วันนี้ (5 เม.ย.2567) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวเปิดการสัมมนา “บทบาทหน้าที่ อำนาจ และการได้มาซึ่งวุฒิสภาชุดใหม่ 2567” ที่จัดโดยคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา และคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. โดยยอมรับว่า เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง สว.ทางอ้อม เพราะประเทศไทยเคยผ่านการมีวุฒิสภามาหลายรูปแบบ ทั้งแบบเลือกตั้ง แต่งตั้ง หรือรูปแบบผสม
แต่รูปแบบใหม่ในการเลือกตั้งทางอ้อมจากกลุ่มอาชีพ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 แม้จะยังไม่เคยมีการใช้มาก่อน จึงมั่นใจว่า จะผ่านการคัดสรรอย่างเข้มข้น ทั่วถึง และที่มาเกี่ยวโยงกับประชาชนหลากหลายอาชีพ
พร้อมเชื่อว่า หากดำเนินการตามวิธีการเดิม ๆ อาจยังไม่ใช่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะถ้าเลือกตั้งโดยตรง วุฒิสภา ก็จะไม่แตกต่างกับสภาผู้แทนราษฎร และได้บุคคลประเภทเดียวกัน แต่ถ้าแต่งตั้ง ก็ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ซึ่งหากดำเนินการให้ดีตามวิธีการในรัฐธรรมนูญ 2560 ก็เชื่อว่า จะยั่งยืน
อ่านข่าว : วิเคราะห์ เลือก สว.ชุดใหม่ “เงียบ-ซับซ้อน” ที่สุดในโลก
ประธานรัฐสภา ยังมั่นใจว่า วุฒิสภา ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งทางอ้อมจากกลุ่มอาชีพ เชื่อมั่นว่า วุฒิสภาที่จะได้มา มีความรู้ และสติปัญญา ประสบความสำเร็จในอาชีพนั้น ๆ และมีจิตสาธารณะ เพราะผ่านขั้นตอนการกลั่นกรองมาก ตั้งแต่ระดับอำเภอ พร้อมขอให้ กกต.ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะถือเป็นเรื่องใหม่ และแตกต่างจากการสมัคร สส.เพราะจะมีการหาเสียง ก็จะช่วยให้ได้สภาที่มีผู้ทรงคุณวุฒิ
คาดเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ช่วง พ.ค.-มิ.ย.
นายวันมูหะมัดนอร์ เปิดเผยว่า หลังปิดสมัยประชุมสภาฯ 9 เม.ย.นี้แล้ว มีโอกาสที่จะเปิดสมัยประชุมวิสามัญ ก่อนเปิดสมัยประชุมอีกครั้ง 3 ก.ค. เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ที่รัฐบาลเสนอ ซึ่งสภาต้องพิจารณาภายใน 15 วัน และเห็นว่ารัฐบาลจะจัดทำร่าง กฎหมายงบประมาณ 2568 เสร็จ เรียบร้อย ภายในเดือนเม.ย. เข้า ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบกลางเดือน เม.ย. ซึ่งถ้าส่งมาสภาก็จะต้องเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ซึ่งอาจจะเป็นช่วงเดือน พ.ค.หรือ มิ.ย. เพื่อพิจารณาวาระ 1 และตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณา แต่หากเปิดสมัยประชุมวิสามัญแล้วหากมีเรื่องอื่น ที่สำคัญ ก็คงจะให้เวลาในการพิจารณาตามสมควร
ส่วนกฎหมายที่ค้างอยู่ นายวันมูหะมัดนอร์ ระบุว่า มีหลายส่วนที่ค้างอยู่ในกรรมาธิการวิสามัญหรือกรรมาธิการสามัญ เมื่อพิจารณาเสร็จก็เข้าสภา และมีบางส่วนเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการเงินที่ต้องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณารับรอง 39 ฉบับ ซึ่งหากรัฐบาลดำเนินการเสร็จก็ให้ส่งมาสภาเพื่อเปิดสมัยวิสามัญจะได้มีกฎหมายในการพิจารณา และเชื่อว่ารัฐบาลต้องการเช่นนั้น
สำหรับการทำงานของรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติ ในสมัยประชุมที่ผ่านมา ประธานรัฐสภากล่าวว่า ไม่ใช่ความรู้สึกของตนเองเพียงคนเดียวแต่สื่อมวลชนและประชาชนได้วิเคราะห์การทำงานของสภาฯ ชุดที่ 26 ทำงานด้วยดีมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพเพราะสมาชิก เตรียมตัวค่อนข้างดี เวลาอภิปรายก็มีเอกสารหลักฐานที่ชัดเจน สามารถใช้ประโยชน์ได้ถือเป็นการพัฒนาบทบาททางด้านนิติบัญญัติเพื่อให้เกิดความศรัทธาของพี่น้องประชาชน และสมัยประชุมที่ผ่านมา ได้ประชุมถึง 32 ครั้ง โดย 31 ครั้ง เป็นการประชุมที่ผ่านไปได้ด้วยดีมีเพียงครั้งเดียว ที่องค์ประชุมไม่ครบนิดหน่อยซึ่งถือว่าน้อยมากและหวังว่า ในสมัยประชุมหน้าจะดีกว่านี้ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและมีการพัฒนาทางด้านนิติบัญญัติ
สำหรับการ อภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 ตลอด 2 วันที่ผ่านมา ประธานสภาฯกล่าวว่าการประท้วงเป็นเรื่องธรรมดาเพื่อให้มีสีสันของสภา แต่ถือว่าน้อยมาก ตนอยู่ในสภามา 40 กว่าปี แม้จะเป็นการอภิปรายแบบ 152 ไม่ลงมติแต่ไม่มีการประท้วงแบบมีองครักษ์พิทักษ์ มีบ้างนิดหน่อยแต่ภาพรวมถือว่าเป็นการอภิปรายที่ดี แม้จะใช้เวลา 2 วันดึกไปหน่อย แต่การอภิปรายครั้งต่อไปเชื่อว่าวิปทั้งสองฝ่ายจะเข้าใจ ในการจะไปบริหารว่าจะใช้เวลาเท่าใด เพราะว่าถ้าใช้เวลามากเกินไปจะอภิปรายซ้ำซาก
อ่านข่าวอื่นๆ :
“พิธา” เปิดใจลาสภาฯ ระบุ อภิปราย ม.152 อาจเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตการเมือง