วันนี้ (1 พ.ค. 67) รศ.ยุทธพร อิสรชัย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กล่าวถึงการจำแนกการกระทำทางการเมืองมีการวางกรอบเอาไว้จะจำแนกการกระทำที่มีแรงจูงใจทางการเมืองที่ชัดเจน และจำแนกการกระทำที่มีแรงจูงใจทางการเมืองที่ไม่ชัดเจน ส่วนในห้วงเวลาวางเอาไว้ 4 ช่วงเวลาใหญ่มีดังนี้
ช่วงแรกระหว่างปี พ.ศ.2548 – 2550 พิจารณามุ่งประเด็นหลักการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ซึ่งในช่วงการชุมนุมดังกล่าวยังคงมีเหตุการณ์อื่นที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกันจะครอบคลุมทั้งหมด
อ่านข่าว : “ก้าวไกล” ยันนิรโทษกรรม ต้องรวม ม. 112 ด้วย
ช่วงที่ 2 ช่วงปี พ.ศ.2550 – 2553 และสืบเนื่องไปจนถึงปี พ.ศ.2554 และปี พ.ศ.2555 ด้วย ซึ่งเป็นการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ช่วงหลังเป็นฐานความผิดที่ต่อเนื่อง
ช่วงที่ 3 ระหว่างปี พ.ศ. 2556 – 2557 เป็นช่วงการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. กับช่วงปี พ.ศ. 2557-2562 เป็นการชุมนุมกลุ่มต่อต้าน คสช. และการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2560
ช่วงที่ 4 ยังมีการชุมนุมในช่วงปี 2563 – 2567 เป็นการชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเยาวชน
ทั้งนี้ การชุมนุมทางการเมืองในระยะเวลาตลอด 20 ปีที่ผ่านมาได้แบ่งออก 4 ช่วง อ้างอิง 25 ฐานความผิด ที่ทางอนุสถิติข้อมูลได้สำรวจเอาไว้ ซึ่งนอกจาก 25 ฐานความผิดดังกล่าวดังกล่าวนั้นอาจมีฐานความผิดอื่นเพิ่มเติมภายหลังได้ หากมีการพบกรณีคดีตัวอย่าง
ท้ายที่สุดกระบวนการนิรโทษกรรมจะมีทางออก 3 ทาง คือ 1.การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการนิรโทษกรรม 2.ใช้มาตรการที่ไม่ใช่กฎหมาย ในบางเรื่องอาจเป็นสิ่งที่จะต้องมีการพูดคุยกันต่อ หรือเป็นเรื่องที่สังคมยังไม่ได้ตกผลึกร่วมกัน เมื่อยังไม่ได้มีการตกผลึกต้องให้พื้นที่ในการพูดคุย ในที่ประชุมได้มีการพูดคุยกันว่าอาจมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูรายกรณีไป สำหรับการนิรโทษกรรมที่ยังไม่ได้มีข้อสรุปร่วมกัน และ 3.การใช้กฎหมายอัยการ ม.21 ที่จะไม่ดำเนินคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่นคดีตามกฎหมายจราจร ความผิดลหุโทษ เป็นคดีที่ใช้กฎหมายอัยการสั่งไม่ฟ้อง
จะเป็นบทบัญญัติที่ทำให้การนิรโทษกรรมเกิดขึ้นได้รวดเร็ว มีความฉับไวได้มาก และสุดท้ายคือการนำไปสู่ทาง 3 แนวทางดังกล่าว
รศ.ยุทธพร ยังกล่าวถึงการกระทำความผิดในคดีเกี่ยวกับ ประมวลกฎหมายอาญา ม.116 และ ม. 112 ว่า ในขณะนี้ยังอยู่ในช่วงของการพูดคุยกันและยังไม่มีข้อสรุป ในอนุกรรมาธิการชุดแรกได้สรุปทิ้งท้ายไว้ว่า ยังคงเป็นประเด็นที่สังคมยังมีความเห็นแตกต่างกัน และเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว
ดังนั้นในวันนี้ประเด็นเกี่ยวกับ ม.112 ยังคงอยู่ในระหว่างการพูดคุย ยังมีการกำหนดว่าจะนิรโทษกรรมบทบัญญัติไหน หรือ อย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ ยังเปิดเผยว่า ในการพิจารณาคดีที่ มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุฯนั้นมีจำนวนมาก ราว 3,000,000 คดี ซึ่งเป็นคดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2548 – 2567 แต่ในจำนวนนี้เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายจราจรทางบก 2,000,000 คดี
ความผิดเกี่ยวกับกฎหมายจราจรทางบกอาจไม่ได้เข้าข่ายการกระทำที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองอย่างชัดเจน แต่เป็นความผิดที่เกิดพ่วงขึ้นมาสืบเนื่องจากการชุมนุมการเคลื่อนไหวเรียกร้อง ซึ่งในจุดนี้อาจจะใช้ช่องทางกฎหมายอัยการในการที่จะนิรโทษกรรมหรือสั่งไม่ฟ้องในชั้นพนักงานอัยการ
รศ.ยืนยันว่า ในหลักการพิจารณา 25 ฐานความผิดไม่มีเกี่ยวกับฐานความผิดทุจริต หรือเกี่ยวกับเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ย้ำ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ และในที่ประชุมกรรมาธิการชุดใหญ่และในชุดอนุไม่เคยมีการนำคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาพูดคุยแม้แต่ครั้งเดียว
สำหรับรายงานของคณะอนุกรรมการชุดนี้คาดว่า จะแล้วเสร็จในปลายเดือน พ.ค.และนำเข้าเสนอต่อที่ประชุมกรรมาธิการวิสามัญชุดใหญ่ จากนั้นข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญจะเป็นรายงานเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือน ก.ค.2567 นี้ ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ของสภาที่จะพิจารณา
อ่านข่าว
“ประชาธิปัตย์” ย้ำจุดยืน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่รวมคดี “ทุจริต – ม.112”
“กมธ.นิรโทษกรรม” เห็นพ้อง ต้องยุติความขัดแย้งทางการเมือง
สภาฯ เห็นชอบตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษา กม.นิรโทษกรรม