หน้าแรก Voice TV 'ชูศักดิ์' ถอนร่าง พ.ร.ป. 2 ฉบับ หลัง 'ป.ป.ช.-อสส.' ติงอาจขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

'ชูศักดิ์' ถอนร่าง พ.ร.ป. 2 ฉบับ หลัง 'ป.ป.ช.-อสส.' ติงอาจขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

84
0
'ชูศักดิ์'-ถอนร่าง-พรป-2-ฉบับ-หลัง-'ปปช-อสส.'-ติงอาจขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

‘ชูศักดิ์’ ถอนร่าง พ.ร.ป. ‘ป้องกันและปราบปรามทุจริตฯ-วิธีพิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งฯ’ หลัง ‘ป.ป.ช.-อัยการสูงสุด’ ติงอาจขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ป้องกันผู้ดำรงตำแหน่งฯ ถูกฟ้องเรื่อยๆ

วันที่ 29 มี.ค. ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการขอถอนร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และร่าง พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า จากการที่ตน และคณะได้นำเสนอกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ไปเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2566 และกระบวนการของรัฐสภาได้มีการรับฟังความคิดเห็นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแล้วนั้น 

สำหรับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มีเจตนารมณ์สำคัญคือ การถ่วงดุลการใช้อำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการไต่สวนคดีทุจริตประพฤติมิชอบ เพราะหลักกฎหมายขณะนี้ ระบุว่า หาก ป.ป.ช. เห็นว่า ไม่มีมูลก็สั่งยุติเรื่อง ทำให้ไม่มีองค์ใดมาตรวจสอบว่า พยานหลักฐานเพียงพอหรือไม่ นั่นจึงทำให้เห็นว่า ควรส่งสำนวนต่อให้อัยการสูงสุด (อสส.) หากเห็นว่ามีมูล อาจจะสั่งฟ้องคดีอาญาต่อศาลที่มีเขตอำนาจ แต่ถ้าหากเห็นว่า ไม่มีมูลก็ให้สั่งยุติเรื่องไป 

ชูศักดิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ ป.ป.ช. และ อสส.สั่งไม่ฟ้องคดีที่ประชาชนได้รับความเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ สมควรให้ประชาชนสามารถฟ้องคดีอาญาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชน 

สำหรับผลการรับฟังความคิดเห็นนั้น ชูศักดิ์ กล่าวว่า ความเห็นส่วนใหญ่มีแนวโน้มเห็นด้วยในหลายเรื่อง อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง เช่น ป.ป.ช. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ อสส. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เห็นด้วยในบางกรณี แต่ไม่เห็นด้วยในหลักการสำคัญ 

โดยเฉพาะ ป.ป.ช. ที่มองว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในฐานะผู้ถูกกล่าวหา ควรได้รับการตรวจสอบจาก ป.ป.ช. ในการไต่สวนว่ามีมูลพอสมควรหรือไม่ ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการให้หลักประกันว่า มีพยานหลักฐานพอสมควร และป้องกันไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกฟ้องไปเรื่อยๆ 

“เมื่อมาไตร่ตรองดูแล้ว น่าจะถอนร่างนี้กลับมาพิจารณาให้รอบคอบสมบูรณ์ขึ้น โดยเป็นห่วงเรื่องการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หากรัฐสภาผ่านไปแล้วก็ต้องส่งให้องค์กรอิสระพิจารณา และถ้าขัดต่อรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระก็มีอำนาจส่งมาที่สภาฯ เพื่อส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นเพื่อความรอบคอบรัดกุม ขอถอนร่างออกมาก่อน” ชูศักดิ์ กล่าว 

นอกจากนี้ ชูศักดิ์ ยังกล่าวถึงร่าง พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นกฎหมายควบคู่ไปกับกฎหมายฉบับแรก หากกฎหมายฉบับแรกได้รับการพิจาณา กฎหมายฉบับที่ 2 นี้ก็สมควรได้รับการพิจารณาควบคู่ไปด้วย จึงขอถอนร่างทั้งสองฉบับเพื่อไปพิจารณาให้รอบคอบต่อไป 

ขณะที่ วิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้กล่าวเห็นด้วยกับ ชูศักดิ์ ในการถอนร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวไปเพื่อปรับปรุงไม่ให้ขัดจ่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่ยืนยันว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวนั้นเป็นหลักการที่ดีมาก 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่