หน้าแรก Voice TV ‘นักสิ่งแวดล้อม’ เตือน ‘โรคอิไตอิไต’ จาก ‘สารแคดเมียม’ เผย 6 ปี ลอบทิ้งขยะอันตรายกันกว่า 300 เคส

‘นักสิ่งแวดล้อม’ เตือน ‘โรคอิไตอิไต’ จาก ‘สารแคดเมียม’ เผย 6 ปี ลอบทิ้งขยะอันตรายกันกว่า 300 เคส

85
0
‘นักสิ่งแวดล้อม’-เตือน-‘โรคอิไตอิไต’-จาก-‘สารแคดเมียม’-เผย-6-ปี-ลอบทิ้งขยะอันตรายกันกว่า-300-เคส

ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เตือน ‘โรคอิไตอิไต’ จาก ‘สารแคดเมียม’ เผยข้อมูล 6 ปี ลอบทิ้งขยะอันตรายกันกว่า 300 เคส

จากกรณีบริษัทเหมืองแร่แห่งหนึ่งในจังหวัดตาก ขนกากแร่แคดเมียมมายังบริษัทรีไซเคิลในจังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 1.5 หมื่นตัน ซึ่งต่อมาผู้ว่าฯ สมุทรสาครได้ประกาศห้ามเข้าพื้นที่เนื่องกากพิษที่ขนมาอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลที่อยู่ใกล้เคียงโรงงาน

ด้านนักสิ่งแวดล้อม ‘เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง’ ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ได้เปิดเผยถึงความอันตรายที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่กับ ‘วอยซ์’ ว่า แคดเมียมจำนวนมากที่ถูกขนเข้าย้ายเข้ามาคือโลหะหนักปนเปื้อนจากทำเหมืองแร่สังกะสีในพื้นที่จังหวัดตาก ซึ่งแคดเมียมถือเป็นกากพิษที่มีความอันตราย หากสะสมร่างกายเป็นเวลานานจากการสูดดมหรือปนเปื้อนในอาหาร และจะส่งผลให้เป็น ‘โรคอิไตอิไต’ ซึ่งสารดังกล่าวจะเข้าไปทำลายกระดูก นอกจากนี้ยังเป็นสารตั้งต้นของการก่อมะเร็งต่อมลูกหมากในเพศชาย ส่วนเพศหญิงโดยเฉพาะวัยกลางคนจะมีผลกระทบในเรื่องกระดูกพรุน และยังมีผลต่อประสาทส่วนกลางของเด็กแรกเกิดซึ่งอาจทำให้พิการได้

กรณีของแคดเมียมที่พบนั้น หากเข้าสู่กระบวนการหลอมสกัดเอาโลหะจากกากตะกอน จะถือเป็นวิกฤตการณ์ในพื้นที่สมุทรสาครและจังหวัดใกล้เคียงอย่างกรุงเทพมหานคร เพราะกากตะกอนจำนวนมหาศาลเช่นนี้จะทำให้เป็นจุดกำเนิดวิกฤตฝุ่น PM 2.5 อย่างรุนแรง และจะมีผู้ได้รับผลกระทบทางร่างกายจำนวนสูงมาก

อย่างไรก็ตาม เคสนี้ไม่ใช่เคสแรกที่เกิดขึ้น เพ็ญโฉมระบุว่ากรณีขนย้ายขยะอันตรายเกิดขึ้นในหลายพื้นที่จากการรวบรวมข้อมูลของมูลนิธิบูรณะนิเวศพบว่าตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบันมีมากกว่า 300 เคส ที่ปรากฏเป็นข่าว และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบางพื้นที่มีการฟ้องร้องกันเป็นคดี เช่น ชาวบ้านในจังหวัดราชบุรีฟ้องคดีแพ่งต่อบริษัทรีไซเคิลแห่งหนึ่ง แม้ว่าคดีจะจบไปแล้วแต่ในพื้นที่ยังคงไม่สามารถฟื้นฟูได้

สำหรับกรณีล่าสุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างกระทรวงอุตสาหกรรมต้องมีการสอบสวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะเหตุการณ์นี้ถือว่าไม่ปกติอย่างแน่นอน และอาจเกิดจากการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งต้องถามว่าหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรงอย่างสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก อนุญาตให้ขนย้ายกากพิษออกมาจากพื้นที่ได้อย่างไร

ทั้งนี้ ตามหลักของการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และกฎหมายที่มีกำกับไว้ชัดเจนในมาตรการการลดผลกระทบจากการกำจัดกากพิษ ต้องมีการทำลายฤทธิ์และฝังกลบในระบบที่ปลอดภัย โดยห้ามเคลื่อนย้ายไปไหน แต่จากกรณีที่เกิดขึ้นมันมีความไม่ปกติ

“ถือว่าเป็นความบกพร่องของสภาอุตสากรรมจังหวัดตาก ที่ไม่ได้มีการตรวจสอบปลายทางว่าบริษัทที่รับแคดเมียมมาคือบริษัทรีไซเคิล ไม่ใช่โรงงานบำบัดจำกัดของเสีย เพราะเทคโนโลยีในการรีไซเคิลกับบำบัดของเสียมันต่างกัน และโรงงานบำบัดของเสียต้องมีใบอนุญาตที่ออกโดยภาครัฐ ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีเงื่อนงำที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต” เพ็ญโฉมกล่าว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่