มวยมันคนละชั้น ผมเจอมาเยอะ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ ไม่ได้แอ้มผมหรอก ขอเตือนไว้ก่อน คุกรออยู่แน่นอน ท่านเหลือเวลาอีก 2 ปี ต้องสู้อีกยาวนาน
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไม่ได้ประกาศท้ารบ แต่กระบี่ก็ถูกชักออกจากฝักแล้ว หากประดาบกัน เลือดไม่เพียงสาดกระเซ็น หากคมกระบี่ไม่ตวัดถูกศัตรู ก็อาจพลาดฟันถูกตัวเองให้ได้แผลด้วยเช่นกัน
และอาจด้วยเหตุผลนี้ จึงทำให้ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ประกาศสู้เต็มกำลัง พร้อมลั่นวาจาอย่างเชื่อมั่นว่า “จะกลับมาได้แน่นอน”
การออก “คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน” โดยมี พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามในคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 178/2567 เมื่อวันที่ 18 เม.ย.67 นั้น
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ โต้กลับด้วยการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในการทำคดีฟอกเงิน เว็บพนันออนไลน์ อันเป็นต้นเหตุให้ เกิดคำสั่ง ให้ออกจากราชการไว้ก่อน
โดยยื่นร้องให้ตรวจสอบ อำนาจการสอบสวนของคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีเว็บพนันฯ ว่า มีอำนาจในการสอบสวนหรือไม่ และยื่นร้องให้ตรวจสอบ พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน รวมถึงคณะพนักงานสอบสวนทุกนาย ว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ รวมแล้วคาดว่า มีพนักงานสอบสวนถูกแนบรายชื่อในคำร้องให้ตรวจสอบไปมากกว่า 200 นาย ด้วยกัน
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ระบุว่า “วันนี้ออกมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของตัวเอง หลังจากถูกดำเนินการอย่างไม่เป็นธรรมมา 6 เดือน จนถึงขั้นให้ออกจากราชการไว้ก่อน จึงต้องออกมาใช้สิทธิในการต่อสู้อย่างถูกต้อง ยืนยันว่า ส่วนตัวไม่ได้กังวล เพราะเชื่อมั่นว่า อย่างไรก็จะได้กลับมา”
อ่านข่าว “บิ๊กต่าย” ยืนยันคำสั่งให้ “บิ๊กโจ๊ก” ออกราชการ ยึดตาม พ.ร.บ.ตำรวจ
“ก.พ.ค.ตร.” เวทีสุดท้าย ชี้ชะตาเข้าชิง ผบ.ตร. คนที่ 15
ถือได้ว่า เป็นการต่อสู้ทางปกครองและเป็นไปตามสิทธิที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 มาตรา 141 ซึ่งระบุให้ยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันรับทราบคำสั่ง สำหรับ ก.พ.ค.ตร. มีชื่อเต็มว่า คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ
ด้วยอำนาจและหน้าที่ อาจเปรียบเปรยได้ว่าเป็น “ศาลตำรวจ” ก.พ.ค.ตร. ทำงานอย่างอิสระ ไม่ได้อยู่ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่จัดตั้งขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 มีหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ จากข้าราชการตำรวจ ทั้งการแต่งตั้ง การเรียงลำดับอาวุโส การใช้อำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา ระดับผู้บัญชาการขึ้นไป ไปจนถึง ร้องทุกข์ กรณีเห็นว่ากฎ ก.ตร. ไม่เป็นธรรม และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการฯ ถือเป็นที่สุด หากผู้ร้องหรือผู้ถูกร้องต้องการฟ้องโต้แย้งจะต้องไปที่ศาลปกครองเท่านั้น
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยื่นอุทธรณ์ไปเมื่อวันที่ 25 เม.ย.67 โดยเป็นการยื่นอุทธรณ์คำสั่งให้ออกราชการไว้ก่อน ด้วยเห็นว่า เป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
โดย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ อ้างถึงเหตุผลในคำสั่งให้ออกจากราชการฯ ตามที่ รรท.ผบ.ตร.ลงนามคำสั่ง เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ระบุว่า มีกรณีถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน จนถูกดำเนินคดีอาญา หากให้อยู่ต่ออาจเกิดความเสียหาย การสอบสวนจะไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว
“เหตุผลที่ยกมานั้น ยืนยันได้ว่า ผิดกฎหมาย เพราะกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการ และการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ.2547 ระบุ ผู้นั้นถูกตั้งกรรมการสอบสวน ถ้าให้อยู่เกิดความเสียหาย แต่ตามลำดับเหตุการณ์ทางคดี ตนเองถูกกล่าวหาตั้งแต่ 2 ธ.ค.66 และยังอยู่ที่ ตร. อีก 3 เดือน 18 วัน
ขณะนั้น พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ยังไม่ถูกย้ายช่วยราชการฯ ถ้าเสียหาย ผบ.ตร.ต่อศักดิ์ ต้องให้ออกจากราชการไปตั้งนานแล้ว อีกทั้งต่อมาก็ถูกสั่งให้ช่วยราชการที่สำนักนายกฯ เพียง 29 วัน จะเข้าไปยุ่งเหยิงกับสำนวนอย่างไร เพราะไม่มีอำนาจ”
อ่านข่าว จับกระแสการเมือง 25 เม.ย.2567 “บิ๊กโจ๊ก” วิ่งสู้ฟัด ทวงคืนตำแหน่ง “รอง ผบ.ตร.”
ส่วนกรณีกองวินัยอ้างการสอบสวนจะไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว ยืนยันว่า พ.ร.บ.ตำรวจฯ 2565 มีเวลากำหนดไว้ชัดเจนในการพิจารณาไม่เกิน 150 วัน หากไม่เสร็จให้ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือไปสั่งลงโทษ ผบ.ตร. และตามมาตรา 120 วรรคสี่ ระบุว่า ระหว่างการสอบสวน จะนำเหตุแห่งการสอบสวนมาเป็นข้ออ้างให้กระทบต่อสิทธิของผู้ถูกสอบสวนไม่ได้ เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาจะสั่งพักราชการ หรือ ให้ออกจากราชการได้
แต่ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งคณะกรรมการฯ ตั้งขึ้นมาวันเดียวกันกับที่ให้ตัวเองออกจากราชการไว้ก่อน ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จึงมั่นใจว่า คำสั่งให้ออกราชการไว้ก่อน นั้น เกิดขึ้นมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ภายหลังการยื่นอุทธรณ์ จะมีการเสนอต่อ ประธาน ก.พ.ค.ตร. เพื่อพิจารณาดำเนินการ จ่ายคดีให้กับกรรมการ ก.พ.ค.ตร. เพื่อพิจารณารับอุทธรณ์และแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งในกระบวนการนี้คู่กรณีในอุทธรณ์มีสิทธิทำคำแก้อุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือให้ทำคำแก้อุทธรณ์
จากนั้นจะเข้าสู่การสรุปสำนวนและเสนอต่อคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ กระบวนการทั้งหมดนี้กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน เว้นแต่มีเหตุขัดข้องทำให้การพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ก็ให้ขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 2 ครั้ง โดยแต่ละครั้งไม่เกิน 60 วัน
หากตั้งสมมติฐานว่า ภายใน 2-3 เดือนนี้ มีผลการวินิจฉัยอุทธรณ์ออกมาเป็นคุณต่อ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ นั่นหมายความว่า จะได้กลับเข้าสู่ตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อีกครั้ง
พร้อมกับพ่วงอาวุโสลำดับที่ 1 เข้าเป็นแคนดิเดต ผบ.ตร. คนที่ 15 ได้ทันเวลาอีกด้วย เพราะการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ปี 2567 คือช่วงต้นเดือนตุลาคม เนื่องจาก กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ปี 2567 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไปเมื่อ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยกฎหมายกำหนดให้มีผลบังคับใช้หลังประกาศ 180 วัน
แต่หากผลการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ออกมาไม่เป็นคุณ ย่อมส่งผลต่างออกไปอย่างแน่นอน เพราะต่อให้สามารถยื่นฟ้องโต้แย้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ของ ก.พ.ค.ตร. ต่อศาลปกครองได้ก็เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา และคำพิพากษาศาลปกครองนั้น ไม่ว่า จะเป็นคุณหรือโทษ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ก็กลับมาไม่ทันฤดูกาลแต่งตั้งประจำปี 2567 อยู่ดี
การยื่นอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.ตร. ในครั้งนี้จึงเสมือนการขึ้นชกยกสุดท้าย ของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เพื่อชี้ชะตาว่า จะเข้าสู่รอบคัดเลือก ผบ.ตร. คนที่ 15 ได้ทันเวลาหรือไม่?
รายงานพิเศษ : กิตติพร บุญอุ้ม ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม ไทยพีบีเอส