สทนช. สร้างความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ EEC เดินหน้าการบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้งปีนี้ เร่งขับเคลื่อนการสร้างสมดุลในจัดสรรน้ำอย่างยั่งยืนให้ทุกภาคส่วน ทั้งการอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และการเกษตร ตามมติคณะกรรมการลุ่มน้ำ มั่นใจน้ำมีเพียงพอใช้ตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ และมีสำรองใช้ในช่วงต้นฤดูฝนและภาวะฝนทิ้งช่วงอีกด้วย
ไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะโฆษก สทนช. เปิดเผยว่า จากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศโลก ทำให้ก่อเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญอย่างเด่นชัดในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา และถือเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีเพียงพอตามลำดับความสำคัญตลอดฤดูกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเป็นฐานการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในด้านต่างๆ สทนช.ได้ดำเนินการวางแผนการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานด้านน้ำที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้น้ำซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความสำคัญให้เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ EEC โดยยึดหลักการจัดสรรน้ำอย่างสมดุลตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
สำหรับการบริการจัดการน้ำในพื้นที่ EEC ช่วงฤดูแล้งปีนี้ จะใช้โครงข่ายน้ำภาคตะวันออกในการผันน้ำเชื่อมโยง 3 จังหวัด คือ จ.ชลบุรี จ.ระยอง และ จ.ฉะเชิงเทรา ทำให้สามารถป้องกันผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนในพื้นที่มีน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค เช่นเดียวกับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม และเกษตรกรสวนผลไม้ ที่ได้รับการจัดสรรน้ำอย่างพอเพียง โดยในส่วนของอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง มีปริมาณน้ำใช้การ 145 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีความต้องใช้น้ำในระบบของอ่างเก็บน้ำประแสร์ประมาณ 28 ล้าน ลบ.ม. และผันน้ำไปยังกลุ่มอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล-คลองใหญ่-ดอกกราย จ.ระยอง จำนวน 8 ล้าน ลบ.ม. รวมใช้น้ำ 36 ล้าน ลบ.ม. เหลือน้ำในระบบสำรองไว้ 109 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนกลุ่มอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล-คลองใหญ่-ดอกกราย มีปริมาณน้ำใช้การรวม 145 ล้าน ลบ.ม. รวมกับน้ำที่ผันมาจากอ่างเก็บน้ำประแสร์อีก 8 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำใช้การ 153 ล้าน ลบ.ม. มีความต้องการใช้น้ำพื้นที่รวม 36 ล้าน ลบ.ม. เหลือน้ำสำรองในระบบ 117 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่กลุ่มอ่างเก็บน้ำบางพระและอ่างเก็บน้ำหนองค้อ รวมกับอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 5 แห่ง ในพัทยา จ.ชลบุรี มีปริมาณน้ำใช้การรวม 61 ล้าน ลบ.ม. มีความต้องการใช้น้ำ 15 ล้าน ลบ.ม. เหลือน้ำสำรองในระบบ 46 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นเมื่อสิ้นสุดฤดูแล้งแล้วจะเหลือปริมาณน้ำสำรองในระบบโครงข่ายน้ำตะวันออก รวม 272 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะนำไปใช้เป็นปริมาณน้ำต้นทุนในช่วงต้นฤดูฝนปีนี้ และสำรองไว้ใช้ในกรณีที่เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงด้วย ทั้งนี้ สทนช.จะติดตามการบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปตามข้อตกลงของคณะกรรมการลุ่มน้ำและแผนที่วางไว้
นอกจากนี้ ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สทนช.ยังคำนึงถึงคุณภาพน้ำเป็นประเด็นที่สำคัญอีกด้วย เช่น ในพื้นที่ จ. ฉะเชิงเทรา สทนช.ได้ประสานงานร่วมกับกรมชลประทานและการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) สาขาฉะเชิงเทรา ในการดึงน้ำจากบึงฝรั่งเพื่อมารักษาคุณภาพน้ำที่จุดสูบน้ำของ กปภ. บริเวณคลองพระองค์ไชยยานุชิต ให้มีมาตรฐานคุณภาพที่เหมาะสมต่อการผลิตน้ำประปาตลอดช่วงฤดูแล้งปีนี้สามารถบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำให้กับประชาชนในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ EEC เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคตนั้น มีโครง การที่สำคัญเช่น โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ ความจุ 68.1 ล้าน ลบ.ม. จะแล้วเสร็จปี 2568 และโครง การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ความจุ 99.5 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นอกจากนี้ยังมีโครงการผันน้ำอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง-อ่างเก็บน้ำคลองสียัด อีกด้วย ดังนั้นประชาชนจึงมั่นใจได้ว่า ในพื้นที่ EEC จะมีความมั่นคงด้านน้ำที่ยั่งยืนอย่างแน่นอน” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย