ยอดสกัดยาเสพติดชายแดนเชียงรายพุ่ง ’เลขาฯ ปปส. – แม่ทัพน้อยที่สาม‘ เชื่อเจ้าหน้าที่ทำงานมีประสิทธิภาพ คาดสถานการณ์ในเมียนมาเป็นเหตุ พ่อค้ายาอาศัยช่องว่างเร่งขนย้าย การข่าวระบุจ่อลักลอบระรอกใหม่ 80 ล้านเม็ด ย้ำไม่มีการส่งออกสารตั้งต้นจากไปไปรัฐฉาน เผยคุยจีนช่วยสกัดสารตั้งต้นจากยูนานสู่โกก้าง เลขาธิการ ปปส. ลั่น พร้อมฟันข้าราชการพัวพันขบวนการค้ายา
29 มี.ค. 2567 พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ลงพื้นที่ฐานปฏิบัติการดอยช้างมูบ รับฟังผลการปฏิบัติงานสกัดกั้นยาเสพติดในพื้นที่จังหวัดเชียงราย พร้อมให้สัมภาษณ์ร่วมกับ พล.ท.นฤทธิ์ ถาวรวงษ์ แม่ทัพน้อยที่ 3 และผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคเหนือ หรือ นบ.ยส.35
พล.ท.นฤทธิ์ ระบุว่า จากสถานการณ์การสู้รบในประเทศเมียนมา คาดว่าจะทำให้การนำเรียงยาเสพติดข้ามประเทศทวีความรุนแรงขึ้น จากการข่าวได้คาดว่า กำลังจะมีการเตรียมการนำยาเสพติด ประเภทยาบ้า เข้ามาในประเทศไทยระลอกใหม่ อีกประมาณ 70 – 80 ล้านเม็ด
แม่ทัพน้อยที่ 3 กล่าวต่อว่า ผู้ลักลอกนำเรียงยาเสพติด มีการปรับเปลี่ยนพฤติการณ์ในการกระทำความผิดมาโดยตลอด เพื่อที่จะหลบหลีกการสกัดกั้นของเจ้าหน้าที่ และเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่าการสกัดกั้นตามแนวชายแดนนั้นทางเจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำได้ทั้งหมดเนื่องจากสภาพของภูมิประเทศ ทางเจ้าหน้าที่ทหารรวมทั้งหมด ป.ป.ส. เมื่อได้รับการข่าวมาว่า มีการลักลอบนำยาเสพติดหลุดเข้าประเทศมาแล้ว ก็จะมีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อตั้งจุดสกัดกั้นภายในประเทศต่อ อย่างไรก็ตามเมื่อเห็นว่าสถานการณ์เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นทางหน่วยก็ได้ขอเพิ่มกำลังคนโดยการนำเจ้าที่หน่วยอื่นเข้ามาช่วยปฏิบัติหน้าที่
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าหากดูจากสถิติการจับกุมยาเสพติด ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปีนั้น เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงอะไรบ้าง แม่ทัพน้อยที่ 3 ระบุว่า จากประสบการณ์ที่เคยทำงานเป็นผู้บังคับการกองกำลังผาเมืองมากว่า 10 ปี ก่อนจะมาดำรงตำแหน่งนี้ มองว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีลักษณะปล่อยปละละเลย แต่ต้องยอมรับโดยตรงว่ามีความพยายามในการนำยาเสพติดเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นในทุกปี
“เปรียบเหมือนเราเป็นเขื่อนที่กั้นน้ำ เมื่อน้ำมีเข้ามามากๆ ก็ย่อมมีการทะลักออกไปบ้าง แต่ก็ยืนยันว่าเราทำงานกันอย่างเต็มที่แล้ว และในปีนี้รัฐบาลก็ได้จัดตั้งหน่วยบัญชาการปราบปรามยาเสพติดขึ้นมา โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่เชียงใหม่ เชียงรายเป็นพิเศษ ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ“ พล.ท.นฤทธิ์ กล่าว
ผลจากการปฎิบัติงานอย่างเข้มข้นบริเวณแนวชายแดน ตลอดช่วงปีที่ผ่านมาเจ้าที่สามารถสกัดกั้นยาเสพติดได้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 20 ล้านเม็ด ยืนยันว่าในปัจจุบันเราสามารถสกัดกั้นยาเสพติดที่ลักลอบนำเข้ามาในประเทศไทยได้ไม่น้อยกว่า 60% ของจำนวนทั้งหมด
เมื่อผู้สอบถามว่าได้มีการปฏิบัติการเพื่อสกัดกั้นการส่งออกสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดไปยังประเทศเพื่อนบ้านบ้างหรือไม่ แม่ทัพน้อยที่ 3 ระบุว่า ที่ผ่านมายังพบว่า ไม่มีการลักลอบส่งออกสารเคมีพันธุ์ที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดจากประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านและสถานะของสารเคมีเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามการข่าวสืบทราบว่า ผู้ผลิตยาเสพติดในประเทศพม่ามีการนำเข้าสารเคมีพันธุ์ที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยามาจากประเทศเพื่อนบ้านอีกทีหนึ่ง ทั้งจากประเทศจีน และประเทศอินเดีย ซึ่งที่ผ่านมาทางการไทยก็ได้ขอความร่วมมือไปยังประเทศเหล่านั้นเพื่อขอให้มีการดำเนินการสกัดกั้นแล้ว
เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติเปิดเผยด้วยว่า จากการที่ดำเนินการติดต่อเจรจากับทางการจีนได้ผลว่า ทางจีนยินดีร่วมสกัดกั้นสารตั้งต้นที่จะถูกส่งเข้าไปยังประเทศเมียนมา ทั้งในรัฐฉานตอนบน และตอนล่าง
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าปัญหาสำคัญสำหรับบ้านเราคือยาบ้า หากไม่มีการนำเรียนสารตั้งต้นเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านก็จะทำให้กระบวนการผลิตยาเสพติดมีความยากขึ้น และยืนยันยืนยันว่าสารตั้งต้นที่เข้าไปในประเทศเมียนมาไม่ได้มาจากทางบ้านเราแต่ส่วนใหญ่จะเข้ามาทางประเทศจีนในมณฑลยูนาน ซึ่งติดกับโกก้างในรัฐฉานทางตอนเหนือ
“ตั้งแต่เราเปิดปฏิบัติการตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2566 จนถึงปัจจุบัน หากเทียบช่วงเวลานี้กับเมื่อปีที่แล้ว พบว่าเราจับได้เพิ่มขึ้นมากถึง 50 ล้านเม็ดหมายความว่า การสกัดกั้นมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การจัดการกับอุปสงค์ก็เป็นการแก้ปัญหาในส่วนหนึ่งแต่เราก็ต้องหันกลับมาดูอุปทานของคนในฝั่งเราว่าจะทำอย่างไรให้คนหันไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด“ เลขาธิการ ป.ป.ส.กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ในกรณีการลักลอบนำเข้ายาเสพติดนั้นหลายครั้งพบว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ในส่วนนี้ได้มีการดำเนินการอย่างไรบ้าง พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ ระบุว่า นโยบายของนายกรัฐมนตรีว่าด้วย การจัดการปัญหายาเสพติด มีด้วยกันทั้งหมด 4 ข้อหลัก หนึ่งคือการเปลี่ยนผู้เสพให้เป็นผู้ป่วย สองคือการปลุกให้ชุมชนลุกขึ้นมาต่อสู้กับยาเสพติดสามคือการปราบปรามยึดทรัพย์พ่อค้ายาเสพติด และสุดท้ายคือการจัดการกับข้าราชการชั่วที่มีส่วนเข้าไปพัวพันเกี่ยวข้องกับกระบวนการค้า
“ในส่วนของการจัดการกับข้าราชการนั้นที่ผ่านมาผมก็ได้รับเรื่องร้องเรียนเข้ามาหลายเรื่อง และประเด็นเหล่านี้ ปปส. จะดำเนินการเข้าไปจัดการและทำการจับกุมเอง”