7 วันอันตรายสงกรานต์ 3 วันแรก ยอดเสียชีวิตพุ่ง 116 ราย บาดเจ็บ 968 ราย สาเหตุหลักขับเร็ว พร้อมฝากผู้ปกครองเตือนบุตรหลาน คุมเข้มเรื่องเมาแล้วขับ
วิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ก่อนแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานประจำวัน
โดยระบุว่า ตามที่รัฐบาลได้ดำเนินการรณรงค์ขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2567 ภายใต้แนวคิด “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” นั้น พบว่าสถิติอุบัติเหตุทางท้องถนนประจำวันที่ 13 เมษายน เกิดอุบัติเหตุ 392 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 411 คน ผู้เสียชีวิต 48 ราย โดยจังหวัดที่มีอุบัติเหตุสูงสุด คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช และ สงขลา จำนวน 19 ครั้ง รองลงมา คือ จังหวัดน่าน 16 ครั้ง ตรัง และเชียงราย 15 ครั้ง ส่วนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร 4 ราย รองลงมา คือ เชียงราย จันทบุรี นครราชสีมา และเพชรบูรณ์ 3 ราย ขณะจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด คือ สงขลา 23 ราย นครศรีธรรมราช 21 ราย และน่าน 17 ราย โดยสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุมาจากขับรถเร็วเกินกำหนด 157 ครั้ง ดื่มแล้วขับ 109 ครั้ง ปาดหน้ากระชั้นชิด 66 ครั้ง ทัศนวิสัยไม่ดี 50 ครั้ง และหลับใน 24 ครั้ง
สำหรับประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่รถจักรยานยนต์ จำนวน 342 คัน ปิกอัพ 26 คัน รถเก๋ง 18 คัน ส่วนพฤติกรรมเสี่ยง คือ ขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่สวมใส่หมวกกันน็อค 297 ราย ดื่มแล้วขับ 95 ราย ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด 87 ราย
ทั้งนี้ สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 3 วันของการรณรงค์ (11 – 13 เม.ย. 67) เกิดอุบัติเหตุรวม 936 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ รวม 968 คน ผู้เสียชีวิต รวม 116 ราย
อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมได้เน้นย้ำว่าคดีเมาแล้วขับ กฎหมายปัจจุบันที่ผิดซ้ำมีบทลงโทษให้สั่งจำคุกได้เสมอ จึงน่าติดตามว่า 36 คดี ที่มีการส่งฟ้องจะเป็นอย่างไร นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่เยาวชนเมาแล้วขับ และถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาล ด้วยว่าจะมีการโยงไปสู่ความรับผิดชอบของผู้ปกครอง ดังนั้น จะชี้ให้เห็นว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จริงจังกับเรื่องดื่มแล้วขับเป็นอย่างมาก จึงฝากผู้ปกครองให้กำชับบุตรหลานเรื่องเมาไม่ขับด้วย