‘ชัยธวัช’ จี้รัฐบาลชัดเจนปมค่าแรง 400 บาท ชี้ไทยต้องแข่งขันด้วยประสิทธิภาพการผลิต-ทักษะแรงงาน หวังสภาฯ ผ่านร่าง พ.ร.บ.สหภาพแรงงาน
วันที่ 1 พ.ค. ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำทีม สส.พรรคก้าวไกลปีกแรงงาน ร่วมเดินขบวนแรงงานจากบริเวณด้านหน้าสนามมวยราชดำเนินไปยังลานคนเมือง เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 2567 โดย ชัยธวัช เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันสำคัญที่พี่น้องผู้ใช้แรงงานทั่วโลกถือเป็นวันสัญลักษณ์รวมตัวเรียกร้องสิทธิ และสวัสดิการ แต่น่าเสียดายเพราะวันนี้รัฐบาลควรมีคำตอบชัดเจนในเรื่องนโยบายที่เกี่ยวกับสิทธิแรงงาน และค่าแรง
ชัยธวัช มองว่า วันนี้มีแต่ความไม่ชัดเจน เป็นการโยนก้อนหินถามทางไปเรื่อยๆ อย่างล่าสุดก็มีกระแสว่า วันนี้จะมีของขวัญให้กับผู้ใช้แรงงานประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ แต่ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็ออกมาปฏิเสธข่าว และยังไม่มีความแน่นอน
สำหรับเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทที่ออกมาแล้วนั้น ทำให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานผิดหวัง เพราะขึ้นค่าแรงในภาคส่วนที่ 400 บาทอยู่แล้ว เช่น โรงแรม 4 ดาวในพื้นที่ท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการขึ้นค่าแรงที่ไม่มีประโยชน์ และต้องยอมรับว่า ระยะเวลาหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ค่าครองชีพขึ้นเร็ว แต่ค่าแรงไม่ขึ้นตาม ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ
“เรากังวลว่าการขึ้นค่าแรงจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก แต่ภาพรวมประเทศไทยจำเป็นต้องขึ้นค่าแรงได้แล้ว เราไม่สามารถแข่งขันด้วยการกดค่าแรงให้ถูก ไทยต้องแข่งขันด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และทักษะแรงงานดูแลผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดขนาดเล็กในช่วงเปลี่ยนผ่าน” ชัยธวัช กล่าว
ชัยธวัช ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ระบุว่า ตนได้เสนอ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงานผ่านสภาฯ ในขั้นรับหลักการแล้ว สาระสำคัญคือการเพิ่มวันลาคลอดเป็น 180 วัน หวังว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาลจะสนับสนุนให้กฎหมายฉบับนี้ผ่าน โดยการลาคลอดเป็นส่วนสำคัญที่รัฐบาลวางยุทธศาสตร์ไว้ว่า ต้องการให้คนมีบุตรมากขึ้น จึงต้องให้ความสำคัญกับแม่ เด็ก และสวัสดิการเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับพี่น้องผู้ใช้แรงงานกล้ามีลูก หากไม่มีการขึ้นค่าแรง ไม่มีสวัสดิการลาคลอดคนก็ไม่กล้ามีลูก
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอีกฉบับที่พรรคก้าวไกลยื่นต่อสภาฯ ไปแล้วคือ พ.ร.บ.สหภาพแรงงาน เสนอเพื่อทดแทน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2518 ซึ่งไม่ทันต่อสถานการณ์ และสิทธิในยุคสมัยใหม่ อยากให้มีการปรับปรุงเพื่อรับรองสิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรอง เพิ่มกลไกในการแสวงหาข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง