วันนี้ (24 เม.ย.2567) ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการด้านกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นว่าหากมีการเลือก สว.ชุดใหม่ จะไม่มีการถูกครอบงำ ได้อย่างเบ็ดเสร็จอย่างที่ชุดผ่านมา ดังนั้นโอกาสที่จะมีเสียง สว. 1 ใน 3 เห็นชอบด้วยเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็มีความเป็นไปได้
และวิเคราะห์ว่าในทางปฏิบัติอาจมีการสนับสนุนให้พรรคพวกเข้าไปสมัคร เพื่อเลือกกันเองหรือบ้านใหญ่ในแต่ละจังหวัด ตั้งแต่การเลือกระดับอำเภอ เพื่อให้มีกลุ่มก้อน แต่เชื่อว่าจะไม่สามารถส่งผลให้การเลือกเป็นพรรคพวกเดียวกันจนได้ สว.ในจำนวน 1 ใน 3 ของ สว.ทั้งหมดที่พึงมี แต่ยอมรับว่าอาจจะมีในจำนวนหนึ่งแต่ไม่ถึงจำนวนครึ่งหนึ่งด้วยระบบที่ซับซ้อนเช่นนี้
เมื่อถามว่ากลไกการเลือก สว. จะมีมาตรการป้องกันการฮั้วกันของผู้เลือกหรือไม่ อ.ปริญญา ระบุว่า เป็นระบบที่ต้องแลกคะแนนกันอยู่แล้วใน 20 กลุ่มอาชีพ และระบบนี้จะทำให้เกิดการส่งคนเข้ามาเลือกตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีกลไกการเลือกไขว้
ส่วนการรณรงค์ของคณะก้าวหน้าที่เชิญชวนให้ประชาชนเข้ามาสมัคร สว.เพื่อเป็นมาตรการป้องกันการฮั้วกัน มองว่าเป็นกลไกที่เพิ่ม กลไกประชาชนอิสระ เข้าไปโหวต พร้อมแนะให้จับตาเรื่องที่น่ากังวลคือ การจ่ายเงินหรือการแลกประโยชน์กัน ซึ่งต้องถามไปยัง กกต. ว่าจะป้องกันเรื่องนี้อย่างไร
การที่มีประชาชนอิสระ ผู้อิสระเข้าไปมากๆ คือการไปเติมโหวตเตอร์ ที่เงินซื้อไม่ได้ ที่ไม่มีพรรคพวก แต่เป็นการเลือกด้วยความบริสุทธิ์ใจ ว่าใครที่ควรจะเป็น สว. มากที่สุด แต่เชื่อได้เลยว่าปัญหาจะเกิดเยอะ เกิดความวุ่นวายซับซ้อนและปัญหาเยอะเพราะระบบมีปัญหาตั้งแต่ต้น ผศ.ปริญญา กล่าว
นักวิชาการด้านกฎหมายยังกล่าวถึง กรณีเรื่องปัญหาความซับซ้อนของระบบและคำยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้การเลือก สว. สะดุดลงหรือไม่ ว่า มีโอกาสเกิดขึ้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก ไม่ได้กำหนดว่าต้องประกาศผลให้แล้วเสร็จภายในเมื่อไหร่
ข้อที่น่าห่วงคือ ช่วงเวลาที่วุฒิสภาชุดปัจจุบันรักษาการ อำนาจของวุฒิสภาชุดนี้จะยังมีอยู่หรือไม่ ในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ ม.272 ถือว่าอำนาจหมดไปแล้วในวันที่ครบวาระ และชี้ว่าหากมีคำร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือก สว. จนทำให้ กกต. ไม่สามารถประกาศรับรองเพื่อให้ สว.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ได้ก็อาจจะเป็นการต่ออายุให้สมาชิกวุฒิสภาที่มาจาก คสช.
อ่านข่าว : ปลุก “สว.ประชาชน” ล้างบาง “ผลไม้พิษ”
กกต. แจงลักษณะต้องห้าม ฝ่าฝืนโทษสูงตัดสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี
วันนี้ (24 เม.ย.2567) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประชาสัมพันธ์ผู้ที่สนใจและประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา เตรียมความพร้อมตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการสมัคร หลัง ครม.มีมติเหตุชอบเสนอร่าง พ.ร.ก. เลือก สว.โดยผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติ คือ
- มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
- อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีในวันสมัครรับเลือก
- มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี
ผู้สมัครต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
- เป็นบุคคลซึ่งเกิดในอำเภอที่สมัครรับเลือก
- มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก
- ทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก
- เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณีเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี
- เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีการศึกษา
- ผู้สมัครจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม ม.14 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561
หากผู้ใดฝ่าฝืน รู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกไม่ว่าเพราะเหตุใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000–200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี นอกจากนี้ ผู้ใดรับรองหรือเป็นพยานซึ่งลงลายมือชื่อรับรองเอกสารหรือหลักฐานที่ใช้ประกอบการสมัครเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 5 ปี
ทั้งนี้ผู้ที่สนใจและประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็น สว. สามารถขอข้อมูลได้ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัด และศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 และ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567
อ่านข่าวอื่น :
“ตลาดริมเมย” ซบเซา หลังเสียงปืนถล่ม “เมียวดี”
24 เม.ย. “วันเทศบาล” วันการปกครองท้องถิ่นไทย
“ทนายตั้ม” เดินหน้าจี้ถาม “บิ๊กเต่า” ปมร้องดำเนินคดี “บิ๊กต่อ”