สหรัฐฯ ประกาศกฎระเบียบที่ “เข้มงวดที่สุดเท่าที่เคยมีมา” สำหรับการจัดการกับมลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามเร่งผลักดันให้เกิดอัตราการขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อความพยายามในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
อย่างไรก็ดี กฎเกณฑ์ดังกล่าวซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (20 มี.ค.) ยังมีเป้าหมายที่ทะเยอทะยานต่ำกว่าเป้าหมายที่เคยมีการกำหนดเอาไว้โดยรัฐบาลของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ประกาศเอาไว้ก่อนหน้านี้
สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (EPA) คาดการณ์ว่า ระหว่างช่วงปี 2573 ถึง 2575 กฎระเบียบดังกล่าวจะทำให้รถยนต์ใหม่ 30 ถึง 56% ที่ถูกนำมาวิ่งบนถนนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้ว EPA คาดการณ์ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะมียอดขายถึง 60% ภายในปี 2573 และ 67% ภายในปี 2575
“เนื่องจากการคมนาคมขนส่งเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ มาตรฐานมลพิษที่แข็งแกร่งที่สุดเท่าที่เคยมีมาสำหรับรถยนต์เหล่านี้ ทำให้ความเป็นผู้นำของอเมริกาแข็งแกร่งในการสร้างอนาคตการคมนาคมขนส่งที่สะอาด และสร้างงานในอเมริกาให้มีรายได้ที่ดี ทั้งหมดนี้ในขณะเดียวกันก็ทำให้วาระด้านสภาพอากาศในอดีตของประธานาธิบดีไบเดนก้าวหน้าไปด้วย” ไมเคิล รีแกน ผู้จัดการ EPA กล่าวในแถลงการณ์
“มาตรฐานดังกล่าวจะช่วยลดมลภาวะต่อสภาพอากาศได้มากกว่า 7 พันล้านตัน ปรับปรุงคุณภาพอากาศในชุมชนที่ต้องหอบภาระอันหนักอึ้งเกินไป และช่วยให้ผู้ขับขี่มีตัวเลือกยานพาหนะที่สะอาดมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ประหยัดเงิน” รีแกนกล่าว
ในปี 2564 ไบเดนลงนามในคำสั่งบริหาร โดยตั้งเป้าหมายว่าครึ่งหนึ่งของยอดขายรถยนต์ในสหรัฐฯ ในปี 2573 จะต้องเป็น “ยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์” ทั้งนี้ ตามข้อมูลของ EPA เกือบ 8% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ในสหรัฐฯ ในปี 2566 เป็นรถยนต์ไฟฟ้า
อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมรถยนต์ได้ตอบโต้ความพยายามของฝ่ายรัฐบาลไบเดน ที่จะกระชับกฎระเบียบด้านการปล่อยมลพิษ และเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า
วาระด้านสภาพอากาศของไบเดนยังเผชิญกับการต่อต้านจากพรรครีพับลิกัน รวมถึงการตั้งคำถามว่าสหรัฐฯ มีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอ รวมถึงสถานีชาร์จ เพื่อรองรับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมากบนท้องถนนหรือไม่
อย่างไรก็ดี พรรคเดโมแครตโต้แย้งว่าการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากโลกมีอุณหภูมิที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะเดียวกัน EPA ยังระบุในแถลงการณ์เมื่อวันพุธด้วยว่า กฎดังกล่าวจะช่วยประหยัดเงินในระยะยาว
“มาตรฐานเหล่านี้จะ…ให้ผลดีโดยสุทธิต่อปีเกือบ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3.59 ล้านล้านบาท) แก่สังคม ซึ่งรวมถึงผลดีด้านสาธารณสุขต่อปีกว่า 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 4.67 แสนล้านบาท) เนื่องจากคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น และ 6.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท) ในการลดต้นทุนเชื้อเพลิงต่อปี และค่าบำรุงรักษาและซ่อมแซมสำหรับผู้ขับขี่” แถลงการณ์ของ EPA ระบุ
โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเตรียมเผชิญหน้ากับไบเดนในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน พ.ย.นี้ ได้วิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าในหลายครั้ง
โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทรัมป์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ หลังจากเขาออกมาแสดงความเห็นว่าจะเกิด “การนองเลือด” หากไบเดนได้รับเลือกอีกครั้ง เนื่องจากทรัมป์กล่าวหาว่า ไบเดนจะยอมให้รถยนต์ไฟฟ้าของจีนซึ่งสร้างในโรงงานในเม็กซิโกไหลทะลักเข้ามาท่วมตลาดสหรัฐฯ ก่อนที่ในเวลาต่อมา ทรัมป์จะออกมาชี้แจงว่า การใช้คำว่า “นองเลือด” ของเขามีจุดมุ่งหมายเพื่อบ่งชี้ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯ จะต้องทนทุกข์ทรมานภายใต้รัฐบาลของไบเดน
เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ทรัมป์มุ่งเป้าการวิจารณ์ของเขาไปที่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าด้วย โดยทรัมป์กล่าวว่า “ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างยุติธรรม ที่จะทำลายตำแหน่งงานด้านการผลิตรถยนต์มากกว่า 100,000 ตำแหน่ง” ไปจากอุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี ไบเดนกล่าวว่านโยบายของเขาจะทำให้บริษัทของสหรัฐฯ สามารถแข่งขันกับบริษัทอื่นๆ ในโลกได้ ซึ่งในตอนนี้ต่างก็กำลังเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันอยู่แล้ว
ที่มา: