หน้าแรก Voice TV 'รมว.เกษตร' เตรียมลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี พบปะผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน

'รมว.เกษตร' เตรียมลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี พบปะผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน

80
0
'รมว.เกษตร'-เตรียมลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี-พบปะผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน

‘ธรรมนัส’ เตรียมลงพื้นที่จันทบุรี ตรวจคุณภาพทุเรียน หลังส่งออกจีนสร้างมูลค่ากว่าแสนล้าน

อัยรินทร์ พันธุ์ฤทธิ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยว่าร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในวันที่ 20 เมษายน 2567 เพื่อพบปะผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้เกษตรกร และร่วมให้กำลังใจทุกภาคส่วน ในการดูแล ควบคุมคุณภาพผลไม้ไทยให้มีคุณภาพ ปลอดภัยสูง ชูแบรนด์ “ผลไม้ไทย ผลไม้คุณภาพ” (Premium Thai Fruits) พร้อมส่งออกทุเรียนคุณภาพไปจีน มูลค่า 100,000 ล้านบาท 

โฆษกเกษตรฯ กล่าวว่า ปี 2566 “ทุเรียนไทย” ครองส่วนแบ่งตลาดทุเรียนสดในจีนร้อยละ 65.15 ด้วยปริมาณการนำเข้า 928,976 ตัน การวิเคราะห์เชิงปริมาณ พบว่า แม้ว่าทุเรียนไทยจะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น แต่การส่งออกทุเรียนของไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณ และมูลค่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ ซึ่งร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการเกษตรฯ ได้กำหนดนโยบาย “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน”

โดยสั่งการให้นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภาคตะวันออกได้นำหลักการดังกล่าวมาวางแผนในการควบคุมคุณภาพทุเรียนส่งออก ร่วมกับหน่วยงานฝ่ายปกครอง ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยใช้ “จันทบุรีโมเดล” เป็นต้นแบบในการควบคุมคุณภาพทุเรียน และแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ ได้มีการกำชับให้นายตรวจพืช ตรวจสอบคุณภาพทุเรียนตามพิธีสารการส่งออกทุเรียนไทยไปจีน ไม่ให้มีศัตรูพืชกักกัน เช่น เพลี้ยแป้ง หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ติดไปกับทุเรียนส่งออกอย่างเด็ดขาด จนราคาทุเรียนหมอนทองปีนี้มีราคาสูงถึง 200 – 250 บาท/กิโลกรัม 

ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตรเตรียมความพร้อมรับมือการส่งออกทุเรียน ปี 2567 โดยมีแนวทางปฏิบัติงานร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร จังหวัด ระยอง จันทบุรี ตราด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบคุณภาพ รับรองสุขอนามัยพืช ตามเงื่อนไขการส่งออกตามพิธีสาร ไทย-จีน และจะมีการนำร่องใช้ Application ตรวจสอบปริมาณผลผลิตทุเรียนจากแปลง GAP ของเกษตรกร เชื่อมโยงกับระบบการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-phyto ก่อนจะเปิดใช้เต็มระบบในอนาคตต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่