หน้าแรก Voice TV กมธ.มั่นคงฯ จ่อลงพื้นที่แม่สอด 12-14 พ.ค. ชงออก 'บัตรปชช.รหัสพิเศษ' ให้ผู้ลี้ภัยเมียนมา

กมธ.มั่นคงฯ จ่อลงพื้นที่แม่สอด 12-14 พ.ค. ชงออก 'บัตรปชช.รหัสพิเศษ' ให้ผู้ลี้ภัยเมียนมา

86
0
กมธมั่นคงฯ-จ่อลงพื้นที่แม่สอด-12-14-พค-ชงออก-'บัตรปชช.รหัสพิเศษ'-ให้ผู้ลี้ภัยเมียนมา

‘กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ’ แถลงผลประชุมร่วม 5 ฝ่ายติดตามสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา เผยจ่อลงพื้นที่แม่สอด 12-14 พ.ค. พร้อมเยือน สมช.-กต. ปรึกษาประเด็นความมั่นคง ‘รังสิมันต์ ‘ ชงออก ‘บัตรประชาชนรหัสพิเศษ’ ให้ผู้ลี้ภัยเมียนมา

วันที่ 25 เม.ย. ที่อาคารรัฐสภา รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร (สส.) นำแถลงผลการประชุมผลการติดตามสถานการณ์การสู้รบในเมียนมา และผลกระทบต่อความมั่นคงชายแดนไทย โดยได้มีการเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ประกอบด้วย คมกฤช จองบุญวัฒนา ผู้อำนวยการกองเอเชียตะวันออก 2 กรมเอเชียตะวันออก, ฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), พล.ท.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร ผู้แทนผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.), พ.อ.ฉลวย อ่อนคำ รองผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการ กรมยุทธการทหารบก ผู้แทนผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และตัวแทนภาคประชาชน 

โดย รังสิมันต์ ระบุว่า เรื่องดังกล่าว มีเหตุเร่งด่วนมาจากความรุนแรง และการสู้รบภายในประเทศเมียนมาที่ปะทุขึ้นใกล้ชายแดนประเทศไทย อันส่งผลให้เกิดผู้หนีภัยความขัดแย้งข้ามแดนเข้าสู่ประเทศไทย กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ จึงมีความจำเป็นจะต้องติดตามมาตรการรับมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย ซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคง ชี้แจงถึงความพร้อมในการรับมือต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมีการเฝ้าระวังทั้งเหตุการณ์ความรุนแรงในประเทศเมียนมา และการเคลื่อนไหวของประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ 

ทั้งนี้ มีการเสนอปรับปรุงแนวทางมาตรฐานการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure; SOP) ให้เอื้อต่อการประสานงานรับมือ ทั้งกับหน่วยงานภายในประเทศ และหน่วยงานต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยยังยึดจุดยืน 3 ประการ ได้แก่ 

1. การรักษาอำนาจอธิปไตยของประเทศไทย

2. การไม่ยินยอมให้ฝ่ายใดใช้ประเทศไทยเป็นฐานปฏิบัติการ เพื่อนำไปสู่ความขัดแย้ง

3. การให้ความช่วยเหลือดูแลกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งตามหลักสากล

ขณะที่กระทรวงต่างประเทศได้มีความพยายามให้กลุ่มสมาชิกอาเซียนเข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้นในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในประเทศเมียนมา และมีความตั้งใจในการขยายผลการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ ที่มีการนำร่องช่วยเหลือไปเมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมา แก่ประชาชนในพื้นที่ 3 หมู่บ้านในรัฐกะเหรี่ยง

ทั้งนี้ ทาง กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ จึงได้แสดงความกังวลถึงประเด็น การจัดระเบียบพื้นที่ชายแดน เพื่อความร่วมมือกับองค์กรนอกภาครัฐ (NGO) และองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงการจัดการ และรับมือกลุ่มทุนที่มีการดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายในเขตประเทศเมียนมา ตลอดจนกระบวนการตรวจคนเข้าเมือง และการรับมือกับกลุ่มผู้หนีภัยเศรษฐกิจ-กลุ่มผู้แสวงหาโอกาส ที่ข้ามแดนเข้าสู่ประเทศไทย

ด้าน ปิยะรัฐ จงเทพ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษก กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ กล่าวถึงการดำเนินการเชิงปฏิบัติของ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ว่า ทางกมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ได้จัดทำหนังสือด่วนถึงนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เร่งรัดกระบวนการรับมือสถานการความขัดแย้งอย่างรอบด้าน และจะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ใน อ.แม่สอด จ.ตาก ระหว่างวันที่ 12-14 พ.ค. และเข้าพบกระทรวงการต่างประเทศ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อปรึกษาในประเด็นความมั่นคงด้านชายแดนไทย-เมียนมา 

ชงออก ‘บัตร ปชช.รหัสพิเศษ’ ให้ผู้ลี้ภัยเมียนมา  

รังสิมันต์ กล่าวถึงกระบวนการที่ไทยจะเป็นตัวกลางในการเจรจากับทุกฝ่ายในเมียนมาแต่ต้องรอการทาบทามจากทางเมียนมาว่า มันไม่มีความจำเป็นจะต้องรอให้ทางเมียนมาเริ่ม เพราะไทยเรามีศักยภาพมากพอที่จะสามารถพูดคุยกับทุกฝ่าย เพราะขณะนี้สถานการณ์เมียนมามันเกี่ยวพันกับเราไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผู้หนีภัย การค้าชายแดน และสิ่งผิดกฎหมาย เราเองต่างหากที่ต้องเป็นผู้ประสานงาน และอยู่บนพื้นฐานที่จะไม่ไปแทรกแซงกิจการภายในของชาติอื่น 

รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า หากมองถึงความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพเมียนมา และชนกลุ่มน้อยต่างๆ เรามีกลไกหลายช่องทางทุกระดับ ตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปจนถึงระดับนโยบาย และเรามีช่องทางในการพูดคุยกับผู้นำของรัฐบาลทหารเมียนมาอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ใช่ปัญหาที่รัฐบาลจะไปดำเนินการ อยู่ที่ว่าเราจะมีเจตจำนงในการดำเนินการหรือไม่ 

สำหรับการจัดการเรื่องผู้หนีภัย รังสิมันต์ ได้เสนอแนะให้ใช้กลไกออกบัตรระบุรหัสพิเศษเพื่อกำหนดสถานะบางอย่างให้กับผู้หนีภัยการสู้รบ อาจจะเป็นรหัส 13 หลัก แต่มีรหัสพิเศษเพื่อขึ้นทะเบียนในการติดตาม และเก็บเป็นข้อมูล ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ม.17 ขณะเดียวกันก็ต้องอาศัยมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเข้าไปรองรับ และนำคนเหล่านี้ขึ้นมาอยู่ในระบบ พร้อมกับการันตีว่าจะไม่ส่งเขากลับไป ซึ่งทาง กมธ. ก็ได้รับสัญญาณที่ดีจาก ฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่าจะไม่มีการส่งคนเหล่านี้กลับไปเผชิญอันตราย เนื่องจากจะขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ 

รังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า เท่าที่ทราบมานั้น ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ของเมียนมา ไม่ได้มีการตรวจลงตราแล้ว จึงทำให้คนกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาเมืองไทยอย่างถูกกฎหมายโดยบัตรผ่านแดน แต่เมื่อไม่มีการตรวจลงตราในกรณีที่หมดอายุ ทำให้คนกลุ่มนี้กลายเป็นคนผิดกฎหมาย เนื่องจากอยู่ในเมืองไทยในระยะเกินกว่ากำหนด ดังนั้นเราจำเป็นต้องเร่งดำเนินการ หากไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรก็จะทำให้มีคนผิดกฎหมายอยู่ในเมืองไทยเป็นจำนวนมาก และจะนำมาสู่การทุจริตคอรัปชันอีกหลายช่องทาง 

ขณะที่ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความการจัดการในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของกองทัพ หรือ Security Dilemma ระหว่างกองทัพไทย และกองทัพเมียนมาภายหลังเกิดความขัดแย้งบริเวณใกล้ชายแดนไทยว่า กองทัพสองประเทศมีความใกล้ชิดกันมากตั้งแต่อดีต แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้เราต้องมองทุกฝ่าย จะมองแค่มิติของกองทัพอย่างเดียวไม่ได้ ทั้งนี้สถานภาพของกองทัพ-กองทัพ ก็ยังคงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และไม่ได้มีปัญหาอะไร เชื่อว่า ทุกอย่างที่เป็นสหภาพที่ดีต่อกันจะสามารถแก้ไขได้

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่