ลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้นำของประเทศมาอย่างยาวนาน ได้ประกาศเมื่อวันจันทร์ (15 เม.ย.) ว่า เขาจะเปลี่ยนถ่ายอำนาจของตัวเองให้แก่ ลอว์เรนซ์ หว่อง ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเกาะ ในวันที่ 15 พ.ค.ที่จะถึงนี้ ก่อนการเลือกตั้งสิงคโปร์ที่จะจัดขึ้นในช่วงปีหน้า
หว่องถูกวางตัวให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ มาตั้งแต่เดือน เม.ย. 2565 หลังจากที่ลีประกาศการลงจากอำนาจอย่างกะทันหัน พร้อมกันกับการประกาศการเปลี่ยนผ่านอำนาจผู้นำสิงคโปร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงินสำคัญของเอเชีย
หว่องในวัย 51 ปี ได้รับความสนใจในฐานะหัวหน้าร่วมของคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-19 โดยรัฐบาลสิงคโปร์ จัดการกับการจำกัดการเคลื่อนไหวภายในและภายนอกสิงคโปร์ และดูแลการติดตามการติดต่อของโรคระบาด สjงผลให้หว่องได้รับการยกย่องจากผลงานของควบคุมการติดเชื้อ และการจำกัดตัวเลขการเสียชีวิตที่ต่ำ พร้อมกันกับความสามารถของหว่องในการอธิบายนโยบายของภาครัฐ ให้สาธารณชนเข้าใจได้อย่างชัดเจน
ก่อนหน้านี้ หว่องดำรงตำแหน่งเลขาธิการส่วนตัวของลี ตั้งแต่ปี 2548 ถึง 2551 และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและการพัฒนาระดับชาติ ก่อนที่หว่องจะเข้ามารับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในปี 2564 และเป็นรองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ในปี 2565
ในแถลงการณ์ที่โพสต์บนเพจเฟซบุ๊กของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลีในวัย 72 ปี ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์มาตั้งแต่ปี 2547 และเป็นลูกชายคนโตของ ลีกวนยู บิดาผู้ก่อตั้งสิงคโปร์ยุคใหม่ เรียกการเปลี่ยนแปลงผู้นำของประเทศในครั้งนี้ว่าเป็น “ช่วงเวลาที่สำคัญ”
“ผมจะสละบทบาทนายกรัฐมนตรีในวันที่ 15 พ.ค. 2567 และ ลอว์เรนซ์ หว่อง รองนายกรัฐมนตรี จะเข้าสาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปในวันเดียวกัน” ลีระบุบนเฟซบุ๊ก “ลอเรนซ์และทีม 4G (ผู้นำรุ่นที่ 4) ทำงานอย่างหนักเพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดโรคระบาด” ลีกล่าวเสริม
ในแถลงการณ์ผ่านวิดีโอที่โพสต์ลงบนเฟซบุ๊ก หว่องกล่าวว่า “ผมขอรับความรับผิดชอบนี้ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน และสำนึกในหน้าที่อย่างลึกซึ้ง ผมให้คำมั่นว่าจะทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อภารกิจนี้”
หว่องยังดำรงตำแหน่งรองประธานกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ GIC และประธานธนาคารกลางสิงคโปร์ นอกจากนี้ หว่องยังเป็นผู้นำระบบการดำเนินการระดับชาติที่เรียกว่า สิงคโปร์ก้าวหน้า (Forward Singapore) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดทำ “ข้อตกลงทางสังคม” ของประเทศระหว่างรัฐบาลและประชาชน เกี่ยวกับวิธีการจัดการกับประเด็นต่างๆ ตั้งแต่ความยั่งยืนไปจนถึงความไม่เท่าเทียมกันและการจ้างงาน
ที่มา: