สร้างความสนใจให้กับคอการเมืองไม่น้อยหลังจากที่ นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตพิธีกรชื่อดัง และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งลี้ภัยในต่างแดนนานถึง 15 ปี ประกาศผ่านเฟซบุ๊กว่า จะเดินทางกลับประเทศไทย โดยระบุว่า “พฤ. 28 มี.ค. 67 เวลา 07.35 น. กลับไปรับใช้ เมืองไทยครับ”
- “จักรภพ เพ็ญแข” ประกาศกลับไทย 28 มี.ค.ขอไปรับใช้เมืองไทย
- “จักรภพ” ถูกคุมตัวเข้ากองปราบฯ สู้คดีค้างเก่า-อั้งยี่
- ให้ประกันตัว! “จักรภพ” วงเงิน 4 แสนบาทคดีอาวุธปืน-อั้งยี่
ก่อนขึ้นเครื่องกลับไทย นายจักรภพ โพสต์คลิปเปิดใจถึงการตัดสินใจเดินบอกถึงการเดินทางกลับไทย ส่วนหนึ่งระบุว่า เหตุผลออกนอกประเทศเพราะมีปัญหาสุขภาพ และไม่ได้กลับเมืองไทยเพราะเหตุการณ์ไม่เอื้ออำนวย และมาอยู่ต่างประเทศได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลก
ความขัดแย้งในอดีตคนทุกคนได้คิด หลังจากเวลาผ่านไปกว่า 10 ปี และหวังว่าจะได้สู้คดีและออกมาสู่อิสรภาพ และกลับมาทำงานรับใช้บ้านเมืองตามใจปรารถนา
ทำหลายคนจับจ้องว่า จะเป็นการเดินตามรอย นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เดินทางกลับประเทศไทยมาก่อนหน้านี้หรือไม่ วันนี้มาทำความรู้จัก “จักรภพ เพ็ญแข” ให้มากขึ้น แล้วเขาเป็นใครบนเส้นทางการเมืองในประเทศไทย
ประวัติ “จักรภพ เพ็ญแข”
นายจักรภพ เกิดวันที่ 21 ต.ค. 2510 ปัจจุบันอายุ 56 ปี จบการศึกษาระดับประถมและมัธยม ที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในระดับ ปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท และปริญญาเอก ที่วิทยาลัยระหว่างประเทศศึกษาชั้นสูง พอล เอช.นิทซ์ (SAIS) มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา
ย้อนหลับไปก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมือง “จักรภพ เพ็ญแข” เติบโตมาจากการเป็นผู้ดำเนินรายการโทศทัศน์ให้หลายช่อง ร่วมกว่า 10 ปี กับภาพที่ทุกคนจำได้ คือ สวมแว่นตากรอบโตและทรงผมเรียบ รวมไปถึงการพูดอันฉะฉาน
จากบทบาทสื่อสู่เส้นทางการเมือง
จักรภพ เพ็ญแข ได้รับการแต่งตั้งเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ต่อมาไม่นาน ก็ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในนามพรรคไทยรักไทย แต่ไม่ได้รับเลือกถึง 2 ครั้ง ต่อมา นายจักรภพได้รับแต่งตั้งเป็น “รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี” ในรัฐบาลทักษิณ 2
หลังจากคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ.2549 นายจักรภพ เป็นแกนนำจัดเวทีปราศรัยต่อต้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นที่ท้องสนามหลวง ใช้ชื่อว่า “แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ” (นปก.)
ในปี 2550 พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง โดยมีสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2551 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายจักรภพดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่กำกับดูแลสื่อมวลชนภาครัฐ
ปีเดียวกันนั้น นายจักรภพ เป็นประธานในการเปลี่ยนแปลงสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 เป็น สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT)
อย่างไรก็ตาม นายจักรภพ มีบทบาทในการก่อตั้ง นปก. ก่อนมาเป็น นปช. หรือ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ก่อนที่นายจักรภพตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ ในช่วงเดือน เม.ย.2552
ต่อมาเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 มีรัฐประหารในประเทศไทย คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกคำสั่งที่ 49/2557 เรียกให้นายจักรภพไปรายงานตัว แต่นายจักรภพมิได้ไปตามคำสั่งดังกล่าว ศาลทหารจึงออกหมายจับข้อหาฝ่าฝืนการไปรายงานตัว และข้อหามีอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง
และในวันที่ 7 ธ.ค.2560 ศาลอาญาได้ออกหมายจับ ในข้อหาร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิด ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมายและเป็น “อั้งยี่”
ก่อนที่จะกลับประเทศไทยในวันนี้ นายจักรภพ เพ็ญแข ได้ใช้สื่อโซเซียลมีเดียในการสื่อสารแฟนคลับ ทั้งการเขียนวิเคราะห์สถานการณ์ในต่างประเทศ และการเมืองไทย ในหลากลายประเด็น เช่น คำขู่ของ โดนัลด์ ทรัมป์, เมื่อจีนเงินฝืด, นักเจรจาเบื้องหลังการปล่อยตัวประกัน เป็นต้น
คดี “อั้งยี่”
วันนี้ (28 มี.ค.) เมื่อเวลา 08.00 น. นายจักรภพ เดินทางกลับถึงประเทศไทย โดยลงเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ มีพี่สาวมารอรับและนำกระเป๋าออกจากสนามบินบริเวณชั้น 2 ประตู 9
มีรายงานตำรวจได้พานายจักรภพ เดินทางไปกองปราบปรามทันที เพื่อดำเนินคดีในหมายจับในข้อหาร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิด ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมายและเป็นอั้งยี่
ทั้งนี้ iLaw อธิบายว่า “อั้งยี่” ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง “สมาคมลับของคนจีน” หรือ อีกความหมาย อั้งยี่ แปลว่า “ตัวหนังสือสีแดง”
อั้งยี่นั้นมีอยู่คู่กับสังคมไทยมานาน หมายถึงการตั้งสมาคมลับของคนจีนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย เพื่อใช้จัดการดูแล และแสวงหาผลประโยชน์กันเองในกลุ่มคนจีนอพยพที่เข้ามาเป็นแรงงาน และค้าขายในประเทศไทย ปกครองกันด้วยระเบียบและกฎที่ตั้งขึ้นกันเองในอั้งยี่นั้น ๆ โดยแยกเป็นหลายอั้งยี่ แล้วแต่ใครจะเข้าร่วมกับอั้งยี่ใด
ความผิดฐานอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 เป็นฐานความผิดที่มีมาแต่โบราณ จนบรรจุลงไปในประมวลกฎหมายอาญาไทย เจตนารมณ์ของความผิดฐานนี้ เพื่อใช้ควบคุมการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อจะทำสิ่งที่ฝ่าฝืนกฎหมาย หรือเรียกว่า ปราบปรามกลุ่มแก๊งผู้มีอิทธิพล
*** สำหรับ มาตรา 209 ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท
ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า ผู้จัดการหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท
อ่านข่าวอื่น ๆ
รร.พร้อมรับมติ ครม.จ้าง “ภารโรง” ช่วยอยู่เวรแทน “ครู”