คลี่หน้าตากาสิโนถูกกฎหมาย จากรายงานผลการศึกษา การเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เพื่อแก้ไขปัญหาการพนันผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ
‘กาสิโน’ ถูกกฎหมาย กลายเป็นกระแสอีกครั้ง หลัง กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงแบบครบวงจรฯ นำโดย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ได้สรุปรายงานผลการศึกษา การเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เพื่อแก้ไขปัญหาการพนันผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ
รายงานฉบับนี้ ได้ศึกษาผลกระทบทั้งในเชิงบวกและเชิงลบต่อสังคม รวมถึงคลี่ข้อกังวลในเรื่อง ‘กาสิโนถูกกฎหมาย’ ผ่านกรณีศึกษาในต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ซึ่งมีประสบการณ์ดำเนินการมาแล้ว
เนื่องจากไทยเป็น ‘เมืองพุทธ’ ทันทีที่กระแส ‘กาสิโนถูกกฎหมาย’ ถูกจุดขึ้นอีกครั้ง สังคมต่างก็แสดงความกังวลว่าจะกระทบระบบศีลธรรม วัฒนธรรม และประเพณีอันดีงาม ‘วอยซ์’ ชวนทำความเข้าใจว่า ‘กาสิโนถูกกฎหมาย’ ตามข้อเสนอของ กมธ.วิสามัญฯ จะมีหน้าตาคร่าวๆ อย่างไร และมีข้อเสนอแนะในการจัดการอย่างไร
สถานบันเทิงครบวงจร ≠ กาสิโน
สถานบันเทิงครบวงจร ไม่ได้มีเพียงแค่ ‘กาสิโนถูกกฎหมาย’ เท่านั้น แต่ยังมีธุรกิจอื่นมากมายร่วมด้วย ทั้ง โรงแรม 5 ดาว, ห้างสรรพสินค้า, กาสิโน, สนามกีฬา, สวนสนุก, ยอร์ชและครูซซิ่งคลับ, พื้นที่สําหรับส่งเสริมวัฒนธรรมไทยและสินค้า OTOP, หอประชุมสําหรับการจัดงานแสดงต่างๆ ฯลฯ
การศึกษาจากข้อมูลของสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง ระบุว่า ปี 2565 ทั่วโลกมีมูลค่าสถานบันเทิงครบวงจรประมาณ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าในปี 2571 จะเติบโตถึง 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลจาก Statista พบว่า ประเทศที่มีรายได้สูงสุดจากกาสิโน ได้แก่
- มาเก๊า 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ลาสเวกัส 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- สิงคโปร์ 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- เกาหลีใต้ 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ฟิลิปปินส์ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- เวียดนาม 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ตั้งตุ๊กตา เดินหน้ากาสิโนไทย
สำหรับประเทศไทย หากมีการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ซึ่งจะมีกาสิโนถูกกฎหมายรวมอยู่ด้วยนั้น ข้อเสนอ กมธ.ฯ มีรายละเอียดดังนี้
มีเป้าหมาย > ส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศ หารายได้เข้ารัฐ ส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่น รวมถึงแก้ไขปัญหาการพนันผิดกฎหมาย
กลไกควบคุม > ตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด เพื่อเป็นกลไกในการดําเนินการ เช่น การให้ใบอนุญาต การตรวจสอบ ควบคุม และเยียวผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสังคม
- คณะกรรมการนโยบายการประกอบธุรกิจสถาน บันเทิงครบวงจร
- คณะกรรมการบริหารสถานบันเทิงครบวงจร โดยมีสำนักงานกำกับการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (กธบ.) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ
การประกอบธุรกิจ > ร่าง พ.ร.บ.กาสิโน ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือกาสิโนถูกกฎหมาย ทั้งหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาต ประเภทของใบอนุญาตจำนวนใบอนุญาต ระยะเวลาของใบอนุญาต การกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต เงื่อนไขการเปลี่ยนเจ้าของใบอนุญาต บทกำหนดโทษ และการเพิกถอนใบอนุญาต โดยการประกอบธุรกิจ
คุณสมบัติผู้ประกอบธุรกิจกาสิโนถูกกฎหมาย
- เป็นนิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย
- มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท
- สถานบันเทิงครบวงจรต้องได้รับการอนุญาตจากรัฐบาล ผ่านการประมูลใบอนุญาต
- ใบอนุญาตอายุ 20 ปี ต่อได้คราวละไม่เกิน 5 ปี
ใคร ‘ห้าม’ เข้ากาสิโน
- ผู้อายุน้อยกว่า 20 ปี
- บุคคลซึ่งถูกสํานักงาน กธบ.สั่งห้ามเข้ากาสิโน
- บุคคลซึ่งถูกศาลสั่งห้ามเล่นการพนัน
- คนไทยต้องลงทะเบียนและชําระค่าธรรมเนียม (ตามที่คณะกรรมการนโยบายกําหนด)
พื้นที่เป้าหมายตั้งกาสิโนมีหลายทางเลือก
- กทม.
- เขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ เช่น EEC
- ในจังหวัดที่รัศมีไม่เกิน 100 กม.จากสนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา
รายได้ต่อปี (คาดการณ์) 1.2 หมื่นล้านบาท / ลูกค้าขั้นต่ำ 4.8 ล้านคน
วิธีเก็บภาษีกาสิโน
ในรายงานของ กมธ.ฯ ยังได้เสนอแนวคิดในการจัดเก็บ ‘ภาษีกาสิโน’
- รายได้ขั้นต้นจากการเล่นพนัน (Gross Gambling Revenue; GGR) คือ รายได้หลังการหักค่าใช้จ่ายเบื้องต้นที่ผู้ประกอบการได้จากผู้เล่นที่วางเดิมพันในอัตรา 17%
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรมสรรพากรได้เสนอโมเดลการจัดเก็บ 3 ขั้น
- รายรับรวมจากการเล่นเกม 0-20 ล้านบาท อัตราภาษี 20%
- รายรับรวมจากการเล่นเกม มากกว่า 20-40 ล้านบาท อัตราภาษี 25%
- รายรับรวมจากการเล่นเกม 40 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 30%
- ภาษีมูลค่าเพิ่มจะได้รับการยกเว้น
สำหรับค่าธรรมเนียมการเข้าใช้บริการ รายงานของ กมธ. เสนอว่า เพื่อป้องกันผู้มีสัญชาติไทยที่เป็นกลุ่มเปราะบางเข้าใช้บริการ ควรมีการเก็บภาษีการเข้าใช้บริการในอัตราที่เหมาะสมกับฐานรายได้ของคนไทย โดยตัวอย่างอัตราการเก็บในประเทศอื่นๆ เช่น
- สิงคโปร์เก็บ 4,500 บาทต่อวัน
- ญี่ปุ่นเก็บ 1,300 บาทต่อวัน
‘กาสิโนถูกกฎหมาย’ ในต่างประเทศ
- สิงคโปร์
> สถานบันเทิงครบวงจรในสิงคโปร์ ดึงดูดลงทุนจากต่างประเทศกว่า 300,000 ล้านบาท การจ้างงานที่มีรายได้สูงมากกว่า 20,000 ตำแหน่ง เพิ่มรายได้ภาคการท่องเที่ยวกว่า 47% เทียบกับก่อนการสร้างสถานบันเทิงครบวงจร และสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อ GDP คิดเป็นมูลค่ากว่า 240,000 ล้านบาท
> ธุรกิจกาสิโน อยู่ภายใต้ควบคุมของกฎหมาย และต้องเสียภาษี (Casino Tax) 12% ของรายรับแต่ละเดือน (ในส่วนผู้เล่นพรีเมี่ยม) และเสียภาษี 22% ของรายรับในแต่ละเดือน (สำหรับผู้เล่นอื่นธรรมดา)
> ออกใบอนุญาตธุรกิจกาสิโนได้ไม่เกิน 2 ใบอนุญาต (1 ใบอนุญาต ต่อ ผู้ประกอบการ 1 ราย) โดยมีอัตราค่าธรรมเนียมยื่นคำขออนุญาต 1,100 ดอลลาร์สิงคโปร์ และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี กรณีมีกาสิโน1 แห่ง ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 28.8 ล้านดอลลาร์
> ผู้เล่นอายุ 21 ปี ขึ้นไป คนในประเทศจ่ายค่าเข้า 3,900 บาท/วัน และมีการตั้งสภาแก้ไขปัญหาการติดพนันแห่งชาติ
> กรณีคนในครอบครัวติดการพนัน สมาชิกครอบครัวสามารถส่งคำขอไปที่หน่วยงาน เพื่อจำกัดการเข้าใช้บริการได้ หรือผู้เล่นสามารถยื่นคำขอจำกัดจำนวนการเข้าใช้โดยสมัครใจ
> จัดตั้งสภาแก้ไขปัญหาการติดพนันแห่งชาติ มีอำนาจในการตั้งคณะกรรมการพิจารณากรณีสมาชิกในครอบครัวของผู้ติดการพนัน มีคำขอให้ออกคำสั่งห้ามหรือจำกัดบุคคลมิให้ยุ่งเกี่ยวกับการพนัน ขณะเดียวกัน ผู้เล่นพนันเองก็สามารถยื่นคำขอจำกัดจำนวนการเข้าใช้กาสิโนโดยสมัครใจ
> หลังเปิดสถานบันเทิงครบวงจร ปัญหาการพนันโดยรวมในประเทศสิงคโปร์มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอัตราปัญหาการเสพติดการพนันและการพนันผิดกฎหมายได้ลดลงจาก ร้อยละ 2.1 ในปี 2548 เป็น ร้อยละ 1.4 ในปี 2554 และลดลงเหลือประมาณ ร้อยละ 0.2 ในปี 2563
> รัฐบาลสิงคโปร์ มีนโยบายส่งเสริม ‘สถานบันเทิงครบวงจร’ ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเข้มงวด โดย สิงคโปร์มีนักท่องเที่ยว 15 ล้านคน กว่า 30% ได้ไปเยี่ยมชมสถานบันเทิงแบบครบวงจร มูลค่าการจัดเก็บภาษีอยู่ที่ประมาณ 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ญี่ปุ่น
> ออกกฎหมาย 2 ฉบับ เพื่อกำหนดหลักการพื้นฐานสำหรับสถานบันเทิงครบวงจร และมีการควบคุมและกำกับดูแลในรูปแบบคณะกรรมการควบคุมการประกอบการกาสิโน และขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เรียกว่า Casino Regulatory Commission
> ผู้ขอใบอนุญาตทำธุรกิจกาสิโน ต้องได้รับการรับรองให้ประกอบกิจการ Specified Integrated Resort (SIR) จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวเท่านั้น จึงจะขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการกาสิโนได้
> กำหนดให้คนญี่ปุ่นและคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ใน ประเทศที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป สามารถเข้ากาสิโนได้เพียง 3 ครั้งต่อ 28 วัน เสียค่าเข้า 1,500 บาท ต่อวัน (ชาวต่างชาติไม่เสียค่าเข้า) และคนญี่ปุ่นและคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศ จะต้องใช้เงินสดในการซื้อชิปเท่านั้น ส่วนคนต่างชาติที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในประเทศ สามารถใช้บัตรเครดิตซื้อชิปได้
> สำหรับการโฆษณา ทำได้แค่อาคารผู้โดยสารในสนามบิน และบริเวณพื้นที่สถานบันเทิงครบวงจรเท่านั้น ห้ามโฆษณาเชิญชวนบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้ากาสิโน
> สถานบันเทิงครบวงจร ต้องต่ออายุสัญญาทุก 4 ปี ส่วนกาสิโนต้องต่อสัญญาทุกๆ 3 ปี
> กำหนดให้มีกาสิโนได้แค่ 3 แห่ง และจะพิจารณาเกณฑ์ใหม่ภายอีก 7 ปี นับแต่วันที่ได้รับอนุมัติ แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นยังมีกาสิโนเพียง 1 แห่ง เท่านั้น คือที่ โอซากา
> กำหนดอัตราส่วนพื้นที่กาสิโนต่อพื้นที่กิจการอื่น ๆ ในสถานบันเทิงครบวงจร ไม่เกิน 3%
> ปี 2029 สถานบันเทิงครบวงจรในโอซากะจะเปิดทำการ โดยรัฐบาลคาดว่า จะดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 20 ล้านคน และสร้างรายได้กว่า 520 พันล้านเยน กระตุ้นการท่องเที่ยว และสร้างอาชีพให้กับประชาชนกว่า 1.5 หมื่นตำแหน่ง และคาดว่าจะสร้ารายได้กว่า 1 ล้านล้านเยนต่อปี
> ปัจจุบัน รัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุมัติแผนก่อสร้างสถานบันเทิงครบวงจร 3 แห่ง คือ เมืองโอซากะ เมืองนางาซากิ และเมืองฟุกุโอกะ
สหรัฐอเมริกา
> สถานบันเทิงครบวงจร สร้างงานกว่า 1.8 ล้านตำแหน่ง สร้างรายได้ 3.29 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และสร้างรายได้ให้แรงงาน 1.04 แสนล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ยังเก็บภาษีให้รัฐบาลกลางสหรัฐและท้องถิ่นได้รวม 5.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
> ผลสำรวจพบว่า ชาวอเมริกัน 9 ใน 10 หรือ 88% มองว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ สำหรับการมีสถานบันเทิงครบวงจร โดยผู้ใหญ่ชาวอเมริกันราว 102 ล้านคน (41% ของประชากร) เข้ากาสิโนเพื่อเข้าไปเล่นพนันหรือเพื่อรับความบันเทิงด้านอื่น และชาวอเมริกัน 71% มองว่ากาสิโนหรืออุตสาหกรรมการพนันสร้างผลบวกให้แก่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ
> ตัวอย่างลาสเวกัส รัฐเนวาดา เก็บภาษีกาสิโนที่ 10% ของ GGR (รายได้หลังการหักค่าใช้จ่ายเบื้องต้น ที่ผู้ประกอบการได้จากผู้เล่นที่วางเดิมพัน)
ข้อสังเกต กมธ.
