กลุ่มอดีตรองอธิการ มร. รวมตัวยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน สอบ ม.รามคำแหง ตั้งสอบวินัยร้ายแรง อดีตผู้บริหาร 26 คน โดยมิชอบ ด้วยข้อกล่าวหาสุดแปลก สวมชุดครุยผู้บริหาร-เข้าประชุมสภาฯ ยืนยันเป็นการทำตามหน้าที่ความรับผิดชอบ ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กลุ่มอดีตรองอธิการบดี ม.รามคำแหง ได้ยื่นหนังสือต่อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอความเป็นธรรม แก่บุคลากรที่โดนตั้งสอบวินัยอย่างร้ายแรง เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนและเสียหาย ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยครั้งนี้มีคณาจารย์และผู้เกี่ยวข้องได้เดินทาง มาขอความเป็นธรรมและให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก
สืบเนื่องจากที่ผ่านมาได้เกิดความสับสนวุ่นวายขึ้นในรั้ว ม.รามคำแหง เหตุเพราะในช่วงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ถึง 3 พฤษภาคม 2566 ม.รามคำแหง มีผู้บริหาร 2 ชุด คือ ชุดแรกมีอธิการบดีที่ถูกถอดถอนและศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองให้กลับมาทำหน้าที่อธิการบดีต่อไป กับชุดสองมีรักษาราชการแทนอธิการบดีจากการแต่งตั้ง ของสภามหาวิทยาลัยให้มาปฏิบัติงานทับซ้อนกัน
การออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมในครั้งนี้ เป็นการร้องเรียนเพื่อให้ตรวจสอบการไม่ปฏิบัติตามกฏหมายหรือปฏิบัติ นอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฏหมาย ในการแต่งตั้งกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงกับอดีตผู้บริหารถึง 26 คน ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยร้ายแรง กรณีปฏิบัติหน้าที่โดยมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วย เพราะอาจขัดกับคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครองกลางและกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยมีรายละเอียดลำดับเหตุการณ์ ดังนี้
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยมีคำสั่งว่า
“จึงมีคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้ทุเลาการบังคับตามมติของสภามหาวิทยาลัยและพวก ในการประชุมครั้งที่ 21/2565 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ที่ถอดถอนนายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ ออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และที่แต่งตั้ง ผศ.บุญชาล ทองประยูร เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง รวมทั้งทุเลาการบังคับตามคำสั่งสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 119/2565 เรื่อง ถอดถอนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ที่ถอดถอนนายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ ออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และทุเลาการบังคับตามคำสั่งสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 120/2565 เรื่องแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ที่แต่งตั้ง ผศ.บุญชาล ทองประยูร เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น” คำสั่งดังกล่าวจึงส่งผลทำให้นายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ ยังคงมีสถานะทางกฎหมาย อำนาจ และหน้าที่ในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และได้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการ ในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป
ดังนั้น ผลของคำสั่งศาลปกครองกลางดังกล่าว ย่อมมีผลทำให้รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ตามคำสั่ง สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 109/2565 ลงวันที่ 30 กันยายน 2565 และที่ 114/2565 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2565 ต้องกลับมาดำรงสถานะหรือมีตำแหน่งเป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และคงสถานะความเป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2541 มาตรา 23 วรรคท้าย ด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้น วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 นายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ ในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ลงนามในประกาศมหาวิทยาลัยรามคำแหง เรื่อง ให้ข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัยและลูกจ้างมหาวิทยาลัยทุกระดับปฏิบัติงานตามปกติภายใต้คำสั่งอธิการบดี และในข้อ 3) ให้ปฏิบัติตามคำสั่งรองอธิการบดี ตามคำสั่งสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 109/2565 เรื่อง แต่งตั้งรองอธิการบดี ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565 และคำสั่งสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 114/2565 เรื่อง แต่งตั้งรองอธิการบดี ลงวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2565 ประกาศให้เป็นที่รับทราบโดยทั่วกัน อีกด้วย
