หน้าแรก Thai PBS มีคำตอบ! “สว.มีไว้ทำไม” หน้าที่-สิทธิ-อำนาจ สภาสูงชุดที่ 13

มีคำตอบ! “สว.มีไว้ทำไม” หน้าที่-สิทธิ-อำนาจ สภาสูงชุดที่ 13

72
0
มีคำตอบ!-“สว.มีไว้ทำไม”-หน้าที่-สิทธิ-อำนาจ-สภาสูงชุดที่-13

ทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า สว.ชุดที่ 12 ที่กำลังจะสิ้นสุดวาระในวันที่ 11 พ.ค.2567 นั้น โดยทั่วไปเรียกว่า “สว.ตามบทเฉพาะกาล” ซึ่งมาพร้อมกับ “อำนาจและหน้าที่ตามบทเฉพาะกาล” เช่น ให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี สว.ชุดนี้จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองการปกครอง ในระยะเวลา 5 ปี ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

จากนั้นจะมี สว.ชุดที่ 13 ถูกเลือกขึ้นมาจำนวน 200 คน โดยที่ “บาง” อำนาจและ “บาง” หน้าที่ตามบทเฉพาะกาล “ไม่ได้ติดตัวมาด้วย” เช่น มาตรา 272 การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

นั่นหมายความว่า สว.ชุดที่ 13 จะไม่มีอำนาจและหน้าที่ร่วมโหวตนายกฯ เหมือนอย่างที่เราเห็นในการโหวตนายกฯ คนที่ 30 ที่ผ่านมา 

อ่านข่าว : กกต.แจงยิบกฎ-กติกาขั้นตอนเลือก 200 สมาชิกวุฒิสภาชุดที่ 13

สมาชิกวุฒิสภา ชุดที่ 13 ตามบทเฉพาะกาล

สำหรับวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาลนั้น นอกจากจะมีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับวุฒิสภา ตามบทบัญญัติหลักแล้ว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้เพิ่มหน้าที่และอำนาจโดยเฉพาะ ดังนี้

1. การติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ (มาตรา 270)

บัญญัติให้วุฒิสภาตามบทเฉพาะกาลมีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ และการจัดทำ และดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ในการนี้ ครม. ต้องแจ้ง
ความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาเพื่อทราบทุก 3 เดือนด้วย

2. การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ (มาตรา 270)
บัญญัติว่าร่าง พ.ร.บ.ที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ให้เสนอและพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ร่าง พ.ร.บ.ใดที่ ครม.เห็นว่าเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ให้แจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบพร้อมกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.นั้น

3. การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่ สว.หรือ สส.ยับยั้งไว้ตามมาตรา 137 (2) หรือ (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (มาตรา 271)

บัญญัติให้ในวาระเริ่มแรกภายในอายุของวุฒิสภาชุดแรกตามบทเฉพาะกาล (5 ปี) การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่ สว.หรือ สส.ยับยั้งไว้ตามมาตรา 137 (2) หรือ (3)ให้กระทำโดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ถ้าร่าง พ.ร.บ.นั้นเกี่ยวกับ 

  • การแก้ไขเพิ่มเติมโทษหรือองค์ประกอบความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐเฉพาะเมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น มีผลให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากความผิดหรือไม่ต้องรับโทษ
  • เป็นร่าง พ.ร.บ. ที่ สว. มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวน สว.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ว่ามีผลกระทบต่อการดำเนินกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง

4. การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี (มาตรา 272)

ตามบทเฉพาะกาลในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้กระทำ ใน ”ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา” ซึ่งประกอบด้วย ”สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” และ ”สมาชิกวุฒิสภา” มติของรัฐสภาที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกฯ ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา 

จาก 4 อำนาจหน้าที่นี้ แสดงให้เห็นว่า สว.ชุดที่ 13 ไม่มีอำนาจในเรื่องของ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่ สว.หรือ สส.ยับยั้งไว้ตามมาตรา 137 (2) หรือ (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (มาตรา 271) และ การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี (มาตรา 272)

อ่านข่าว : “เลือกกันเอง” ที่มา สว.ชุดใหม่ ครั้งแรกการเมืองไทย

วุฒิสภาตามบทบัญญัติหลัก 

รัฐธรรมนูญได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของ สว. ทั้งเป็นหน้าที่เฉพาะตัวและหน้าที่ที่ต้องใช้พร้อมกับ สส. ดังนี้

1. การเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย

สส.และ สว.ย่อมไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (มาตรา 114)

2. อำนาจในการเข้าร่วมประชุมรัฐสภา

รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญของรัฐสภา 2 สมัย สมัยหนึ่งให้มีกำหนดเวลา 120 วันแต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเวลาออกไปก็ได้ (มาตรา 121 วรรคสอง) อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 สภารวมกัน หรือ สส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญได้ (มาตรา 123 วรรคแรก)

รัฐธรรมนูญกำหนดให้ สว.ที่ขาดประชุมเกินจำนวน 1 ใน 4 ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุมที่มีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่า 120 วันโดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานวุฒิสภา จะต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพไป (มาตรา 111(5))

อ่านข่าว : จะเป็น สว. ต้องทำอย่างไร ?

การพิจารณาร่างกฎหมาย

1. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทั่วไป โดย สว.มีหน้าที่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ต่อจากสส. ให้เสร็จภายใน 60 วัน แต่ถ้าเป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงิน ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน เว้นแต่ สว.ลงมติให้ขยายเวลาออกไปเป็นกรณีพิเศษซึ่งต้องไม่เกิน 30 วัน 

2. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย ภายหลังจากการพิจารณาของ สส. โดยที่ สว.จะต้องให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ร่าง พ.ร.บ.มาถึงวุฒิสภา โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ มิได้ ถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่า สว.เห็นชอบ ในกรณีเช่นนี้และในกรณีที่ สว.ให้ความเห็นชอบ ให้นายกฯ ดำเนินการต่อ ทูลเก้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์ย์ทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไป แต่ถ้า สว.ไม่เห็นชอบ ให้ สส.ยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทันที (มาตรา 143 วรรคสี่)

3. พิจารณา พ.ร.ก. เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงตรา พ.ร.ก.ตามคำเสนอแนะของ ครม. ตามมาตรา 172 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของ ครม.ในการนำ พ.ร.ก.นั้นเข้าสู่การพิจารณาเพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติจากรัฐสภา ดังนั้น บทบาทอำนาจหน้าที่ในการพิจารณา พ.ร.ก.จึงเป็นส่วนหนึ่งของ สว.

อ่านข่าวอื่น :

คนทำงานบ้านเฮ! ได้สิทธิลาคลอด 98 วัน มีผลบังคับใช้แล้ว

“จุลพันธ์” เผยเล็งเพิ่มทุน ธ.ก.ส. 10,000 ล้านเสริมสภาพคล่อง

ปทส.จ่อออกหมายจับ “ผู้เช่าโกดังภาชี” พบพิรุธไฟไหม้สารเคมีซ้ำ

หน้าที่ สว.เกี่ยวกับการเสนอให้ความเห็นในประเด็นต่างๆ

1. ให้คำแนะนำในการสรรหาและแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ดังนี้

  • ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้ได้รับการคัดเลือกหรือสรรหาเพื่อดำรงตำแหน่ง “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ สว.(มาตรา 204 วรรคท้าย)
  • ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้ได้รับการแต่งตั้ง “ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ” (มาตรา 217)
  • ให้คำแนะนำในการแต่งตั้ง “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (มาตรา 222)
  • ให้คำแนะนำในการแต่งตั้ง “คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน” (มาตรา 238) สำหรับตำแหน่ง “ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน” ก็เป็นหน้าที่ของ สว.ในการให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกวุฒิสภา (มาตรา 241)
  • ให้คำแนะนำในการแต่งตั้ง “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” (มาตรา 246)

2. สิทธิในการเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามมาตรา 144 วรรคสอง 

3. สิทธิในการเสนอความเห็นในกรณีร่าง พ.ร.บ.มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 

4. สิทธิเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก ในกรณี พ.ร.ก.นั้นไม่เป็นไปตามมาตรา 172 วรรคหนึ่ง 

5. สิทธิในการแสดงความคิดเห็นในการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อ ครม.ขอความคิดเห็นในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐสภาลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้ สว.สามารถให้ความคิดเห็นได้ (มาตรา 165)

6. ให้ความคิดเห็นของในการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรม ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้น (มาตรา 219)

อ่านข่าวอื่น :

ความพ่ายแพ้ของโวลเดอมอร์ต 2 พ.ค. “วันเฉลิมฉลองแฮร์รี พอตเตอร์สากล”

10 พ.ค. “วันพืชมงคล” วันหยุดราชการที่มีแต่ราชการเท่านั้นที่หยุด

“เศรษฐา” เตรียมนำ ครม.ใหม่ เข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ 3 พ.ค.นี้

อำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของ สว.

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทำมิได้ (มาตรา 255)

สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญถูกกำหนดไว้ในมาตรา 256(1) ให้อำนาจในการเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจาก ครม. หรือจาก สส. และ สว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา สว.จึงมีส่วนสำคัญในการพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะการลงมติในวาระที่ 1 และ ในวาระที่ 3 ของการแก้ไข ดังนี้

  • ออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ต้องมี สว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา (มาตรา 256(3))
  • ออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ 3 ขั้นสุดท้าย สว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา (มาตรา 256(6))

ก่อนนายกฯ นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยตาม สส.หรือ สว. หรือสมาชิกทั้ง 2 สภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือของทั้ง 2 สภารวมกัน แล้วแต่กรณี มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี ว่าร่างรัฐธรรมนูญขัดต่อมาตรา 255 และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่องดังกล่าว ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ (มาตรา 256(9))

ที่มา : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. (6 เมษายน 2560). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 134 ตอนที่ 40 ก., สถาบันพระปกเกล้า, หน้าที่และอำนาจของวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่