หน้าแรก Voice TV “เดินสองขา ฝ่าด่านยกร่าง รธน.” ‘ขัตติยา’ ชี้ค่อยเป็นค่อยไป ดีกว่าคว้าน้ำเหลว

“เดินสองขา ฝ่าด่านยกร่าง รธน.” ‘ขัตติยา’ ชี้ค่อยเป็นค่อยไป ดีกว่าคว้าน้ำเหลว

69
0
“เดินสองขา-ฝ่าด่านยกร่าง-รธน.”-‘ขัตติยา’-ชี้ค่อยเป็นค่อยไป-ดีกว่าคว้าน้ำเหลว

‘ขัตติยา’ ประกาศยุทธศาสตร์เพื่อไทย “เดินสองขา ฝ่าด่านยกร่างรัฐธรรมนูญ” ชี้ เดินอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดีกว่าคว้าน้ำเหลว

3 พ.ค.2567 ในงาน ‘10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10’ ของพรรคเพื่อไทย งานแสดงวิสัยทัศน์ และความคืบหน้าในนโยบายต่างๆ พร้อมประกาศเป้าหมายการทำงานในอนาคต นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า 7 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยอยู่ภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างปัญหาทางการเมืองมากที่สุดฉบับหนึ่ง เป็นผลพวงของการยึดอำนาจการปกครองประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ซึ่งมีที่มาไม่ชอบตามหลักการประชาธิปไตย พี่น้องประชาชนจำนวนมากต้องการความเปลี่ยนแปลง เรียกร้องให้จัดทำ“รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญเร่งด่วน ที่ต้องทำให้สำเร็จภายในรัฐบาล ภายใน 4 ปีนี้ 

ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน เคยชูธงนำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้วถึง 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 ในปี 2563 พรรคเพื่อไทยสามารถผลักดันให้เกิดการพิจารณาจนถึงวาระ 3 แต่สุดท้ายถูกคว่ำไป เนื่องจากความกังวลต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจำเป็นจะต้องมีการทำประชามติก่อนหรือไม่ ,ครั้งที่ 2 ในปี 2564 ซึ่งไม่ถูกบรรจุลงในวาระการพิจารณาของสภาฯ และครั้งที่ 3 ในปี 2567 ที่พึ่งผ่านมานี้ สถานะปัจจุบันไม่ถูกบรรจุวาระ เช่นเดียวกับครั้งที่ 2 ถึงแม้ว่าสภาจะมีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยซ้ำว่าจะบรรจุวาระได้หรือไม่ เพื่อความรอบคอบในทุกก้าว ก็ได้รับการปฏิเสธที่จะวินิจฉัยกลับมา แต่แม้จะถูกปัดตกไปถึง 3 ครั้ง แต่พรรคเพื่อไทยไม่เคยล้มเลิกความตั้งใจ การหาเสียงเลือกตั้งในปี 2566 ที่ผ่านมา เราประกาศให้นโยบาย “จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” เป็นนโยบายหลักในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง และเป็นนโยบายที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภาภายหลังการจัดตั้งรัฐบาล 

ขัตติยา กล่าวอีกว่า จากบทเรียนที่ผ่านมา พบว่า การผลักดันให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ไม่ใช่ภารกิจที่จะทำสำเร็จได้โดยง่าย รัฐบาลเพื่อไทย ต้องเลือกก้าวเดินอย่างมียุทธศาสตร์ ที่เรียกว่า “เดินสองขา ฝ่าด่านยกร่างรัฐธรรมนูญ” 

ขาหนึ่ง ฝ่ายบริหารที่นำโดยนายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ขึ้น และได้รับทราบรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติแล้ว ว่าเห็นควรให้มีการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จำนวน 3 ครั้ง และเห็นชอบให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ปี 2564 โดยมอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พิจารณายกร่างเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ตามข้อเสนอของ ‘คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

อีกขาหนึ่ง ฝ่ายนิติบัญญัติ ได้เดินหน้ายื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาไปพร้อมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อทลายข้อจำกัดใน 3 เรื่อง คือ 

1.เปิดให้มีการทำประชามติ ไปพร้อมกับการเลือกตั้งอื่นๆได้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการทำประชามติลง 

2.เปิดให้มีการลงคะแนนประชามติผ่านช่องทางไปรษณีย์ อิเล็กโทรนิกส์ หรือช่องทางอื่นๆได้ เพื่อลดข้อจำกัดในการเข้าถึงการลงคะแนน และเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน

 3.ปรับแก้เงื่อนไขของการผ่านประชามติ ที่ต้องใช้ “เสียงเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น” หรือที่เรียกว่า double majority ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ขัดกับหลักสากล ให้เหลือเพียงการใช้เสียงข้างมากเพียงชั้นเดียวเท่านั้น 

“บางครั้งการค่อยๆ คว้าชัยชนะทีละเล็ก ย่อมดีกว่าการรีบเร่งวิ่งไปให้ถึงเส้นชัยอย่างไม่ระมัดระวัง จนสะดุดล้ม รัฐธรรมนูญที่ดี ต้องดีทั้งในแง่ของที่มา ต้องเปิดการมีส่วนร่วมประชาชน เราจะสนับสนุนการทำประชามติที่เสรีและเป็นธรรมและสนับสนุน สสร.ที่มาจากประชาชน ในแง่ของเนื้อหารัฐธรรมนูญต้องให้สิทธิเสรีภาพ ให้มนุษย์มีความเท่าเทียมกัน รัฐธรรมที่ดีต้องมีความยั่งยืน และมีเสถียรภาพ ไม่เป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่ความขัดแย้ง ไม่นำไปสู่การยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ตลอด 80 ปีที่ผ่านมา เรามีรัฐธรรมนูญที่พาประเทศไปข้างหน้า และมีรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้ประเทศถอยหลัง จากนี้ไปทุกวินาทีมีค่า พรรคเพื่อไทย เราจะทำให้รัฐธรรมนูญ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และเพื่อประชาชน” นางสาวขัตติยา กล่าว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่