‘พิธา’ แท็กทีม ‘ศุภณัฐ’ สำรวจสภาพหมอชิต-ร่วมส่งประชาชนกลับบ้าน ชวนรัฐบาลหันกลับมามองคมนาคมทั้งระบบ ไม่ใช่แค่เน้นสร้างโครงการใหญ่ ชี้รายได้หลัก บขส. คือขนส่งไม่ใช่โฆษณา ต้องจัดลำดับความสำคัญให้ถูก
11 เม.ย. 2567 ที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล ประกอบด้วย ศุภณัฐ มีนชัยนันท์, ชยพล สท้อนดี และ ภัสริน รามวงศ์ ร่วมสำรวจสภาพการเดินทางของประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พร้อมพบปะอวยพรประชาชนเนื่องในโอกาสเทศกาลสงกรานต์
โดยพิธาและคณะ ได้ร่วมสำรวจพื้นที่ตั้งแต่ทางเข้า จุดชาร์จโทรศัพท์มือถือ ห้องน้ำ ห้องอาหาร ไปจนถึงชานชาลา โดยมีประชาชนที่มาใช้บริการสถานีขนส่งให้ความสนใจเข้าพบปะพูดคุย และขอร่วมถ่ายภาพด้วยเป็นจำนวนมาก
สื่อมวลชนที่ร่วมติดตามการลงพื้นที่ ได้สัมภาษณ์พิธาและศุภณัฐถึงความพึงพอใจจากการได้มาสำรวจสถานีขนส่งวันนี้ โดยพิธาระบุว่าถ้าดูตัวเลขของ บขส. อย่างเดียว ย้อนหลัง 5 ปีมีผู้ใช้บริการประมาณ 6 ล้านคน ล่าสุดปี 2566 เหลืออยู่ 2.6 ล้านคนหรือหายไปประมาณสามเท่า สอดคล้องรายได้ของ บขส. ที่หายไป 2-3 เท่าเช่นกัน
พิธายังกล่าวต่อไป ว่ารัฐบาลควรกำหนดวาระการคมนาคมโดยดูภาพใหญ่มากกว่าการเน้นสร้างอย่างเดียว ที่ผ่านมาเห็นว่านายกรัฐมนตรีไปที่ไหนก็บอกอยากสร้างสนามบินเพิ่ม แต่สำหรับตนแล้วสิ่งที่อยากให้เน้นคือการซ่อมและบริหารสิ่งเดิมที่มีอยู่ให้ดีขึ้น เช่น การปรับปรุงให้การคมนาคมจากกรุงเทพมหานครกลับภูมิลำเนาเป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของรถบัสที่ควรจะเป็นรูปแบบการขนส่งที่ประชาชนเข้าถึงได้มากที่สุด
เพราะวันนี้แม้การเดินทางจากกรุงเทพมหานครจะพอสะดวกบ้าง แต่เมื่อไปถึงที่หมายกลับไม่มีอะไรรองรับต่อ ขาดแคลนระบบขนส่งมวลชนในแต่ละจังหวัด ถ้าอำนวยความสะดวกให้ประชาชนให้มากขึ้น การขนส่งสาธารณะและการคมนาคมภาพใหญ่ของประเทศไทยก็จะดีขึ้นด้วย
พิธายังกล่าวต่อไป ว่าตนอยากชวนรัฐบาลคิดว่าการสร้างสนามบินเพิ่ม อาจเป็นการใช้งบประมาณจำนวนมากและยังมีโอกาสออกนอกลู่นอกทาง แต่การดูแลโครงสร้างพื้นฐานเดิมที่มีอยู่แล้ว เน้นซ่อมและบริหารให้ดีขึ้น มีรถที่ดีขึ้น บริหารพื้นที่ให้ผู้ใช้บริการรู้สึกสะดวกขึ้น ออกแบบให้รองรับถึงผู้พิการ ดีกว่าที่จะเน้นแต่การสร้างโครงการขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าปัจจุบันสายการบินราคาประหยัดหลายสายราคาถูกกว่ารถบัสมาก จะทำให้ประชาชนมาใช้บริการมากขึ้นได้อย่างไร พิธากล่าวว่ามันคือไก่กับไข่ ถ้าตั้งไข่ให้ได้ก่อน ให้บริการรถบัสมีความสะดวกสบาย สะอาด เมื่อประชาชนใช้มากขึ้น มีสเกลขึ้นมาก็จะทำให้ต้นทุนต่อหัวลดลง ราคาก็สามารถปรับตามได้ รถบัสก็จะกลายเป็นทางเลือกให้ประชาชนใช้ได้ตามความสะดวก บางประเทศเช่นญี่ปุ่นมีทั้งสายการบินราคาประหยัด รถไฟฟ้า รถบัส ในราคาที่ไม่ต่างกันมาก แต่เป็นทางเลือกให้ประชาชน ไม่จำเป็นต้องทำให้ประชาชนมีแต่สายการบินราคาประหยัดเป็นทางเลือกเดียวที่มีอยู่เท่านั้น
ผู้สื่อข่าวยังได้ถามถึงกรณีนายกรัฐมนตรีมีแนวคิดให้ บขส. หารายได้จากป้ายโฆษณาและรายได้อื่นๆ มากขึ้น ซึ่งพิธาระบุว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการเรียงลำดับความสำคัญ ธุรกิจหลักที่นี่คือขนส่งไม่ใช่โฆษณา ถ้าทำขนส่งได้ดีแล้วจะมีรายได้จากการโฆษณาเข้ามาก็เป็นเรื่องดี ถ้าช่วยให้การบริหารจัดการดีขึ้น มีงบประมาณเพียงพอ ก็จะทำให้ธุรกิจหลักที่นี่ตั้งหลักได้ จากนั้นรายได้เสริมจากการโฆษณาก็จะเดินควบคู่ไปได้
“ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการเรียงลำดับความสำคัญ ถ้าเขวไปว่าธุรกิจหลักคือการโฆษณาแต่ไม่ได้ดูแลธุรกิจหลักจริงๆ ไปดูแลแต่ธุรกิจเสริม การบริหารจัดการจะผิดทิศทาง ถ้าคนหายจาก 6 ล้านเหลือ 2.6 ล้าน ธุรกิจโฆษณาก็คงจะไปได้ไม่มากเท่าไหร่” พิธากล่าว
พิธายังกล่าวว่าหากตั้งเป้าให้จำนวนผู้ใช้บริการกลับมาได้เท่าก่อนโควิด บวกกับ 20-30% ของนักท่องเที่ยวที่กลับมา ถ้าทำสำเร็จก็จะพลิกโฉมสถานีขนส่งได้พอสมควร ถ้าตั้งไข่ได้แล้วที่เหลือก็จะตามมาเองทั้งเรื่องของรายได้และงบประมาณ แต่ถ้าตอนนี้ยังตั้งไข่ไม่เจอก็วนไปวนมาเหมือนเดิม รายได้น้อย ขาดทุน ลดราคาตั๋วไม่ได้ ดึงคนมาใช้บริการไม่ได้ ทั้งที่รถบัสเป็นบริการขนส่งสาธารณะที่ทุกคนควรเข้าถึงได้ขั้นต่ำที่สุด
ด้านศุภณัฐ ระบุว่าตั้งแต่ที่ตนเปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับสถานีขนส่งหมอชิต 2 มา ยอมรับว่าปัจจุบันมีการพัฒนาขึ้นมาก แต่ก็ทำให้เกิดคำถามขึ้นมา ว่าทำไมต้องให้ประชาชนเรียกร้องก่อน หรือเป็นข่าวก่อนถึงจะมีการดำเนินการตามมา ทั้งที่รัฐบาลควรมีวาระในประเด็นนี้อยู่แล้ว และปัจจุบันก็ยังมีสถานีขนส่งอีกหลายจุดที่ยังไม่ได้พัฒนาเหมือนกัน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าให้คะแนนเท่าไร ศุภณัฐระบุว่าตนให้ประมาณ 7 เพราะเห็นว่ายังมีช่องว่างที่ยังปรับปรุงได้อีกมาก อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถามผู้ใช้งานบ่อยๆ แล้วจะรู้ว่าดีขึ้นอย่างไร จะปรับปรุงอย่างไรให้ดีขึ้นได้ แม้ล่าสุด บขส. จะได้งบประมาณมาแล้วส่วนหนึ่ง แต่ก็ได้มาไม่ถึง 10 ล้านบาท ทำให้แม้จะมีการพัฒนาขึ้น แต่ก็น่าตั้งคำถามว่าสิ่งที่ได้ปรับปรุงไป มากพอและคุ้มค่ากับที่ลงทุนไปหรือไม่
เพราะวันนี้สภาพของสถานีขนส่งหมอชิต 2 แม้จะมีการปรับปรุงแล้ว แต่ก็ยังมีหลายเรื่องที่ต้องปรับปรุงอีก เช่น บันไดเลื่อนที่ยังไม่ได้ทำ ชานชาลาที่ยังไม่ได้ปรับปรุง ชานชาลา ขสมก. ที่ย้ายไปแล้วก็จริงแต่จุดรอรถยังไม่มีกระทั่งพัดลม ทุกอย่างคือประสบการณ์ผู้ใช้ ผู้เกี่ยวข้องควรมาสัมผัสด้วยตนเองว่าประชาชนลำบากอย่างไรบ้าง ตั้งแต่เดินเข้ามาจนกลับออกไป