วิษณุ เครืองาม คือนักกฎหมายคนสำคัญที่มีประสบการณ์การเมืองมากกว่าใคร เพราะทำงานให้ศูนย์กลางอำนาจหลายยุคหลายสมัย รวมเวลา 25 ปี และนับได้ว่าเป็นผู้ ‘ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง’ เพราะทำงานกับทั้งรัฐบาลจากรัฐประหารและรัฐบาลจากการเลือกตั้ง
รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี :
รัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (สมัยที่ 2)
รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน (ทั้ง 2 สมัย)
รัฐบาลพล.อ.สุจินดา คราประยูร (1 สมัย)
เลขาธิการคณะรัฐมนตรี :
รัฐบาลชวน หลีกภัย (ทั้ง 2 สมัย)
รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา (1 สมัย)
รัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (1 สมัย)
รองนายกรัฐมนตรี :
รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร (2 สมัย)
รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (2 สมัย)
ข้อพิเศษอย่างหนึ่ง คือ เขาเป็นนักฎหมายที่ชอบ ‘เขียนหนังสือ’ เล่าเรื่องรัฐบาล-นักการเมือง-การบริหาราชการแผ่นดิน ด้วยความสามารถเฉพาะตัว เขาสามารถวิจารณ์แบบหยิกแกมหยอกพร้อมกับชื่นชมผู้นำรัฐบาลได้เนียนๆ แม้ผู้อ่านจะรู้ได้ว่า มีเรื่องที่เป็น ‘แก่น’ ซึ่งเขาผู้อยู่รอดปลอดภัยมาตลอด 25 ปีจะไม่เล่า แต่ลำพังเพียง ‘เกร็ด’ เล็กๆ น้อยๆ ที่เล่าก็ทำให้สนุกและรู้อะไรต่อมิอะไรในวงอำนาจมากขึ้นบ้าง
หนังสือเล่มล่าสุด ‘เลขที่ 1 ถนนพิษณุโลก’ เล่าเรื่องของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 (2562-2566) ชื่อเรื่องล้อกับทำเนียบรัฐบาลอังกฤษ เลขที่ 10 ถนนดาวนิง ลอนดอน
เล่มนี้พิมพ์กับสำนักพิมพ์คณะรัฐมนตีและราชกิจจานุเบกษา ไม่ได้พิมพ์กับมติชนเหมือนเล่มก่อนๆ ไม่ว่าจะ ‘ลงเรือแป๊ะ’ ‘หลังม่านการเมือง’ ‘โลกนี้คือละคร’ ‘เล่าเรื่องผู้นำ’ ฯลฯ และไม่ได้จัดจำหน่ายกับสายส่งวางขายตามร้านทั่วไป
เทียบกับ ‘ลงเรือแป๊ะ’ เล่มล่าสุดนี้ถือว่า ‘น่าเบื่อกว่ามาก’ ด้วยเหตุนี้หรือเหตุไหนไม่เป็นอันทราบทางมติชนจึงไม่ได้เป็นผู้จัดพิมพ์ ปกติแล้ววิษณุเม้ามอยเก่ง แต่เล่มนี้เรียกว่าน้อย และไม่พบอะไรที่แหลมคมมากนัก อาจเพราะเป็นรัฐบาลประยุทธ์ 2 ที่ไม่มีอะไรให้ตื่นเต้นเหมือนรัฐบาลประยุทธ์ 1 ยุคที่เป็น คสช.
หรืออาจเป็นความเจ็บป่วย เหนื่อยล้าของผู้เขียนที่ทำงานหนักมายาวนาน และมักบอกกล่าวในหนังสือตั้งแต่เล่มลงเรือเป๊ะแล้วว่า ไม่คิดจะดำรงตำแหน่ง แต่ก็ทาบทามอย่างยากจะปฏิเสธ เล่มนี้ก็เช่นกันหลังจบยุครัฐบาล คสช. วิษณุคิดจะพักผ่อน เที่ยวเล่น แต่แล้วก็ ‘เซอร์ไพรส’ (อีกแล้ว) ว่าจู่ๆ ก็ได้รับราชื่อ ครม.มาตรวจสอบคุณสมบัติและพบชื่อตัวเองอยู่ในนั้น
“ผมถือบัญชีรายชื่อไปถามท่านว่าเอาแน่หรือครับ ที่นั่งแต่ละที่ ตำแหน่งแต่ละตำแหน่ง มีคนเล็งกันอยู่ทั้งนั้น คืนให้ สส.ไปเป็นกันเถอะครับ แค่นี้ก็แบ่งกันไม่พอแล้ว ท่านตกใจอุทานว่านึกว่าเคยบอกไว้แล้ว แต่เอาเถอะ เป็นไปก่อนแล้วกัน ผมออกตัวว่ามีปัญหาสุขภาพ ท่านบอกว่าถ้าไม่ล้มหนอนนอนเสื่อก็ช่วยๆ กันไปก่อน พี่ป้อม พี่ป๊อก อาจารย์สมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) ยังอยู่ช่วยผมเลย”
เล่มลงเรือเป๊ะ วิษณุตั้งชื่อเรื่องล้อกับลักษณะของ คสช. เพราะผู้คนมักเปรียบรัฐบาลกับเรือเป็น ‘รัฐนาวา’ และเรือรับจ้างสมัยก่อนจะมีคนจีน ‘ตาเป๊ะ’ ที่ดุมาก ชอบเอ็ดผู้โดยสาร เรือของ คสช.จึงเป็นเรือเป๊ะ มาถึงรัฐบาลประยุทธ์ วิษณุให้สมญาใหม่เป็น ‘เรือเหล็ก’ พร้อมกระเซ้าว่า แม้จะดูแข็งแรง แต่มักเกิด ‘สนิมเนื้อใน’
“มีผู้สื่อข่าวไปถามคุณอนุทินเรื่องนี้ คุณอนุทินหัวเราะก๊ากตามประสาคนอารมณ์ดี ตอบว่า โอ๊ย! อาจารย์วิษณุแกรู้แต่กฎหมาย ไม่รู้เรื่องช่างเรื่องก่อสร้าง ผมสิเป็นช่างทำเรื่องก่อสร้างมามาก เวลาสร้างเขาใช้เหล็กกล้าจึงไม่เป็นสนิม แต่ถ้าจะมีสนิมเกาะบ้าง เขามีน้ำยาโซแนกซ์ฉีดพ่นกันสนิม เรือนลำนี้จึงไม่ผุไม่ล่มหรอก”
เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นเหมือนการบันทึกเหตุการณ์สำคัญทั้งสถานการณ์โลกและสถานการณ์ไทย บันทึกคดีที่ประยุทธ์โดนทั้ง 4 คดี พร้อมๆ กับการเขียนถึงหลักการบริหารราชการตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และดูจะเน้นประชาสัมพันธ์ผลงานรัฐบาลในด้านต่างๆ รวมถึงอธิบายความยากลำบากช่วงโควิดแทนรัฐบาลเสียมาก
ตลอดทั้งเล่ม แทบไม่พูดถึงการลุกฮือชุมนุมประท้วงเรียกร้องเรื่อง ‘ปฏิรูปกษัตริย์’ ของคนหนุ่มสาว จะมีบ้างก็พูดเป็นแบ็คกราวน์ของการบริหารช่วงม็อบ ซึ่งวิษณุแปล flash mob เป็นภาษาไทยสไตล์เขาว่า ‘ม็อบแดดเดียว’
อย่างไรก็ดี ข้อที่น่าสนใจคือ การบันทึกการตอบคำถามของตนเองเวลาที่ต้องไปเลกเชอร์กฎหมายในสถาบันต่างๆ ช่วงท้ายมักมีคนยกมือถามวิษณุ คำถามหนึ่งคือ “รู้สึกอย่างไรที่ถูกเรียกว่า เนติบริกร”
“ที่จริงผมชอบนะ ที่สื่อตั้งฉายาหรือสมญาให้ว่า เนติบริกร เพราะเราเป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย เป็นราชบัณฑิตทางกฎหมาย และเป็นรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย จะให้เขาเรียกว่า นายทุน ขุนศึก ศักดินา มือเศรษฐกิจ หรือเซียนการเมือง ได้อย่างไร เราก็ทำหน้าที่ของเราไป”
วิษณุขยายความว่า หน้าที่ของเขาในรัฐบาลคือ 1.ช่วยกลั่นกรองตรวจสอบร่างกฎหมายของรัฐบาล 2.ตีความปัญหากฎหมายเบื้องต้น ก่อนส่งกรณีที่ซับซ้อนให้กฤษฎีกา 3.ให้คำแนะนำกฎหมายและวิธีปฏิบัติราชการและประเพณีทางการเมืองแก่นายกฯ รัฐมนตรี และข้าราชการประจำ 4. ถ้ารัฐบาลถูกฟ้องร้องก็ช่วยให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่
“อย่างนี้ถ้าไม่เรียกเนติบริกรแล้วจะเรียกอะไร แต่รับรองว่าไม่ใช่บ๋อย หรือสุนัขรับใช้ หลับหูหลับตาทำตามที่เขาสั่งทุกเรื่องเสมอไป เพราะบางทีผมเสียอีกที่แนะหรือขอให้คนอื่นยอมปฏิบัติตามมากกว่าจะยอมทำตามที่เขาสั่งมา เรื่องอย่างนี้ผมก็มีศักดิ์ศรี ความรู้และจริยธรรมหรือจรรยาบรรณในการทำหน้าที่ ต้องว่ากันตามตัวบทกฎหมาย ต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ แต่หากบอกกล่าวกันแล้ว แนะนำกันแล้ว คุณไม่เชื่อก็ช่างคุณ”
“มีเหมือนกันที่เกิดความผิดพลาดขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากการนำปัญหาเข้าสู่ที่ประชุม ครม.แบบวาระจร คือ ไม่มีใครเตรียมเนื้อเตรียมตัวมาก่อน ผมเองก็กางตำราไม่ทัน อีกประเภทหนึ่งคือ เพราะนายกฯ หรือเสียงข้างมากจะเอาอย่างนั้นให้เได้ เรียกว่าตั้งธงไว้แล้วขวางไม่อยู่ และประเภทสุดท้ายคือ ผิดพลาดโดยสุจริต เพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจจริงๆ”
สำหรับเกร็ดต่างๆ ที่ปรากฏในหนังสือซึ่งพอจะมีให้ผู้อ่านบันเทิงอยู่บ้างและสะท้อนวิธีคิดของผู้เขียนไปด้วยในตัว ก็เช่น
- ก่อนจะเรียกทำเนียบรัฐบาล เคยเรียกกันว่า ทำเนียบสามัคคีชัย
- ในอดีตทำเนียบฯ เป็นทั้งที่ทำงานและที่พักของนายกฯ ต่อมาจึงแยกที่พักออกไปต่างหาก
- ช่วงเปลี่ยนผ่าน ‘รักษาการ’ จากยุค คสช.มายุคประยุทธ์ 2 ใช้เวลา 2 เดือนครึ่ง ระหว่างนั้นยังมีการประชุม ครม.ปกติ เรื่องสำคัญคือ การคัดเลือก สว. 250 คน
- “วิธีการได้มาซึ่งนายกฯ จะแตกต่างกันไปตามรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ที่พูดอย่างนี้ถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษให้ฝรั่งฟัง เขาจะแปลกใจว่า อ้าว! เอาแน่ไม่ได้ดอกหรือ คำตอบคือ ไม่แน่ไม่นอนหรอกจ้ะ เพราะเรามีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ อย่างฉบับ พ.ศ.2560 นี้ก็ปาเข้าไปเป็นฉบับที่ 20 แล้ว และแต่ละฉบับก็ร่างขึ้นตามเหตุการณ์บ้านเมืองและกระแสสังคมในแต่ละยุคสมัย กฎเกณฑ์จึงไม่ค่อยเหมือนกัน”
- ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อ 4 พ.ค. พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แม้อายุมากถึง 98-99 ปีแล้ว ก็ยังได้รับพระมหากรุณาธิคณะโปรดเกล้าฯ ให้เป็น 1 ในผู้ถวายน้ำอภิเษก และก่อนที่พล.อ.เปรมจะถึงแก่อสัญกรรม ได้ติดต่อขอบริจาคเงินเก็บเพื่อสารธารณประโยชน์
