หน้าแรก Voice TV ผู้ตรวจฯ ถกปม 'ผู้เสพเป็นผู้ป่วย' ผู้การแต้ม-นักอาชญวิทยา จี้ส่งศาลปกครองพิจารณรา

ผู้ตรวจฯ ถกปม 'ผู้เสพเป็นผู้ป่วย' ผู้การแต้ม-นักอาชญวิทยา จี้ส่งศาลปกครองพิจารณรา

62
0
ผู้ตรวจฯ-ถกปม-'ผู้เสพเป็นผู้ป่วย'-ผู้การแต้ม-นักอาชญวิทยา-จี้ส่งศาลปกครองพิจารณรา

ผู้ตรวจฯ ถกปม ‘ผู้เสพเป็นผู้ป่วย’ หลังอดีต ผบ.ตร. ยื่นคำร้อง ประกาศ สธ. กำหนดปริมาณสาร ยาบ้า 5 เม็ด – ไอซ์ 100 มิลลิกรัม เชิญ 7 หน่วยงานร่วมประชุม

พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานประชุมเพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงกรณีที่ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยื่นคำร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาและเสนอความเห็นไปยังศาลปกครองให้วินิจฉัย ว่ากรณีกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครอง 2567 โดยหนึ่งในนั้นมีการกำหนดปริมาณการครอบครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด ยาไอซ์ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม เป็นการครอบครองเพื่อเสพ และให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ป่วย มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่

โดยได้มีการเชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานอัยการสูงสุด และกรมการแพทย์ เข้าร่วมหารือ

พล.ต.ต.วิชัย กล่าวว่า เนื่องจากเห็นว่ากฎกระทรวงดังกล่าว ขัดต่อความสงบเรียบร้อยไม่สร้างผลดีให้กับประชาชน ตรงกันข้ามสร้างผลร้ายให้กับประชาชนมากขึ้น และประกาศกฎกระทรวงฯ ไม่ได้ทำตามหลักวิชาการ มีการเร่งรีบที่จะออกประกาศ ซึ่งเชื่อว่าการออกประกาศมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง เชื่อว่าจะเกิดปัญหาในภายหลัง อย่างช่วงเช้าวันนี้ (1 เม.ย.) ก็มีข่าวคนคลั่งยา ตัดศีรษะมารดา และหิ้วหัวประจาน ก็เกิดจากพิษภัยของยาบ้า สะท้อนให้เห็นว่ารัฐไม่ได้มีการควบคุมหรือมีนโยบายที่จะทำให้ผู้เสพหายจากอาการป่วยอย่างเด็ดขาด แต่กลับนำปริมาณยามาเป็นข้อสันนิฐาน ว่าเป็นผู้เสพ และสร้างความลำบากในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มากมาย ที่สำคัญเป็นนโยบายนี้เอื้อให้เจ้าหน้าที่ทุจริตต่อหน้าที่มากขึ้น ปัญหาอาชญากรรมมากขึ้น สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนมากขึ้น จึงถือว่าประกาศนี้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน อยากให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องไปยังศาลปกครองให้ยกเลิก เพื่อให้ประชาชนเกิดความปลอดภัย

พล.ต.ต.วิชัย ยังตั้งคำถามว่าเหตุใดกฎกระทรวงฉบับนี จึงระบุว่ายาเสียสาวต้องมีไว้ไม่เกิน 10 เม็ด ถือว่าเป็นผู้เสพ เพราะผู้ที่จะถือยานี้คือผู้ชายที่จะนำยาไปใส่ให้กับผู้หญิงกินแล้วล่วงละเมิดทางเพศ คงไม่มีผู้หญิงที่จะใช้ยานี้เพื่อตัวเอง จึงไม่เข้าใจว่านำเรื่องนี้มากำหนดไว้ในประกาศกฎกระทรวงได้อย่างไรเพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างชัดเจน