อย่างไรก็ตามวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ศาลปกครองสูงสุดได้ยกเลิกคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ส่งผลให้ นายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ ในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และรองอธิการบดี ดังกล่าว ได้ยุติการปฏิบัติหน้าที่โดยทันที
มหาวิทยาลัยรามคำแหงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีกลุ่มบุคลากรของมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่มิใช่บุคคลผู้มีตำแหน่งรองอธิการบดี ตามคำสั่งสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 15/2566 สั่ง ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ได้กระทำความผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการอาทิเช่น สวมชุดครุยผู้บริหารในวันรับพระราชทานปริญญาบัตร,เข้าร่วมประชุม เป็นต้น แต่ยกเว้นรองอธิการบดีบางคนที่มีชื่อปรากฏเป็นรองอธิการบดีทั้งสองฝ่ายทับซ้อนกัน
ต่อมาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ศาลแขวงพระนครเหนือได้อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อ 1806/2566 คดีหมายเลขแดง ที่ อ 4874/2566 ความอาญา ระหว่าง มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดย ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง โจทก์ กับ นายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ จำเลย โดยศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ในข้อหาแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน โดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงาน ที่มีอำนาจกระทำการนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145 โดยศาลได้มีคำวินิจฉัยไว้ตอนหนึ่งว่า “ จำเลยกระทำการไปภายใต้คำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครอง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง คดีโจทก์ไม่มีมูล”
ผลของคำสั่งศาลปกครองกลางที่คุ้มครอง วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 จนกระทั่งศาลปกครองสูงสุดยกเลิก การคุ้มครองตั้งแต่ วันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ประกอบกับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2541 มาตรา 23 วรรคท้าย และประกาศมหาวิทยาลัยรามคำแหง เรื่อง ให้ข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัยและลูกจ้างมหาวิทยาลัยทุกระดับปฏิบัติงานตามปกติภายใต้คำสั่งอธิการบดี ฉบับลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ตลอดจนคำพิพากษาศาลแขวงพระนครเหนือก็ดี ไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาด้วยความเป็นธรรม ขัดต่อหลักกฎหมาย ส่งผลทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการใช้อำนาจ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ออกคำสั่งที่ 573/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการทั้ง ๆ ที่รู้และควรรู้ถึงคำพิพากษาศาลแขวงพระนครเหนือ ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 มาก่อนแล้ว แต่ก็ยังคงมีเจตนาพิเศษและไม่คำนึงถึงคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครองกลาง ประกอบกับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2541 มาตรา 23 และประกาศมหาวิทยาลัยรามคำแหง เรื่อง ให้ข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัยและลูกจ้างมหาวิทยาลัยทุกระดับปฏิบัติงานตามปกติภายใต้คำสั่งอธิการบดี ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 เสมือนเป็นการจงใจกลั่นแกล้งบรรดาข้าพเจ้าด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม สร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียง ชีวิตราชการ และชีวิตความเจริญก้าวหน้าทางราชการในอนาคต ทั้ง ๆ ที่การกระทำตามข้อกล่าวหาไม่เป็นความผิดวินัย ไม่เป็นการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อประโยชน์ ทางราชการ และยืนยันการปฏิบัติหน้าที่บนพื้นฐานความเชื่อโดยสุจริตในอำนาจ หน้าที่และความรับผิดชอบของตำแหน่งรองอธิการบดีมาโดยตลอด
การสรุปผลการสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงซึ่งนำมาสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง การร่วมกันพิจารณาและมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงของคณะกรรมการบริหารงานบุคคลมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ก.บ.ม.) กับบรรดาข้าพเจ้า อดีตรองอธิการบดี ล้วนแล้วแต่เป็นการใช้ดุลพินิจ ที่มิชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อหลักกฎหมาย ขัดแย้งต่อพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อที่จะกลั่นแกล้งบรรดาข้าพเจ้า
ดังนั้นบรรดาข้าพเจ้า อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ไม่มีทางอื่นใดเป็นที่พึ่ง จึงมีความจำเป็นต้อง มาร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้พิจารณาตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการแต่งตั้งกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงดังกล่าว และได้โปรดใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายพิจารณาดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่เกิดความเสียหายยากแก่การเยียวยาได้ในภายหลัง และได้โปรดดำเนินการเสนอแนะ ต่อหน่วยงานที่เกี่ย