ผลกระทบ ‘เชิงบวก’
- อัตราการว่างงานของคนในพื้นที่ลดน้อยลง
- ประชาชนพึ่งพนันที่ผิดกฎหมายน้อยลง
- เศรษฐกิจภายในประเทศมีการเติบโต กระตุ้นเงินหมุนเวียนในระบบไม่ให้รั่วไหลออก
- รัฐสามารถสร้างรายได้จากการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจากธุรกิจสถานบันเทิงแบบครบวงจรและกาสิโนหลายแสนล้านบาทต่อปี
- รัฐมีรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวของประชาชน
- ลดภาระเจ้าหน้าที่ในการปราบปรามการพนันเถื่อน การช่วยลดปัญหาผู้มีอิทธิพล
- กลุ่มเด็ก และเยาวชน ในครอบครัวยากจนอาจมีรายได้จากการจ้างงานชั่วคราว (Part-time) เกิดการจ้างงานสร้างอาชีพให้กลุ่มผู้สูงอายุหรือคนพิการให้สามารถพึ่งพาตนเองได้
- เกิดการพัฒนาหลักสูตรส่งเสริมทักษะเฉพาะด้านในสถานศึกษา เพื่อรองรับตลาดแรงงานฝีมือที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจในสถานบันเทิงครบวงจร
ผลกระทบ ‘เชิงลบ’
- เสพติดการพนันของบุคคลอาจเพิ่ม
- ก่อปัญหาด้านอาชญากรรม ครอบครัว ยาเสพติด และหนี้สินตามมา
- อาจเป็นช่องดึงดูดแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้าเมืองได้ง่าย
- หากรัฐไม่มีมาตรการควบคุม อาจเป็นแหล่งฟอกเงินของธุรกิจที่ผิดกฎหมาย การค้ายาเสพติด การค้าโสเภณี ข้ามชาติ และการค้าสินค้าหนีภาษี ฯลฯ
- สร้างนิสัยเกียจคร้านให้กับผู้เล่น ไม่สนใจประกอบอาชีพสุจริต คนที่เล่นได้ ทำให้มีเงินใช้สอยฟุ่มเฟือย เป็นการสร้างค่านิยมที่ผิดในหมู่ประชาชน
- อาจกลายเป็นศูนย์รวมอบายมุขและแหล่งอาชญากรรม โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดกับเด็กและเยาวชน
- สถานบันเทิงแบบครบวงจรและกาสิโน ใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ จึงอาจมีผลกระทบต่อระบบนิเวศจากการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในพื้นที่ก่อสร้าง เช่น การตัดไม้ ทำลายป่า มลภาวะจากฝุ่นละออง รวมถึงมลพิษตามแหล่งน้ำจากสิ่งปฏิกูลมูลฝอยและสารเคมี ที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำสำหรับใช้อุปโภคและบริโภค
- อาจมีปัญหาเรื่องเสียงรบกวนและการสั่นสะเทือนจากการแสดง ดนตรีสด การเปิดเพลงเสียงดัง ของสถานบันเทิง การรวมกลุ่มมั่วสุม การดื่มสุรา เสียงจากการก่อสร้าง
ที่มา: รายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง ศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย และเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ , คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร.2567