้านนาตะวันออก (จังหวัดเชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน และพะเยา) เป็นหน่วยให้บริการที่เป็นโรงพยาบาลรับผู้ป่วยส่งต่อระดับสูง รวมทั้งพัฒนาเรื่องต่าง ๆ เช่น ระบบบริการสุขภาพด้านอุบัติเหตุฉุกเฉิน การดูแลผู้สูงอายุในเขตบริการ ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินและระบบการส่งต่อเพื่อลดความแออัดในเขตสุขภาพที่ 1

(3) พัฒนาศูนย์การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพเพื่อรองรับการเป็นสถานฝึกปฏิบัติการในชั้นคลินิกสำหรับนิสิตแพทย์มหาวิทยาลัยพะเยาให้มีศักยภาพ สามารถใช้เป็นแหล่งฝึกบุคลากรทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ รวมทั้งเพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนทั้งก่อนปริญญาและหลังปริญญา และ (4) พัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ เช่น ศูนย์ตรวจสุขภาพ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุครบวงจร ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง ศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง  

“สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาแผนอัตรากำลังโรงพยาบาลฯ แล้ว เห็นว่า แผนความต้องการอัตรากำลังฯ มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาขีดความสามารถ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เช่น (1) ควรทบทวนภารกิจของหน่วยงานให้สอดคล้องกับภาระงาน เช่น การขยายสถานที่บริการ ควรฝึกวิชาชีพเฉพาะทางหลักสูตรต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น (2) ควรวิเคราะห์ปริมาณงานเฉลี่ย

(3) การของบประมาณตามแผนความต้องการอัตรากำลังฯ ควรคำนึงถึงภาระผูกพันในการจัดสรรงบประมาณด้านบุคลากรที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยพะเยาได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระยะเวลาการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณเพื่อรองรับการขอเพิ่มอัตรากำลังดังกล่าวไม่สอดคล้องกับระยะเวลาการขอรับจัดสรรงบประมาณในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยพะเยาจึงได้ปรับระยะเวลาของแผนอัตรากำลังฯ จากเดิมปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2569 เป็นปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2571” คารม กล่าว

นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ … (พ.ศ. …) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนที่กระทรวงสาธารณสุขจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่และบุคคลภายนอกซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่ได้รับอนุญาตจากระทรวงการคลัง) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนที่ สธ. จ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่และบุคคลภายนอกซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเป็นเงินได้พึงประเมินที่ไดรับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ออกไปอีก 1 ปีภาษี (สำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี 2566)

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

1.กำหนดให้เงินได้ดังต่อไปนี้ เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้

 1.1 ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งสธ.จ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่ได้รับอนุญาตจาก กค.

 1.2 ค่าตอบแทนในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่ง สธ. จ่ายให้เจ้าหน้าที่และบุคคลภายนอกที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่ได้รับอนุญาตจาก กค.

 1.3 ค่าตอบแทนในการให้บริการฉีดวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่ง สธ. จ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้บริการฉีดวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นอกสถานพยาบาลตามที่ได้รับอนุญาตจาก กค.

2. กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี พ.ศ. 2566

ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กรมทางหลวง (ทล.) เพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา จำนวน 14 ตอน ตามปริมาณงานและวงเงินค่างานจริง ซึ่งไม่เกินกรอบวงเงินที่สำนักงบประมาณได้พิจารณาให้ความเห็นชอบไว้แล้วเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 และอนุมัติขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ จำนวน 10 ตอน ตามนัยข้อ 7 (3) ของระเบียบว่าด้วยการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ

และให้ ทล. ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมาตรฐานของทางราชการให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอน โดยการดำเนินการจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของทางราชการ และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สำหรับภาระงบประมาณที่เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ได้เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รองรับไว้ ให้ ทล. ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การบริหารวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้สำหรับรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ สำหรับภาระงบประมาณส่วนที่คงขาดอยู่ให้เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 รองรับตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ 

โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา (โครงการฯ) แบ่งเป็นจำนวน 40 ตอน ปัจจุบันมีงานก่อสร้าง 16 ตอนที่พบปัญหาและจำเป็นต้องแก้ไขรูปแบบการก่อสร้าง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้านวิศวกรรมเพื่อตรวจสอบความเหมาะสมในการแก้ไข เปลี่ยนแปลงรูปแบบก่อสร้างและได้ข้อยุติว่าการปรับรูปแบบของโครงการฯ เป็นรูปแบบที่เหมาะสมและถูกต้องตามหลักวิศวกรรมแล้ว โดยการปรับรูปแบบของโครงการฯ ส่งผลให้ค่าก่อสร้างงานโยธาเพิ่มขึ้นจากค่างานตามสัญญาจากเดิม 59.410.2475 ล้านบาท เป็น 66,165.9010 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจำนวน 6,755.6535 ล้านบาท)