- ความกินแหนงแคลงใจช่วงจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของ ‘4 ยอดกุมาร’ ในพรรคพลังประชารัฐคือ การไม่สามารถผลักดัน ‘กอบศักดิ์ ภูตระกูล’ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีได้ และยังมีอีกหลายพรรคที่ไม่พอใจการจัดสรรเก้าอี้ ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นธรรมชาติของรัฐบาลผสม 6 พรรค (ใหญ่)
- รัฐบาลคสช. ออกกฎหมาย 420 ฉบับ แบ่งเป็น พ.ร.ก.15 ฉบับ พ.ร.บ.405 ฉบับ ไม่นับที่เป็นคำสั่ง คสช.ตามม.44 อีกนับร้อยฉบับ ส่วนรัฐบาลประยุทธ์2 รัฐบาลมีมติรับหลักการเห็นชอบให้ออกกฎหมาย 152 ฉบับ ในจำนวนนี้ที่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนฯและวุฒิสภา ออกมาบังคับใช้แล้วมี 77 ฉบับ ส่วน พ.ร.ก.มี 12 ฉบับ
- การประชุมครม.ประยุทธ์2 บรรยากาศคล้ายประยุทธ์ 1
- “เริ่มด้วยการที่ประธานแจ้งที่ประชุมทราบซึ่งหนักไปทางอ่านรายงานภาวะเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติ และรายงานสถานการณ์ต่างๆ สังเกตว่าระยะแรกๆ ทุกคนตั้งอกตั้งใจฟังดีอยู่ แต่พอนานเข้า รายงานเหล่านี้มีมากขึ้น ท่านนายกฯ ก็พยายามจะให้ทุกคนรู้เท่าที่ท่านรู้ จึงลงมือก้มหน้าก้มตาอ่านเอาๆ จนรัวรวดเร็วแบบสไตล์การพูดของท่าน”
- ในการประชุม ครม.ปกติรัฐมนตรีจะไม่ก้าวล่วง หรือวิจารณ์กระทรวงอื่น แต่มีรัฐมนตรีที่แอคทีฟอยู่ 2 คน คือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และจุติ ไกรฤกษ์
- “แรกๆ เมื่อทุกคนที่ยังไม่ชินก็ดูเป็นเรื่องแปลกอยู่บ้าง แต่เมื่อหลายครั้งเข้าทุกคนก็เข้าใจทั้งเจตนาและเนื้อหาสาระว่าอยู่กันเหมือนลงเรือลำเดียวกันจึงช่วยทักท้วงให้มองต่างมุมกันให้ครบทุกมุม”
- การนำประชุม ครม.ของนายกฯ แต่ละคนจะต่างกันไป
- “สมัยนายกฯ ทักษิณ ท่านไม่ค่อยชอบการอภิปรายแบบ ‘ข้ารู้ทุกเรื่อง’ หรือการที่ใครช่วงชิงการนำอภิปรายชี้นำคนอื่น ท่านกำชับว่า ถ้าใครเห็นด้วยแล้วกับเรื่องที่เสนอก็อยู่เฉยๆ ถ้าสงสัยจึงค่อยถาม ถ้าไม่เห็นด้วยจึงค่อยค้าน ทำให้การประชุมเดินไปได้เร็ว แต่ในสมัยรัฐบาลผสมหลายพรรค รัฐบาลจากบางพรรคมักแสดงตนเป็นผูนำช่วยอธิบายหรือเสริมหรือชมเชยสิ่งที่รัฐมนตรีพรรคเดียวกันได้อภิปรายไว้เหมือนโยนลูกรับลูกกันเอง สมัยนายกฯ อานันท์ ท่านชอบการมีความเห็นต่าง
แต่รัฐบาลมนตรีผู้อภิปรายต้องมั่นใจว่าไม่ใช่เพียงวาทกรรม และลงท้ายต้องขมวดให้ได้ว่าจะเอาอย่างไร บางใมัยที่เป็นรัฐบาลผสมเคยเกิดปัญหารัฐมนตรีบางคนอยู่ในประชุมไม่พูดอะไร เอาแต่ส่องกล้องดูพระ เดินไปคุยคนโน้นคนนี้ มาสายกลับเร็ว พอออกไปข้างนอกเที่ยวให้สัมภาษณ์ว่าไม่เห็นด้วย นายกฯ ชวนจึงทำตัวเหมือนครูใหญ่ คือ เชิญให้รัฐมนตรีอย่างน้อย 1 คนจากแต่ละพรรคช่วยแสดงความเห็นจนครบทุกพรรค แม้จะไม่ได้ยกมือขอพูด แล้วท่านก็สรุปว่า เมื่อได้แสดงความเห็นท่ามกลางที่ประชุมแล้ว กรุณาอย่าไปพูดอย่างอื่นนอกห้องนะครับ! ข้อนี้เข้าท่า แต่เสียตรงใช้เวลาประชุมยาวนาน”
- เม้ามอยที่ประชุมครม. ประยุทธ์ 2
- พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ “ท่านไม่ใคร่ออกความเห็นเว้นแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับงานของท่าน”
- ดอน ปรมัติวินัย “ท่านเป็นรองนายกฯ กำกับดูและกระทรวงอุดมศึกษาด้วย ท่านจึงมักอภิปรายข้ามพรมแดนการต่างประเทศไปยังเรื่องวิทยาศาสตร์ การวิจัย ศิลปวัฒนธรรม วันหนึ่งท่านเล็กเชอร์เรื่องมวยไทยอย่างผู้รอบรู้จนคนพากันยิ้มน้อยยิ้มใหญ่”
- พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา “ แม้เป็นอดีต ผบ.ทบ. แต่ผมว่าท่านมีภาวะผู้นำสูงมากในแง่ความรอบรู้ราชการฝ่ายพลเรือนอย่างแหลมคม รู้ลึกในงานของตนเองและเรื่องที่จะพูด เรียกว่าแม้พูดสดๆ ก็มีตัวเลข สถิติ และข้อมูลประกอบ”
- อนุทิน ชาญวีรกูล “เป็นคนพูดน้อย พูดสนุก ขี้เล่น พูดไปหัวเราะไปแบบไม่เครียด บางทีเป็นคำผวน บางครั้งเป็นตัวย่อ แม้พูดเรื่องเครียดก็สามารถเรียกเสียงหัวเราะจากคนฟังได้”
- สมศักดิ์ เทพสุทิน ไแม้งวดนี้จะว่าการยุติธรรม แต่ด้วยความที่ท่านสนใจเรื่องการเกษตร การส่งเสริอมอาชีพและรายได้ ถ้ามีประเด็นเหล่านี้ผ่านเข้ามา ท่านจะออกความเห็นเสมอจนฟังเผินๆ ลืมไปแล้วว่าอยู่กระทรวงยุติะรรม ท่านนายกฯ ยังเคยแหย่ว่า เวลาสรุปช่วยเลี้ยวเข้าหลักนิติธรรมสักประโยคเถอะ!”
- “ผมถือว่าแต่ละคนแสดงภาวะผู้นำแบบมีปัญญาพลังได้ดี และสิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้การประชุมครม.มีสีสนและดำเนินไปได้ทั้งยังแสดงความอดทนอดกลั้นของนายกฯ โดยไม่ปิดกั้นการแสดงความคิดความเห็นต่างแต่อย่างไร อย่างมากถ้าฟังแล้วไม่ได้ศัพท์เพราะเถียงกันมาก ท่านก็จะเกาศีรษะพลางเปรยว่า “ฟังแล้วปวดหัว คันหัว””
ในรัชกาลปัจจุบัน หลักการเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นตราต่างๆ แตกต่างไปจากเดิม
“แต่เดิมเจ้าตัวจะทึกทักว่าเป็นสิทธิ ทุกอย่างจะเลื่อนไหลไปโดยอัตโนมัติ เช่นกี่ปีได้สายสะพายเส้นที่ 1 อีกกี่ปีได้สายสะพายเส้นที่ 2 ในรัชสมัยนี้ถือว่า การขอพระราชทานเป็นเรื่องของรัฐบาล แต่การจะพระราชทานหรือไม่เป็นพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ปกติก็จะพระราชทานไปตามที่เสนอ แต่ถ้าปรากฏว่ามีคดีหรือมีหลักฐานชัดแจ้งว่าประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสมก็จะชะลอการขอพระราชทานไว้ก่อนจนกว่ามลทินมัวหมองหรือคดีจะได้ความชัดเจนว่าผิดหรือไม่อย่างไร แม้แต่ที่เมื่อก่อนที่คู่สมรสของผู้ดำรงตำแหน่งจะได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆ ด้วย ลักษณะเหมือนอัตโนมัติ บัดนี้ให้งดความเป็นอัตโนมัตินั้นเสีย ดังที่ได้มีการแก้ระเบียบให้การขอพระราชทานต้องดูว่าประกอบคุณงามความดีใด”