หน้าแรก Voice TV ‘สว.สุรเดช’ แนะรัฐบาลฟังความเห็น ‘แลนด์บริดจ์’ อย่างรอบด้าน เตือนอย่าเพิ่งปักธงก่อนเดินหน้า

‘สว.สุรเดช’ แนะรัฐบาลฟังความเห็น ‘แลนด์บริดจ์’ อย่างรอบด้าน เตือนอย่าเพิ่งปักธงก่อนเดินหน้า

72
0
‘สว.สุรเดช’-แนะรัฐบาลฟังความเห็น-‘แลนด์บริดจ์’-อย่างรอบด้าน-เตือนอย่าเพิ่งปักธงก่อนเดินหน้า

‘สว.สุรเดช’ แนะรัฐบาลฟังความเห็น ‘แลนด์บริดจ์’ อย่างรอบด้าน เตือนอย่าเพิ่งปักธงก่อนเดินหน้า ย้ำต้องเร่งหาชุมทางขนถ่ายสินค้า-หารือบริษัทเดินเรือทั่วโลก ชงขยายท่าเรือภูเก็ตเป็นท่าเรือน้ำลึก 15 เมตร เอื้อเรือสำราญขนาดใหญ่จอดเทียบท่า หวังเพิ่มนักท่องเที่ยว

วันที่ 25 มี.ค. ที่อาคารรัฐสภา สุรเดช จิรัฐิติเจิรญ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงโครงการสะพานเชื่อมทะเลอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ในการประชุมสมาชิกวุฒิสภา ญัตติอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติตาม ม.153 ว่า ขอชื่นชม เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่มีแนวคิดดำเนินการโครงการแลนด์บริดจ์ซึ่งเป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ที่ต่อยอดจากรัฐบาลที่แล้ว โดยมีความมุ่งมั่นเพื่อจะลดระยะค่าใช้จ่ายในการเดินเรือ และร่นระยะเวลาเดินทางที่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นการลงทุนที่ชักชวนต่างชาติให้ร่วมลงทุน 

สุรเดช กล่าวว่า รัฐบาลต้องมีการศึกษาอย่างรอบด้านว่า ในพื้นที่ จ.ระนอง และจ.ชุมพร ซึ่งเป็นพื้นที่ก่อสร้างโครงการนี้มันเหมาะสำหรับจัดทำหรือไม่ เพราะท่าเรือน้ำลึกไม่สามารถสร้างที่ไหนก็ได้ โดยใน จ.ชุมพร ไม่มีเกาะบังคลื่นบังลม อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้การที่เราจะสร้างท่าเรือสำหรับขนถ่ายสินค้านั้นเรามีชุมทางหรือไม่ คล้ายกับตลาดไทซึ่งเป็นที่ขนถ่ายสินค้าเกษตร โดยทางสิงคโปร์นั้นมีชุมทางในการขนถ่ายสินค้าทางเรือจากยุโรป หรือตะวันออกกลาง เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างตลาดใหม่ที่แข่งขันให้ได้ 

ขณะที่การประเมินค่าใช้จ่ายในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากในพื้นที่ จ.ระนอง ลงไปนั้นมีพื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก จึงอาจเกิดส่งผลกระทบต่อการประมง และพื้นที่สำหรับเพาะปลูกทุเรียนเป็นจำนวนมาก และตามที่นายกรัฐมนตรีได้ไปโรดโชว์หลายประเทศจึงไม่ทราบว่า ประเทศต่างๆ ได้ตอบรับโครงการนี้อย่างไรบ้าง และได้มีการสอบถามสายเดินเรือว่าเห็นด้วยหรือไม่ เนื่องจากบริษัทเดินเรือในโลกมีไม่ถึง 10 บริษัท รวมถึงผู้ประกอบการเดินเรือในไทยนั้นไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว 

สุรเดช ยังกล่าวถึงข้องกังวลของความคับแคบในช่องแคบมะละกาอีกว่า มีความคับแคบจริงหรือไม่ ขณะที่คลองสุเอชซึ่งเชื่อมจากยุโรปมายังเอเชียนั้นมีความกว้างไม่ถึงกิโลเมตร แต่ช่องแคบมะละกากว้างถึง 100 กว่ากิโลเมตร และมีส่วนที่แคบที่สุดคือ 38 กิโลเมตร ดังนั้นประเทศอื่นๆ ที่มีท่าเรือเขาคงไม่อยู่เฉย 

สุรเดช ยังกล่าวถึง แผนพัฒนาท่าอากาศยานที่นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ปัจจุบันเรามีผู้โดยสาร 40-50 ล้านคนต่อปี และสามารถเพิ่มเป็น 60 ล้านคนต่อปีได้ ถ้าเราสร้างอาคารผู้โดยสารอีกหนึ่งหลัง และสร้างรันเวย์ที่ 4 เพิ่มขึ้นจะทำให้มีผู้โดยสารกว่า 150 ล้านคนต่อปี

ขณะที่แผนพัฒนาการขนส่งทางเรือนั้น อยากให้รัฐบาลมีการพัฒนาท่าเรือภูเก็ตให้สามารถต่อยอดเป็นท่าเรือน้ำลึกจาก 9 เมตร เป็น 15 เมตร เพื่อให้เรือสำราญขนาดใหญ่สามารถจอดเทียบท่าได้ เนื่องจากท่าเรือภูเก็ตเป็นท่าเรือที่มีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก หากทำได้จะทำให้ภูเก็ตเป็นท่าเรือ ‘Home Port’ ซึ่งตรงนี้ใช้งบประมาณไม่มาก 

สุรเดช ยังกล่าวถึงแผนพัฒนาการขนส่งทางบกคือ โครงการ ASEAN Drive Tourism ระหว่าง ไทย ลาว มาเลเซีย กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งเห็นว่า ควรเพิ่มประเทศจีนเข้าไปด้วย แต่สิ่งสำคัญที่ต้องแก้ไขคือ กฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค เช่น กฎระเบียบระยะเวลาในการใช้รถ การนำเข้ารถ และใบอนุญาตการใช้รถ 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่