ซึ่งเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเพิ่มวงเงินงบประมาณเฉพาะในส่วนของงานที่ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง จำนวน 12 ตอน วงเงิน 4,970.7107 ล้านบาท (คงเหลือที่ต้องขอคณะรัฐมนตรีอนุมัติจำนวน 1,784.9429 ล้านบาท) พร้อมทั้งให้ ทล. ตรวจสอบงานก่อสร้างในส่วนที่ดำเนินการก่อสร้างไปก่อนการแก้ไขสัญญาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2566 ทล. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบงานโครงการฯ

ในส่วนของงานก่อสร้างที่ได้ดำเนินการก่อสร้างก่อนลงนามในสัญญาแก้ไขดังกล่าว (ซึ่งยังไม่มีการจ่ายค่างานในส่วนที่ดำเนินการไปก่อน) จำนวน 14 ตอน พบว่า มีงานก่อสร้างบางตอนที่วงเงินลดลง (จากเดิมวงเงินรวม 1,784.9429 ล้านบาท เป็นวงเงินรวม 1,740.9882 ล้านบาท ซึ่งเป็นข้อเสนอในครั้งนี้) ทั้งนี้ การเพิ่มค่างานของทั้ง 16 ตอน จะทำให้กรอบวงเงินค่างานก่อสร้างของทั้งโครงการฯ รวม 40 ตอน เพิ่มขึ้นจากเดิม 59,410.2475 ล้านบาท เป็น 66,121.9464 ล้านบาท แต่ยังคงอยู่ภายใต้กรอบวงเงินค่างานก่อสร้างตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 (69,970 ล้านบาท) 

“ครม.พิจารณาอนุมัติเพิ่มวงเงินงบประมาณรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณ ภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา จำนวน 14 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 ตอนที่ 3 ตอนที่ 4 ตอนที่ 5 ตอนที่ 6 ตอนที่ 17 ตอนที่ 18 ตอนที่ 19 ตอนที่ 20 ตอนที่ 21 ตอนที่ 23 ตอนที่ 24 ตอนที่ 32 และตอนที่ 39 วงเงิน 1,740.9882 ล้านบาท และพิจารณาอนุมัติขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ (ก่อหนี้ผูกพันฯ) ภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์

โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา จำนวน 10 ตอน ดังนี้ 1) ขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันฯ จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2563 เป็นปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2568 จำนวน 4 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 3 ตอนที่ 6 ตอนที่ 17 และตอนที่ 32  2) ขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันฯ จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2566 เป็นปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2568 จำนวน 3 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 5 ตอนที่ 20 และตอนที่ 24 และ 3) ขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันฯ จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2567 เป็นปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2568 จำนวน 3 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 18 ตอนที่ 19 และตอนที่ 39” นายคารม กล่าว

ครม. เห็นชอบการดำเนินงานโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง และมอบหมายให้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) รับไปตั้งคณะทำงานพิจารณารายละเอียดและงบประมาณอีกครั้ง ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี สาระสำคัญของเรื่อง สทบ. รายงานว่า

1. กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง1 (กองทุนหมู่บ้านฯ) เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในหมู่บ้านและชุมชนสำหรับสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพในด้านการประกอบอาชีพ ด้านการผลิต การแปรรูปและการบริการของประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาตามความต้องการของหมู่บ้านและชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจ้างแรงงาน การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืน อันจะนำไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ในหมู่บ้านและชุมชนโดยมุ่งเน้นทั้งภาคการผลิต การแปรรูป การจำหน่าย เพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านและชุมชน สร้างโอกาสให้ประชาชน พัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้วยการมอบอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้บริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง

2. สทบ. ได้มีการดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพเลี้ยงโคของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (สมาชิกกองทุนฯ) อย่างต่อเนื่องโดยมีการดำเนินงานโครงการที่สำคัญ 3 โครงการ ได้แก่

2.1 โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตภายใต้การดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านฯ พื้นที่ต้นแบบจังหวัดสุโขทัย ระยะที่ 1 (ไม่ได้เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ดำเนินโครงการ) เป็นผลมาจาก กทบ. ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบและอนุมัติโครงการดังกล่าว ซึ่งกำหนดเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้สมาชิกกองทุนฯ เลี้ยงโค จำนวน 1,000 ครัวเรือน ครัวเรือนละ 2 ตัว วงเงินครัวเรือนละ 50,000 บาท สนับสนุนงบประมาณเพื่อการกู้ยืมปลอดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 5 ปี ภายในวงเงินงบประมาณ 50 ล้านบาท งบบริหารโครงการวงเงินงบประมาณ 5 ล้านบาท รวมวงเงินงบประมาณ 55 ล้านบาท โดยเจียดจ่ายจากงบบริหารโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน2

 2.2 โครงการโคล้านครอบครัว [คณะรัฐมนตรีมีมติ (14 มีนาคม 2566) เห็นชอบในหลักการโครงการ] โดย กทบ. ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการโครงการโคล้านครอบครัว โดยดำเนินการภายใต้สินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงินงบประมาณรวม 5,000 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่กองทุนหมู่บ้านฯ สำหรับให้สมาชิกกองทุนฯ กู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงโค กระบือ แพะ แกะ จำนวน 100,000 ครัวเรือน ครัวเรือนละไม่เกิน 50,000 บาท โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. ตามต้นทุนทางการเงินที่เกิดขึ้นจริง อัตราร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลา 4 ปี (ในช่วงระหว่างปี 2567 – 2570) และอนุมัติให้ สทบ. ใช้งบประมาณจากโครงการเพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้านฯ ระยะที่ 3 จำนวน 350 ล้านบาท เพื่อชดเชย

2.3 โครงการโคเงินล้าน (ไม่ได้เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ดำเนินโครงการ) โดย กทบ. ในคราวประชุมครั้งที่ 7/2566 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 มีมติเห็นชอบและอนุมัติโครงการ “โคเงินล้าน” นำร่อง ระยะที่ 1 กำหนดเป้าหมายดำเนินการในการส่งเสริมให้สมาชิกกองทุนฯ เลี้ยงโค จำนวน 400 ครัวเรือน ครัวเรือนละ 50,000 บาท วงเงินงบประมาณ 20 ล้านบาท และงบบริหารโครงการ วงเงินงบประมาณ 5 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณจากรายได้สะสมของ สทบ. วงเงินงบประมาณ 25 ล้านบาท

3. สทบ. แจ้งว่า จากการดำเนินงานโครงการเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพเลี้ยงโคของ สทบ. ที่ผ่านมา พบปัญหาและอุปสรรค ดังนี้

3.1 โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตภายใต้การดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านฯ พื้นที่ต้นแบบจังหวัดสุโขทัย ระยะที่ 1

3.1.1 ประสบปัญหาโคตายจากโรคระบาด3

3.1.2 สมาชิกไม่อาจชำระหนี้ได้ตามสัญญาที่กำหนดรวมกรณีเกษตรกรเสียชีวิต ซึ่งอาจแก้ไขโดยให้ทายาท/สมาชิกรายอื่นที่สนใจมารับช่วงต่อ

3.2 โครงการโคล้านครอบครัว

3.2.1 ระยะเวลาดำเนินโครงการโคล้านครอบครัวมีจำกัดทำให้บางกองทุนหมู่บ้านฯ เข้าร่วมโครงการฯ ไม่ทัน

3.2.2 การพิจารณาสินเชื่อของธนาคารล่าช้า

4. โครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง (ข้อเสนอของ กทบ.ในเรื่องนี้) ดำเนินการภายใต้กรอบวงเงินสินเชื่อของสถาบันการเงินที่กำหนด กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่กองทุนหมู่บ้านฯ สำหรับให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ กู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงโค จำนวน 100,000  ครัวเรือน ๆ ละ 50,000 บาท โดยจะได้รับคำแนะนำการเลี้ยงโคจากกรมปศุสัตว์ และรัฐจัดหาตลาดเพื่อรองรับ ต่อยอดและขยายผลในการสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ

ในด้านการผลิต การแปรรูปและการจัดจำหน่าย กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถสร้างรายได้ต่อครัวเรือนอย่างน้อย 240,000 บาท ต่อครัวเรือน จากต้นทุน 50,000 บาทหรือ 4.8 เท่า ในระยะเวลา 5 ปี (โค 2 ตัว เฉลี่ยราคาโคตัวละ 25,000 บาท สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 120,000 บาทต่อตัว) รวมทั้งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลด้านการพัฒนาด้านการเกษตรและปศุสัตว์ให้มีการลงทุนไปทั่วโลก โดยมีรายละเอียดการดำเนินโครงการ ดังนี้

4.1 กลุ่มเป้าหมาย กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ที่มีประวัติการกู้เงินและชำระเงินดี โดยเคยกู้เงิน ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน หรือธนาคารอื่น ๆ แล้วชำระหนี้ได้

4.2 วัตถุประสงค์โครงการ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ครัวเรือนสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ลดภาระค่าครองชีพให้กับครัวเรือนสมาชิก ยกระดับการผลิตโคเนื้อที่มีคุณภาพสูงสู่ตลาดภายในและต่างประเทศ ส่งเสริมการตลาด ขยายโอกาสทางการค้า เพิ่มศักยภาพการแข่งขันสร้างความมั่นคงทางอาหาร และให้สมาชิกเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาทักษะด้านอาชีพการเลี้ยงโคคุณภาพสูง

