เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นระบุ เหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรัฐริโอกรันเดโดซุลทางตอนใต้ของบราซิล ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 75 รายตลอดช่วงเวลา 7 วันที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีรายงานผู้สูญหายอีก 103 คน
ความเสียหายจากฝนตกยังส่งผลให้ประชาชนมากกว่า 88,000 คนต้องอพยพออกจากบ้านเรือน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนของรัฐริโอกรันเดโดซุล ระบุเมื่อวันอาทิตย์ (5 พ.ค.) ว่า ยังมีประชาชนอีกประมาณ 16,000 คนที่เข้าไปหลบภัยในโรงเรียน โรงยิม และศูนย์พักพิงชั่วคราวอื่นๆ
น้ำท่วมครั้งนี้ทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งรวมถึงเหตุดินถล่ม ถนนน้ำท่วม และสะพานถล่มทั่วรัฐ ยังมีรายงานการตัดกระแสไฟฟ้าและระบบการสื่อสาร ทั้งนี้ มีประชาชนมากกว่า 800,000 คนไม่มีน้ำประปาใช้
ลุยซ์ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ประธานาธิบดีบราซิล เดินทางเยือนรัฐริโอกรันเดโดซุลเป็นครั้งที่สองในวันอาทิตย์ พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีจากสามกระทรวง ในการสำรวจถนนที่ถูกน้ำท่วมในนครปอร์ตูอาเลเกร เมืองหลวงของรัฐ จากเฮลิคอปเตอร์
“เราต้องหยุดวิ่งตามภัยพิบัติ เราจำเป็นต้องรู้ล่วงหน้าว่าภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นและเราจำเป็นต้องแก้ไข” ลูลากล่าวกับผู้สื่อข่าวในภายหลังจากการลงพื้นที่
มีรายงานระบุว่า แม่น้ำกวาอิบามีระดับน้ำสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 5.33 เมตร เมื่อช่วงเช้าวันอาทิตย์ ทั้งนี้ ฝนที่ตกหนักเริ่มขึ้นในวันจันทร์ที่ผ่านมา (29 เม.ย.) และคาดว่าจะคงอยู่จนถึงวันอาทิตย์ในบางพื้นที่ เช่น หุบเขา เนินเขา และเมืองต่างๆ
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (2 พ.ค.) ตามข้อมูลของสถาบันอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของบราซิล ปริมาณน้ำฝนในรัฐริโอกรันเดโดซุล มีมากกว่า 300 มิลลิเมตร (11.8 นิ้ว) ตกลงมาในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ ทั้งนี้ ฝนตกหนักถือเป็นภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขี้นเป็นครั้งที่ 4 ในรัฐริโอกรันเดโดซุลในรอบปี ภายหลังจากเกิดเหตุน้ำท่วมในเดือน ก.ค. ก.ย. และ พ.ย. 2566 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 75 ราย
สภาพอากาศทั่วอเมริกาใต้ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์สภาพภูมิอากาศเอลนิโญ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเป็นระยะๆ อันส่งผลให้น้ำผิวดินอุ่นขึ้นในภูมิภาคแถบเส้นศูนย์สูตรแปซิฟิก โดยในบราซิลนั้น ปรากฎการณ์เอลนิโญทำให้เกิดความแห้งแล้งในพื้นที่ภาคเหนือและฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ของบราซิล
ในปีนี้ ผลกระทบของเอลนิโญเกิดขึ้นอย่างรุนแรงมาก ยังมีรายงานการเกิดภัยแล้งครั้งประวัติศาสตร์ในป่าแอมะซอน นักวิทยาศาสตร์ยังกล่าวอีกว่าสภาพอากาศที่เลวร้ายเกิดขึ้นบ่อยขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์
ที่มา: