หน้าแรก Thai PBS กกต.แจงยิบกฎ-กติกาขั้นตอนเลือก 200 สมาชิกวุฒิสภาชุดที่ 13

กกต.แจงยิบกฎ-กติกาขั้นตอนเลือก 200 สมาชิกวุฒิสภาชุดที่ 13

90
0
กกต.แจงยิบกฎ-กติกาขั้นตอนเลือก-200-สมาชิกวุฒิสภาชุดที่-13

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่มาของสมาชิกวุฒิสภาอีกครั้ง ซึ่งได้กำหนดให้มีจำนวนและที่มาของวุฒิสภาไว้เป็น 2 ช่วงเวลากล่าวคือ

  1. ช่วงที่ 1 ให้เป็นไปตามบทเฉพาะกาล กำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (สช) ทั้งนี้ สว.ชุดแรกมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี นับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง
  2. ช่วงที่ 2 เมื่อ สว.ชุดแรกตามบทเฉพาะกาลพ้นจากตำแหน่งแล้ว ให้วุฒิสภามีจำนวน 200 คน โดยมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคม

    โดยการแบ่งกลุ่มให้ประชาชนที่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ ซึ่งตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะส่งผลให้การทำหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาลนี้น่าจะทำให้การปฏิรูปประเทศมีความต่อเนื่องและมีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น

อ่านข่าว : “เลือกกันเอง” ที่มา สว.ชุดใหม่ ครั้งแรกการเมืองไทย

กระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา

  1. เมื่อ สว.ชุดที่ 12 (ชุดปัจจุบัน) สิ้นสุดลง กกต.จะดำเนินการภายใน 5 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาใช้บังคับ 
  2. พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภามีผลใช้บังคับ
  3. กกต.กำหนดวันและเวลารับสมัคร และวันเลือก ระดับอำเภอ จังหวัดและประเทศ เพื่อเลือกไม่ช้ากว่า 30 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ
  4. ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ ประกาศกำหนดสถานที่รับสมัคร 
  5. เปิดสมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา โดยมีระยะเวลารับสมัคร 5-7 วัน แต่ไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับ
  6. ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ภายใน 5 วัน นับแต่วันที่สิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร
  7. การเลือกสมาชิกวุฒิสภา ระดับอำเภอ ภายใน 20 วัน นับแต่วันที่สิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร
  8. การเลือกสมาชิกวุฒิสภา ระดับจังหวัด ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่เลือกระดับอำเภอ
  9. การเลือกสมาชิกวุฒิสภา ระดับประเทศ ภายใน 10 วัน นับแต่วันที่เลือกระดับจังหวัด
  10. กกต. ประกาศผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา 

ทั้งนี้เมื่อผู้ใดได้ยื่นใบสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาแล้ว จะถอนการสมัครมิได้ แต่หากสมัครรับเลือกเป็น สว. แล้ว ผู้สมัครพบว่าชื่อตนเองนั้นไม่มี หรือถูกสั่งลบชื่อในประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครระดับอำเภอมีสิทธิ ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลฎีกาภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครหรือวันที่ ผอ.การเลือกตั้งลบชื่อแล้วแต่กรณี 

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง

ขั้นตอนการเลือก สว.

ประกาศให้มีการเลือก สว. ภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.ฎ. ให้มีการเลือก สว.ใช้บังคับ ให้ กกต.ประกาศกำหนดวันเลือกระดับอำเภอ จังหวัด และ ประเทศ

การสมัครรับเลือก สว. เริ่มรับสมัครไม่เกิน 15 วันนับแต่วันที่ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือก สว.ใช้บังคับ และกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่า 5 วันแต่ต้องไม่เกิน 7 วัน โดยผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกสมัครได้ 1 กลุ่มอาชีพและ 1 อำเภอเท่านั้น

การเลือก สว.ระดับอำเภอ 

  • การเลือกรอบที่ 1 เลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน ผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-5 เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มนั้น และเข้าไปเลือกในรอบ 2 ต่อไป (เหลือกลุ่มละ 5 คน) โดยผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกกันเองในกลุ่ม จะเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนไม่ได้ 
  • การเลือกรอบที่ 2 เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 3 ลำดับแรก ของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอสำหรับกลุ่มนั้น โดยที่ผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกันกลุ่มละ 1 คน แต่จะเลือกกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองไม่ได้

 การเลือก สว.ระดับจังหวัด

  • การเลือกรอบที่ 1 เลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน ผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-5 เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มนั้น และเข้าไปเลือกในรอบ 2 ต่อไป (เหลือกลุ่มละ 5 คน) โดยผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกกันเองในกลุ่ม จะเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนไม่ได้
  • การเลือกรอบที่ 2 เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 2 ลำดับแรก ของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอสำหรับกลุ่มนั้น โดยที่ผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกันกลุ่มละ 1 คน แต่จะเลือกกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองไม่ได้

การเลือก สว.ระดับประเทศ

  • การเลือกรอบที่ 1 เลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน ผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-40 เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มนั้น และเข้าไปเลือกในรอบ 2 ต่อไป (เหลือกลุ่มละ 40 คน) โดยผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกกันเองในกลุ่มได้ไม่เกิน 10 คน จะเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนไม่ได้
  • การเลือกรอบที่ 2 เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน ผู้ได้รับคะแนนลำดับที่ 1-10 เป็น สว. และลำดับที่ 11-15 อยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น โดยที่ผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกันกลุ่มละไม่เกิน 5 คน แต่จะเลือกกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองไม่ได้

ประกาศผลการเลือก สว.

เมื่อ กกต.ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศแล้ว ให้รอไว้ไม่น้อยกว่า 5 วัน เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ถ้า กกต. เห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยถูกต้องสุจริต และเที่ยงธรรม ให้ประกาศผลการเลือกในราชกิจจานุเบกษา 

ที่มา : หอสมุดรัฐสภา, สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่