4.3 งบประมาณโครงการ จากวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่กำหนด   กรอบวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท

4.4 ประเภทสินเชื่อและระยะเวลากู้ สินเชื่อระยะยาวระยะเวลาการชำระคืนเงินในปีที่ 3 นับจากวันลงนามในนิติกรรมสัญญา4

4.5 จำนวนเป้าหมายและวงเงินสำหรับกองทุนหมู่บ้านฯ กองทุนหมู่บ้านฯ กำหนดเป้าหมายโครงการให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ กู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงโค จำนวน 100,000 ครัวเรือน ครัวเรือนละ 50,000 บาท ดำเนินการโดยให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ที่มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการ แจ้งความประสงค์ต่อคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านเพื่อเป็นตัวแทนยื่นเสนอขอรับสนับสนุนสินเชื่อจากสถาบันการเงินในฐานะนิติบุคคลที่กำหนดตามแนวทางที่กำหนดต่อไป

4.6 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ เกิดการแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรและเกิดความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของรัฐบาล พัฒนาด้านการตลาดในประเทศและการส่งออกไปตลาดในภูมิภาคและตลาดโลก สร้างความเข้มแข็งและการยกระดับการผลิตของเกษตรกรรายย่อยและเอกชน ให้สามารถเลี้ยงโคเนื้อเชิงอุตสาหกรรมตอบสนองต่อการบริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้เพิ่ม ลดความยากจนของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ได้อย่างน้อย 120,000 บาท ในระยะเวลา 5 ปี ต่อแม่โค 1 ตัว ดังนี้

ลำดับที่ รายละเอียด รายได้จากการขายโค (บาท)

1 แม่โคปลด 18,000

2 โค 1 ปี 20,000

3 โค 2.5 ปี 25,000

4 โค เพิ่งคลอด 7,000

5 โค 4 ปี 20,000

6 โค เพิ่งคลอด 7,000

7 โค 2 ปี ตั้งท้อง 3 เดือน 23,000

รวม 120,000

 5. กทบ. [รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) เป็นประธาน] ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยขอรับชดเชยดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี กรอบวงเงิน 400 ล้านบาท ตามมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และมอบหมายให้ สทบ. ประสานกระทรวงการคลัง (กค.) เพื่อขอความเห็นการดำเนินโครงการในลักษณะกึ่งการคลังที่รัฐจะต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายดังกล่าว โดยให้ธนาคารของรัฐเสนอตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดเชยอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจริงตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ หากมีกรณีที่ต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินงานโครงการเพื่อทำให้การดำเนินโครงการสามารถขับเคลื่อนได้บรรลุวัตถุประสงค์ ขอให้ประธาน กทบ. มีอำนาจปรับเปลี่ยนตามความเห็น กค. และสำนักงบประมาณ 1 กองทุนหมู่บ้านฯ สร้างขึ้นเพื่อเสริมสร้างการพึ่งพาตนเองของหมู่บ้านและชุมชน โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนจากการคัดเลือกจากสมาชิกในชุมชน 9 – 15 คน เพื่อเป็นผู้ดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับกองทุนให้แก่สมาชิก เช่น การขอรับจัดสรรเงินทุนจากรัฐ เป็นต้น

2 โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นโครงการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพด้านการประกอบอาชีพ ทั้งด้านการผลิต การแปรรูป และการบริการของประชาชน รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจ้างแรงงาน การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืนของ สทบ. ทั้งหมด 6 โครงการ ยกตัวอย่างเช่น โครงการเพิ่มกองทุนหมู่บ้านฯ ระยะที่ 3 โครงการประชารัฐเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

3 เช่น โรคปากและเท้าเปื่อย (Foot and Mouth Disease) สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส โดยทำให้โคมีไข้ ซึม เบื่ออาหาร มีเม็ดตุ่มพองเกิดที่ริมฝีปากและช่องปากทำให้น้ำลายไหล กินอาหารไม่ได้ ซึ่งโคที่เป็นโรคนี้จะผอมและน้ำนมจะลดลงอย่างมาก อัตราการติดโรคสูง อัตราการตายร้อยละ 0.2 – 5 เป็นต้น

4 สทบ. จะได้หารือร่วมกับสถาบันการเงินเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ คุณสมบัติ ขั้นตอน เงื่อนไข วิธีปฏิบัติที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมถึงระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ที่ชัดเจน ให้ได้ข้อยุติก่อนดำเนินการต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่