ด้าน พ.ต.ท.กฤษณพงค์ พูตระกูล หรือ อาจารย์โต้ง นักอาชญวิทยา กล่าวว่า วันนี้มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวิชาการ กับผู้ตรวจการแผ่นดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าการที่จะออกนโยบาย หรือออกประกาศดังกล่าวจะต้องยึดโยงกับข้อมูลหลักทางวิชาการ และการวิจัย รวมถึงข้อมูลจากฝั่งผู้ปฏิบัติงาน หากย้อนดูในงานวิจัย ไม่เห็นว่าทั้งในประเทศและต่างประเทศมีงานวิจัยที่ทำให้อ้างเราสามารถนำมาอ้างได้ว่าการครอบครองยาบ้า 5 เม็ด ถือเป็นผู้เสพ ซึ่งนโยบายเหล่านี้หากมองในมุมหนึ่งรัฐบาลอาจมีเจตนาที่ดี แยกระหว่างผู้เสพและผู้ค้ารายย่อย โดยมีหลักเกณฑ์บางอย่างเพื่อเป็นเส้นแบ่ง แต่ทุกนโยบายย่อมมีด้านบวก และลบเสมอ ซึ่งนโยบายเหล่านี้อาจเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่าการปราบปรามยาเสพติดเราไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง เพราะเรามองแค่มิติเดียวที่ว่าผู้เสพคือผู้ป่วย แต่จริงๆแล้วมีหลายมิติที่รัฐบาลควรจะต้องดู เช่นการบำบัด ฟื้นฟู และแก้ไขผู้ติดยาเสพติดระดับชุมชน มีการดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ สถานที่บำบัดมีเพียงพอหรือไม่ เจ้าหน้าที่ บุคลากร งบประมาณใครเป็นเจ้าภาพ มีกำลังเพียงพอหรือไม่

แต่ขณะนี้กลายเป็นช่องโหว่ ช่องว่าง เช่นผู้ค้ารายย่อยก็ซอยจำหน่ายยา จากเดิมพก 10-15 เม็ด ก็เปลี่ยนมาเป็นพก 5 เม็ด หากตำรวจเจอก็สันนิษฐานก่อนว่าเป็นผู้เสพ ถึงแม้จะบอกว่าดูพฤติการณ์ประกอบก็อาจจะแจ้งข้อหาเป็นผู้ค้าได้ แม้จะมีแค่เม็ดเดียวแต่ในความเป็นจริงแล้วคนที่จะดูพฤติการณ์นั้นคือตำรวจ ฝ่ายสืบสวน แต่เราก็ทราบกันดีในปัจจุบันตำรวจก็ยังมีปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งผมหวังว่าจะมีการทบทวน โดยดูสถิติว่าตั้งแต่ประกาศฉบับนี้ออกไป มีการดำเนินคดีกับผู้ครอบครองยาเช่น 5 เม็ดมีการแจ้งข้อหาจำหน่ายกี่ราย

อย่างไรก็ตาม จากที่มีการทบทวนนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติดของไทย พบว่าการยึดอายัดทรัพย์ขบวนการเครือข่ายเกี่ยวกับยาเสพติดยังน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณยาที่เกิดขึ้น หรือขบวนการเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น และยาเสพติดก็เกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรม อาชญากรรมข้ามชาติ เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนด้วย ดังนั้นเราอาจจะต้องมองปัญหารอบด้านในทุกมิติ ส่วนตัวเห็นว่านโยบายอะไรก็ตามที่ประกาศออกมาต้องมีความเข้าใจทั้งในเรื่องของความรู้ หลักวิชาการและเข้าใจในมุมมองฝั่งผู้ปฏิบัติ เพราะสุดท้ายเราเห็นตรงกันเพื่อสังคมที่สงบสุขเรียบร้อย

ด้าน พ.ต.ท.กีรป กล่าวว่า การเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือในวันนี้เพื่อทบทวนประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด เนื่องจากมีผู้มาร้องเรียนว่าอาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอาจจะเป็นปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ หรือเกิดผลกระทบต่อสังคมโดยรวม จึงได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมารับฟังข้อมูลในการที่จะเสนอต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้มีคำวินิจฉัย ซึ่งก็จะมีอยู่ 2 กรณี หากขัดต่อกฎหมายก็จะส่งเรื่องต่อศาลปกครอง แต่หากกฎกระทรวงฉบับนี้ยังไม่เหมาะสมยังมีข้อบกพร่องใดๆ ก็จะเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทบทวน ทั้งนี้เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับดำเนินการแล้ว หากจะส่งเรื่องไปยังศาล ก็จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จไม่เกิน 90 วันนับจากวันที่ได้รับเรื่อง

ทั้งนี้ ภายหลังจากการประชุมดังกล่าว สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีการประมวลความคิดเห็น เพื่อส่งเรื่องให้กับผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณามีมติอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่