หน้าแรก Voice TV อุทธรณ์ สั่งคุกคดี 112 ไม่รอลงอาญา ชี้ให้จำเลยหลาบจำ แต่ให้ประกันชั้นฎีกา

อุทธรณ์ สั่งคุกคดี 112 ไม่รอลงอาญา ชี้ให้จำเลยหลาบจำ แต่ให้ประกันชั้นฎีกา

86
0
อุทธรณ์-สั่งคุกคดี-112-ไม่รอลงอาญา-ชี้ให้จำเลยหลาบจำ-แต่ให้ประกันชั้นฎีกา

ศาลกำแพงเพชร อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ คดี 112 หนุ่มเกาะพะงัน แก้โทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา เหตุลงคลิป Tiktok ชี้ให้จำเลยหลาบจำ ไม่เป็นเยี่ยงอย่างคนอื่นๆ แต่อนุญาตให้ประกันตัวชั้นฎีกา

26 มี.ค. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลจังหวัดกำแพงเพชรอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดี ม.112 ของ ‘อาร์ม’ หนุ่มจากเกาะพะงัน กรณีเผยแพร่คลิปใน Tiktok พูดคุยหยอกกับแมว (โดยมีถ้อยคำที่เสียดสีสถาบันกษัตริย์)

คดีนี้ เดิมศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี แต่อัยการอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้แก้เป็น ไม่รอลงอาญา เนื่องจากเห็นว่าเพื่อให้จำเลยหลาบจำและมิให้เยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่น

ต่อมา 10.45 น. ศาลจังหวัดกำแพงเพชรอนุญาตให้ประกันตัว “อาร์ม” ระหว่างฎีกาคำพิพากษา โดยให้วางหลักทรัพย์ประกัน 1.5 แสนบาท ได้รับความช่วยเหลือจาก #กองทุนราษฎรประสงค์

ทั้งนี้ อาร์ม ถูก พุทธ พุทธัสสะ ชาวจังหวัดกำแพงเพชร ไปแจ้งความกล่าวหาจากการเผยแพร่คลิปวิดีโอดังกล่าว เขาเดินทางมารับทราบข้อหาครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2565

ชยกฤต เจตสิกทัต พนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชร เป็นผู้เรียงฟ้องจำเลยในคดีนี้ โดยสรุปกล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2564 จำเลยได้ใช้แอพพลิเคชั่น (TikTok) โพสต์ภาพเคลื่อนไหวพูดข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ 

ผู้ฟ้องอ้างว่าถ้อยคำของจำเลยเป็นการจาบจ้วงหมิ่นประมาท ใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ทำให้รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง เกียรติคุณ และโดยประการที่น่าจะทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง อันเป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา

ต่อมา 8 ส.ค. 2566 ศาลอ่านคำพิพากษาเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน

ศาลเห็นว่า จำเลยกระทำไปด้วยความคะนึกคะนอง ทำให้ขาดการนึกคิด ขาดการยับยั้งชั่งใจ ไม่ได้นึกถึงผลกระทบที่จะตามมา แต่จำเลยให้การรับสารภาพ ประกอบกับจำเลยมีอาชีพและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงอาจไม่เกิดผลดีต่อสังคมหากจำคุกจำเลยไว้ จึงเห็นควรให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ มีกำหนด 2 ปี และให้คุมประพฤติ 1 ปี ให้ไปรายงานตัวกับเจ้าพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว และให้ทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์เป็นระยะเวลา 12 ชั่วโมง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่