หน้าแรก Voice TV ‘วิษณุ วรัญญู’ คือใคร  ทำไม สว. ปัดตกนั่ง ‘ประธานศาลปกครองสูงสุด’

‘วิษณุ วรัญญู’ คือใคร  ทำไม สว. ปัดตกนั่ง ‘ประธานศาลปกครองสูงสุด’

86
0
‘วิษณุ-วรัญญู’-คือใคร -ทำไม-สว.-ปัดตกนั่ง-‘ประธานศาลปกครองสูงสุด’

เปิดประวัติ วิษณุ วรัญญู รองประธานศาลปกครอง หลังถูก สว. ปัดตก นั่ง ‘ประธานศาลปกครองสูงสุด’

เรื่องเริ่มต้นจาก วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ประธานศาลปกครองสูงสุดคนปัจจุบันกำลังจะพ้นตำแหน่งเนื่องจากอายุครบ 70 ปีในวันที่ 1 ต.ค.นี้หรือในอีก 7 เดือนข้างหน้า จึงต้องมีกระบวนการคัดเลือก ‘ประธานศาลปกครองสูงสุด’ คนใหม่ขึ้นมาแทน

ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกโดยคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) เมื่อ 20 ธ.ค.66 ด้วยมติเอกฉันท์คือ วิษณุ วรัญญู ซึ่งดำรงตำแหน่งรองประธานศาลปกครองสูงสุดมา 6 ปี 10 เดือน

วิษณุ วรัญญู

มติที่ประชุมคณะอนุกรรมการคัดเลือกตุลาการในศาลปกครองสูงสุดระบุเหตุผลว่า วิษณุเป็นผู้มีอาวุโสสูงสุด และเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความเหมาะสมทั้งในด้านการครองตน ครองคน ครองงาน การปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมตุลาการศาลปกครอง รวมทั้งเป็นผู้ได้รับการยอมรับจากตุลาการศาลปกครอง จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบให้เสนอชื่อ วิษณุ วรัญญู รองประธานศาลปกครองสูงสุด ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด 

เอกสารยังสรุปคุณสมบัติสำคัญคือ

  1. ไม่เคยถูกดำเนินการทางวินัย หรือถูกลงโทษทางอาญา 
  2. มีจริยธรรมและคุณธรรมเป็นที่ประจักษ์ 
  3. ได้รับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ 
  4. ได้รับการยอมรับถึงความเหมาะสมจากเพื่อนร่วมงานเป็นเอกฉันท์ 

ขั้นตอนตามกฎหมาย สำนักงานศาลปกครองได้มีหนังสือแจ้งไปยังนายกฯ เพื่อให้นำเสนอชื่อวิษณุขอความเห็นชอบต่อวุฒิสภา หลังจากนั้น นายกฯ จึงจะนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป

ทว่าผลลัพธ์กลับพลิกผัน 

1 เม.ย.67  ในการประชุมวุฒิสภาซึ่งเป็นการประชุมลับและลงคะแนนลับ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ตำรงตำแหน่งประธานศาลปครองสูงสุด พิจารณาเสร็จแล้ว คือ นายวิษณุ วรัญญู 

ผลปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 45 เสียง ไม่เห็นชอบ 158 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง 

จึงถือว่า นายวิษณุไม่ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด

ส่วนรายงาน กมธ. สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติฯ ซึ่งมี พล.อ.อู๊ด เบื้องบน เป็นประธานทำสรุปส่งให้วุฒิสภานั้น วุฒิสภาก็มีมติให้ไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ รวมถึงบันทึกการประชุม 6 ครั้งของ กมธ.ด้วย ซึ่งจะว่าไปแล้วก็นับเป็น ‘ปกติ’ ของการคัดเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งสำคัญ โดย กมธ.ให้เหตุผลว่า “หากเปิดเผยออกไปอาจจะส่งผลกระทบต่อหน่วยงานหรือบุคคลผู้ให้ข้อมูลมาเพื่อประกอบการพิจารณา” 

ก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวว่า วิษณุถูกโจมตีจากกรณีเคยเป็นประธานงานแต่งงานให้กับ ปิยบุตร แสงกนกกุล ซึ่งวิษณุก็ได้ชี้แจงไว้ว่า ปิยบุตรได้เชิญตนและอาจารย์ที่เคารพนับถือหลายท่านไปร่วมงานมงคลสมรส มีหลายคนไปร่วมงาน แสดงให้เห็นว่าเชิญตนในฐานะเป็นครูบาอาจารย์ที่เคารพ ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองแต่อย่างใด เพราะมีอาจารย์ที่เคยสอนนายปิยบุตรไปร่วมงานนี้กันหลายคน และเมื่อนายปิยบุตรตั้งพรรคการเมืองและเล่นการเมืองแล้ว ไม่ได้พบกันอีก และไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกัน

การปัดตก วิษณุ จากเก้าอี้ ‘ประธานศาลปกครองสูงสุด’ ถือเป็นผลงานชิ้นท้ายๆ ของ สว. ชุดนี้ และเป็นที่คลางแคลงใจของผู้คน เนื่องจากวิษณุถือเป็นบุคคลที่มีผลงานวิชาการมากมาย และเอกอุด้านกฎหมายมหาชนที่หาตัวจับยาก ไม่มีปัญหาคุณสมบัติใดๆ จึงไม่แปลกที่คำถามทั้งหลายจะพุ่งสู่ผู้พิจารณา

‘วิษณุ วรัญญู’ คือใคร 

วิษณุ วรัญญู ปัจจุบันอายุ 66 ปี อดีตหัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวัยเด็กเรียนมัธยมแผนกศิลป์ภาษาฝรั่งเศส จากเตรียมอุดมศึกษา พญาไท ในปี 2518 โดยสอบไล่ได้คะแนนสูงเป็นลำดับที่ 4 ของทั้งประเทศ และอยู่ในกลุ่มนักเรียนที่ได้คะแนนสูงสุดของประเทศในวิชาภาษาฝรั่งเศส

ในช่วงนักศึกษาเข้าเรียนในคณะนิติศาสตร์ มธ. โดยสอบคัดเลือก มธ 2 ได้คะแนนสูงสุด และได้รับพระราชทานรางวัล ‘ทุนภูมิพล’ สำเร็จปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2 และได้สอบคัดเลือกตลอดจนบรรจุเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. ในปีเดียวกัน

วิษณุสอบชิงทุนการศึกษาของรัฐบาลฝรั่งเศส และได้ไปศึกษาต่อปริญญาโทและเอกสาขากฎหมายมหาชน เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ยังได้รับทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสเพื่อเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรต่างๆ อีกหลายครั้ง ดังนี้

  1. Diplome Superieur d’ Etudes Francaises, CUEF, Universite de Grenoble, สาธารณรัฐฝรั่งเศส ปี 2524, 
  2. Diplome Superieur de l’Universite (Droit Constitutionnel), Universite de Paris 2 ปี 2525 
  3. Diplome d’ Etudes Approfondies (Droit public) Universite de Paris 2 ปี 2526 
  4. ปริญญาเอกทางกฎหมาย Docteur d’Etat en Droit, Universite de Paris 2 ปี 2530
  5. ศึกษาหลักสูตร Diplome international d ‘Administration Publique จาก Ecole Nationale d ‘Administration (ENA) ปี 2534 

คุณวุฒิอื่น

  • ประกาศนียบัตรการอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 6 (วตท 6) สถาบันวิทยาการตลาดทุน 
  • ประกาศนียบัตรการอบรมหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) รุ่นที่ 16 สำนักงานศาลยุติธรรม 
  • ประกาศนียบัตรการอบรมหลักสูตรนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป) รุ่นที่ 7 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 

ประวัติการดำรงตำแหน่งที่สำคัญ 

  • 2 กุมภาพันธ์ 2544 – 8 มีนาคม 2544 ตุลาการศาลปกครองกลาง 
  • 9 มีนาคม 2544 – 27 มกราคม 2546 ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง  
  • 28 มกราคม 2546 – 16 พฤษภาคม 2551 รองอธิบดีศาลปกครองกลาง 
  • 17 พฤษภาคม 2551 – 30 กันยายน 2554 ตุลาการศาลปกครองสูงสุด 
  • 1 ตุลาคม 2554 – 30 พฤศจิกายน 2558 ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด 
  • 1 ธันวาคม 2558 – 18 มกราคม 2560 ตุลาการหัวหน้าแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณในศาลปกครองสูงสุด 
  • 19 มกราคม 2560 – ปัจจุบัน รองประธานศาลปกครองสูงสุด 

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ในประเทศ 

  • มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก 
  • มหาวชิรมงกุฎ 

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

  • Officier dans l’Ordre National du Merite , สาธารณรัฐฝรั่งเศส 

อีกทั้งในปี 2540 ได้รับแต่งตั้งจากสภาร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหลายชุด ตั้งแต่เรื่องสิทธิเสรีภาพของพลเมือง จนถึงโครงสร้างสถาบันการเมือง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่